ผลกำไรภาคอุตสาหกรรมของจีนปรับตัวลดลงต่อเนื่องในเดือนมิ.ย. ท่ามกลางภาวะเงินฝืดในฝั่งผู้ผลิตที่ยังคงรุนแรงและอุปสงค์ในประเทศที่ซบเซา ตอกย้ำถึงแรงกดดันที่ภาคธุรกิจกำลังเผชิญ แม้ภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 จะแข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ไว้ก็ตาม
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) ที่เปิดเผยวันนี้ (27 ก.ค.) ระบุว่า กำไรของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิ.ย. ลดลง 4.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งแม้จะเป็นอัตราที่ชะลอลงจากที่ลดลงถึง 9.1% ในเดือนพ.ค. แต่ก็ส่งผลให้กำไรในช่วงครึ่งปีแรกลดลง 1.8% ซึ่งเป็นการหดตัวที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง 5 เดือนแรกของปี
ภาวะดังกล่าวสะท้อนผลกระทบจากสงครามราคาที่รุนแรง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์และแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งผลักดันให้รัฐบาลจีนประกาศจะเข้ามาควบคุมการแข่งขันด้านราคาอย่างเข้มงวด ขณะที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ของรัฐอย่าง กว่างโจว ออโตโมบิล กรุ๊ป (Guangzhou Automobile Group) และ เจเอซี กรุ๊ป (JAC Group) คาดว่าจะรายงานผลขาดทุนในไตรมาสที่สองสูงเป็นประวัติการณ์ในเดือนหน้า
หลู เจ๋อ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากซูโจว ซีเคียวริตี้ส์ (Soochow Securities) คาดการณ์ว่า ผลกำไรภาคอุตสาหกรรมอาจมีแนวโน้มดีขึ้นจากมาตรการของรัฐบาล รวมถึงโครงการ "รถเก่าแลกรถใหม่" ที่จะช่วยควบคุมสงครามราคาและกระตุ้นอุปสงค์ของผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายรายมองว่า การปฏิรูปฝั่งอุปทานในรอบนี้อาจไม่สามารถฉุดจีนให้พ้นจากภาวะเงินฝืดได้รวดเร็วเหมือนในอดีต เนื่องจากต้องเผชิญกับความท้าทายด้านการจ้างงาน
สถานการณ์นี้ยังถูกซ้ำเติมจากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) หรือราคาหน้าโรงงาน ที่ในเดือนที่ผ่านมาลดลงแตะระดับเลวร้ายที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี ซึ่งยิ่งทำให้ปัญหาอุปทานล้นตลาดรุนแรงขึ้น
ยฺหวี เว่ยหนิง นักสถิติจาก NBS กล่าวว่า จีนจำเป็นต้องเร่งสร้าง "ตลาดในประเทศที่เป็นหนึ่งเดียว" และส่งเสริมการหมุนเวียนเศรษฐกิจภายใน เพื่อผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมให้มีคุณภาพสูง ท่ามกลางสภาพแวดล้อมภายนอกที่ซับซ้อน
ทั้งนี้ หากจำแนกตามประเภทกิจการ พบว่าในช่วงครึ่งปีแรก รัฐวิสาหกิจมีกำไรลดลง 7.6% ขณะที่บริษัทเอกชนและบริษัทต่างชาติมีกำไรเพิ่มขึ้น 1.7% และ 2.5% ตามลำดับ โดยข้อมูลดังกล่าวครอบคลุมบริษัทที่มีรายได้จากการดำเนินงานหลักอย่างน้อย 20 ล้านหยวนต่อปี