แฟรงก์ เอลเดอร์สัน กรรมการบริหารของธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า ความเชื่อมโยงกันระหว่างสภาพอากาศที่ร้อนจัดในยุโรปกับตัวบ่งชี้ที่สำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น อัตราเงินเฟ้อและผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) นั้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญเกินกว่าจะละเลยได้
การแสดงความเห็นดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่ยุโรปกำลังเผชิญกับคลื่นความร้อนระลอกใหม่ โดยหลายพื้นที่เผชิญกับอุณหภูมิที่สูงผิดปกติ อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ขณะที่นักวิทยาศาสตร์พบว่าภาวะโลกร้อนเช่นนี้อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของราคา ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เกษตรกรเผชิญกับความยากลำบากในการดูแลพืชผลและราคาอาหารที่สูงขึ้น
เอลเดอร์สันกล่าวว่า ECB มีความเข้าใจมากขึ้นว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศและธรรมชาติมีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ โดยอ้างอิงถึงฤดูร้อนที่สภาพอากาศร้อนจัดเป็นพิเศษในปี 2565 ซึ่งในเวลานั้นอัตราเงินเฟ้อราคาอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.4-0.9 จุดเปอร์เซ็นต์ และส่งผลกระทบต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเยอรมนี
"ดังนั้นสิ่งเหล่านี้จึงมีความเกี่ยวข้องกัน" เอลเดอร์สันกล่าวนอกรอบการประชุมประจำปีของ ECB ที่เมืองซินตรา ประเทศโปรตุเกส
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ECB กำลังเพิ่มความพยายามในการจัดการกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรวมถึงการเปิดเผยรายงานฉบับปรับปรุงในสัปดาห์นี้ โดยรายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ECB ไม่เพียงแต่จะนำผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาประกอบการพิจารณาในการกำหนดนโยบายการเงินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงปัจจัยเกี่ยวกับการเสื่อมโทรมของธรรมชาติด้วย
เอลเดอร์สันกล่าวว่า การที่ ECB หันมาให้ความสำคัญกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาตินั้น ในท้ายที่สุดแล้วจะมีผลต่อความพยายามในหลายแง่มุมของ ECB ในการสร้างเสถียรภาพด้านราคาและการกำกับดูแลธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบในยุโรป