การศึกษาล่าสุดเผยแนวโน้มการย้ายถิ่นฐานของบุคคลที่มีความมั่งคั่งสูง (HNWIs) หรือผู้ที่มีสินทรัพย์ที่สามารถลงทุนได้อย่างน้อย 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประมาณการว่าในปี 2568 จะมีมหาเศรษฐีทั่วโลกกว่า 142,000 คนย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
สหราชอาณาจักรและจีนกำลังเผชิญกับปรากฏการณ์คนรวยไหลออกจากประเทศ โดยเฉพาะสหราชอาณาจักรที่อาจสูญเสียมหาเศรษฐีสูงถึง 16,500 คนในปีนี้ มากเป็นเกือบสามเท่าของจีน ซึ่งคาดว่าจะมีมหาเศรษฐีราว 7,800 คนย้ายออกจากประเทศ
แนวโน้มดังกล่าวสวนทางกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ยังคงดึงดูดผู้มีฐานะร่ำรวยเข้าประเทศเป็นจำนวนมากในปีนี้ โดยคาดการณ์ว่าจะมีมหาเศรษฐีไหลเข้ามากเป็นประวัติการณ์ถึง 9,800 คน ขณะที่สหรัฐอเมริกาก็ไม่น้อยหน้าตามมาเป็นอันดับสองที่ 7,500 คน ด้านไทยน่าจับตาเช่นกันว่าจะผงาดขึ้นเป็น 'ที่หลบภัย' แห่งใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวได้จากรายงาน Private Wealth Migration Report 2025 โดย Henley & Partners บริษัทที่ปรึกษาด้านการย้ายถิ่นฐาน ซึ่งระบุว่าข้อมูลเหล่านี้เน้นย้ำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจากการปฏิรูปภาษี และปัจจัยด้านไลฟ์สไตล์ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของกลุ่มบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูง
นโยบายภาษีจุดกระแส "WEXIT" ในสหราชอาณาจักร
สหราชอาณาจักรถูกคาดการณ์ว่าจะเผชิญกับการไหลออกของมหาเศรษฐีมากที่สุดในรอบทศวรรษ โดยคาดว่าจะสูญเสียนักลงทุนและผู้ประกอบการถึง 16,500 คนในปี 2568 ปรากฏการณ์นี้ถูกขนานนามว่า "WEXIT" (Wealth Exit) ซึ่งเป็นผลมาจากการปฏิรูปภาษี รวมถึงการยกเลิกระบบที่มีมานานหลายศตวรรษอย่าง "Resident Non-Domicile" ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่ม HNWIs
ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวได้ผลักดันให้เหล่าคนร่ำคนรวยมองหาโอกาสใหม่ ๆ ในประเทศที่เอื้อประโยชน์กว่า แม้มีกระแสคาดการณ์ว่า ราเชล รีฟส์ รัฐมนตรีคลังของสหราชอาณาจักร จะกลับลำนโยบายนี้บางส่วน แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจสายเกินไปที่จะกู้คืนชื่อเสียงของสหราชอาณาจักร
ดร. เยอร์ก สเตฟเฟน ซีอีโอของ Henley & Partners กล่าวว่า ปี 2568 ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญ โดยเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษนับตั้งแต่เริ่มการติดตามเก็บข้อมูล ที่เราพบว่าประเทศในยุโรปมีมหาเศรษฐีไหลออกมากที่สุดในโลก สิ่งนี้ไม่ได้เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงระบบภาษีเท่านั้น แต่สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกที่เพิ่มขึ้นในหมู่คนรวยว่า สามารถแสวงหาโอกาส เสรีภาพ และความมั่นคงที่มากขึ้นได้จากที่อื่น
นอกจากสหราชอาณาจักรแล้ว รายงานยังชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงขาลงในประเทศอื่น ๆ ของยุโรป โดยนับเป็นครั้งแรกที่ศูนย์กลางความมั่งคั่งดั้งเดิมอย่างฝรั่งเศส สเปน และเยอรมนี จะสูญเสีย HNWIs ที่จำนวน 800, 500 และ 400 คนตามลำดับในปีนี้ เนื่องจากชาวยุโรปที่ร่ำรวยจำนวนมากย้ายไปยังประเทศที่เป็นมิตรต่อนักลงทุนมากขึ้น
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยืนหนึ่ง แม่เหล็กดึงดูดความมั่งคั่งโลก
ในทางกลับกัน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งสำหรับมหาเศรษฐีที่ย้ายถิ่นฐาน โดยคาดการณ์ว่า ตัวเลขไหลเข้าจะสูงถึง 9,800 คน ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกาที่คาดว่าจะดึงดูดผู้มีฐานะมากกว่า 7,500 คน
ข้อมูลการไหลเข้าของมหาเศรษฐีสู่สหรัฐฯ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เสนอโครงการ "บัตรทอง" (Gold Card) ให้กับกลุ่ม HNWIs ซึ่งตัวเลขคาดการณ์การไหลเข้าของ HNWIs สู่สหรัฐฯ ได้หักล้างการคาดเดาที่ว่าชาวอเมริกันที่มีฐานะดีกำลังวางแผนที่จะย้ายออกจากสหรัฐฯ ไปตั้งรกรากในต่างประเทศ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลทรัมป์
ทั้งนี้ เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ปธน.ทรัมป์ได้เปิดเผยแผนการออก "โกลด์การ์ด" มูลค่าใบละ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 160 ล้านบาท) ซึ่งจะเปิดทางให้เศรษฐีต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในสหรัฐฯ ได้สัญชาติอเมริกัน โดยจะมาแทนที่ "กรีนการ์ด" (Green Card) หรือโครงการวีซ่านักลงทุน EB-5
ยุโรปใต้ สวิตเซอร์แลนด์ มาแรง
ขณะเดียวกัน ประเทศในยุโรปใต้ เช่น อิตาลี (+3,600 คน) โปรตุเกส (+1,400 คน) และกรีซ (+1,200 คน) รวมถึงสวิตเซอร์แลนด์ (+3,000 คน) กำลังดึงดูดเงินทุนไหลเข้าจำนวนมาก เนื่องจากมีระบบภาษีที่เอื้ออำนวย ประกอบกับปัจจัยด้านไลฟ์สไตล์ที่น่าดึงดูด นอกจากนี้ ตลาดเกิดใหม่อย่างมอนเตเนโกรและมอลตา ก็มีการเติบโตของจำนวนมหาเศรษฐีอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะที่นอกทวีปยุโรปนั้น ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่โดดเด่นในปีนี้ โดยคาดการณ์ว่าจะมีมหาเศรษฐีไหลเข้าประเทศ 2,400 คน ในขณะที่ดูเหมือนว่า จุดหมายปลายทางดั้งเดิมอย่างสิงคโปร์ (+1,600 คน), ออสเตรเลีย (+1,000 คน), แคนาดา (+1,000 คน) และนิวซีแลนด์ (+150 คน) จะเริ่มสูญเสียความน่าดึงดูด โดยมีจำนวนมหาเศรษฐีไหลเข้าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2568
การสู้รบในตะวันออกกลางผลักดันมหาเศรษฐีย้ายถิ่นฐาน
ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่มั่นคงในตะวันออกกลาง ส่งผลให้หลายประเทศเผชิญกับคลื่นมหาเศรษฐีไหลออก เช่น เลบานอน (-200 คน) ที่พบว่าคนรวยจำนวนมากย้ายไปไซปรัส กรีซ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่วนอิหร่าน (-200 คน) ก็เป็นอีกประเทศที่สูญเสียกลุ่ม HNWIs ให้กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เช่นกัน
อย่างไรก็ดี คาดว่าอิสราเอลจะมีการไหลออกของมหาเศรษฐีค่อนข้างน้อยเพียง 350 คน โดยส่วนใหญ่จะย้ายไปยังสหรัฐอเมริกา
ไทยขึ้นแท่น 'ที่หลบภัย' แห่งใหม่
นอกเหนือจากภาพรวมการย้ายถิ่นฐานของมหาเศรษฐีทั่วโลก รายงาน Private Wealth Migration Report 2025 ของ Henley & Partners ยังได้เจาะลึกถึงแนวโน้มที่น่าสนใจในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งกำลังกลายเป็นศูนย์กลางอำนาจทางเศรษฐกิจและเป็นแรงผลักดันสำคัญของความมั่งคั่งทั่วโลก ด้วยพลวัตทางเศรษฐกิจ นโยบาย และการแสวงหาความมั่นคงและการเติบโต
สำหรับประเทศไทย รายงานระบุว่า ไทยก้าวขึ้นมาอย่างรวดเร็วในฐานะ "ที่หลบภัย" (Safe Haven) แห่งใหม่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคาดการณ์ว่าจะมีมหาเศรษฐีไหลเข้า 450 คนในปี 2568 โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ที่กำลังตั้งตัวเป็นคู่แข่งสำคัญของสิงคโปร์ รายงานระบุว่า เมืองหลวงที่คึกคักและมีชีวิตชีวาของไทยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในหมู่ HNWIs ที่มาจากจีน เวียดนาม และเกาหลีใต้ โดยมีปัจจัยดึงดูด ได้แก่ โรงเรียนนานาชาติ ภาคบริการทางการเงินที่กำลังเติบโต และอสังหาริมทรัพย์ระดับไฮเอนด์
แนวโน้มประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย:
จีน: คาดการณ์ว่าจะมีมหาเศรษฐีไหลออก 7,800 คนในปี 2568 รั้งอันดับสองของโลกในการสูญเสียมหาเศรษฐี อย่างไรก็ตาม ศูนย์กลางเทคโนโลยีที่เฟื่องฟูของจีนอย่างเซินเจิ้นและหางโจว ตลอดจนการเติบโตของอุตสาหกรรมความบันเทิงและการบริการ กำลังกระตุ้นให้คนรวยชาวจีนจำนวนมากเลือกที่จะอยู่ในประเทศ ส่งผลให้การสูญเสียมหาเศรษฐีสุทธิลดลงต่ำที่สุดนับตั้งแต่ช่วงโควิด-19
อินเดีย: คาดการณ์ว่าจะมีการไหลออก 3,500 คน แต่เทรนด์การไหลออกส่วนหนึ่งถูกชดเชยด้วย HNWIs จากสหราชอาณาจักร ส่งผลให้การสูญเสียจำนวนมหาเศรษฐีลดลงต่ำที่สุดนับตั้งแต่ช่วงโควิด-19 เช่นกัน
เกาหลีใต้: คาดการณ์ว่าจะมีมหาเศรษฐีย้ายออกจากประเทศ 2,400 คนในปี 2568 ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าจากปีที่แล้ว อันเนื่องมาจากความผันผวนทางเศรษฐกิจและการเมือง
ไต้หวัน: สะท้อนภาพที่ผสมผสานกัน กล่าวคือ ถึงแม้เศรษฐกิจไต้หวันซึ่งขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีจะยังคงแข็งแกร่ง โดยมีมหาเศรษฐีเพิ่มขึ้นถึง 65% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่ความตึงเครียดกับจีนที่เพิ่มสูงขึ้น และการขาดแคลนอสังหาริมทรัพย์หรูหรา เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้มีฐานะร่ำรวยส่วนหนึ่งย้ายออกไปอาศัยที่อื่น โดยคาดการณ์ว่าจะมีเศรษฐีย้ายออกจากไต้หวัน 100 คนในปีนี้
ฮ่องกง: หลังจากเผชิญช่วงเวลาท้าทายจากความไม่แน่นอนทางการเมือง มาบัดนี้ ฮ่องกงเริ่มดึงดูดผู้มีฐานะจากส่วนอื่น ๆ ของเอเชียได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงบรรดาผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทเทคโนโลยีในเซินเจิ้นจำนวนมาก โดยคาดว่าฮ่องกงจะดึงดูดมหาเศรษฐีได้ 800 คนในปีนี้
ญี่ปุ่น: คาดว่าจะดึงดูด HNWIs จำนวน 600 คน โดยเฉพาะจากจีน เนื่องจากความมั่นคงปลอดภัยและการเมืองที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ
สิงคโปร์: คาดการณ์ว่าจะมีมหาเศรษฐีไหลเข้า 1,600 คน ซึ่งต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์
เวียดนาม: เป็นที่น่าจับตาว่าเริ่มมีมหาเศรษฐีย้ายออกจากประเทศมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 300 คน