รายงานตลาดแรงงานของอินดีด (Indeed) ซึ่งเป็นเว็บไซต์จัดหางานระบุว่า แรงงานสหรัฐฯ กว่า 40% มีรายได้แท้จริงลดลงในช่วงปีที่ผ่านมา
รายงานเปิดเผยให้เห็นว่า ค่าจ้างในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2.9% เมื่อเทียบรายปีในเดือนมิ.ย. 2568 แซงหน้าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่เพิ่มขึ้น 2.7% อยู่เพียงเล็กน้อย
ส่วนต่างเพียงเล็กน้อยนี้หมายความว่า มีแรงงาน 43% ที่มีรายได้เพิ่มขึ้นไม่เท่ากับราคาผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อที่แท้จริงของพวกเขาลดลง
แม้สัดส่วนแรงงานที่มีรายได้เพิ่มขึ้นแซงหน้าเงินเฟ้อจะฟื้นตัวเล็กน้อยจากระดับต่ำหลังโควิด-19 แต่รายงานชี้ว่าปัญหาค่าจ้างที่ซบเซายังเป็นความท้าทายต่อเนื่อง โดยชาวอเมริกันจำนวนมากยังคงเผชิญภาระค่าใช้จ่ายสูง ทั้งที่อยู่อาศัย อาหาร และการเดินทาง ขณะที่การปรับขึ้นค่าจ้างยังไม่เพียงพอให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายจริง
รายงานชี้ว่า การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างส่วนใหญ่กระจุกตัวในอาชีพที่มีรายได้สูง เช่น วิศวกรรมไฟฟ้า บริการด้านกฎหมาย และการตลาด ซึ่งมีการเติบโตของค่าจ้างเกิน 6% ต่อปี
ในทางกลับกัน อาชีพที่มีรายได้ต่ำอย่างบริการอาหาร การดูแลเด็ก และการดูแลส่วนบุคคล กลับแทบไม่เห็นการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างที่แท้จริง หรือบางส่วนยังลดลง
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ความไม่เท่าเทียมกันดังกล่าวส่งผลให้เกิดความไม่พอใจเพิ่มมากขึ้นในหมู่แรงงานที่มีรายได้น้อย ซึ่งต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นโดยที่รายได้ไม่เพิ่มขึ้นเลย
นอกจากนี้ ความไม่สมดุลด้านการเติบโตของค่าจ้างยังเสี่ยงที่จะทำให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อ่อนแอลงด้วย