In Focusย้อนรอยความเคลื่อนไหวแวดวงไอทีทั่วโลกปี 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 4, 2013 14:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปีนี้เป็นอีกหนึ่งปีที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่นับวันจะยิ่งมีอิทธิพลต่อการกำหนดรูปแบบวิถีชีวิตของสังคมมนุษย์มากขึ้น In Focus ในสัปดาห์แรกของเดือนสุดท้ายส่งท้ายปี 2556 ขอนำเสนอความเคลื่อนไหวที่สำคัญๆในแวดวงไอทีกับแบรนด์ใหญ่ชั้นนำที่ทุกคนรู้จักกันดีอย่าง ซัมซุง แอปเปิ้ล แบล็คเบอร์รี่ ไมโครซอฟท์ โนเกีย ทวิตเตอร์ และไลน์

ซัมซุง...I?m gonna be the champion.

?ซัมซุง อิเล็กทรอนิคส์" ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่ที่สุดของโลกก็ยังคงครองแชมป์ในตลาดสมาร์ทโฟนได้อย่างเหนียวแน่น ด้วยยอดขายที่แข็งแกร่งตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของปี จนส่งผลให้สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ ปรับเพิ่มเครดิตของซัมซุงขึ้น 1 อันดับเป็น A+ เนื่องจากยอดขายสมาร์ทโฟนรุ่นท็อปที่ช่วยหนุนฐานะทางการเงินของบริษัท โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนรุ่น S4 ซึ่งมียอดขายพุ่งแตะ 10 ล้านเครื่องภายในเวลาไม่ถึง 1 เดือน หลังจากเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 27 เม.ย.

หลังจากนั้นไม่นาน บริษัทไอทียักษ์ใหญ่สัญชาติเกาหลีก็ได้เปิดตัวนวัตกรรมที่สร้างเสียงฮือฮาให้กับวงการไอทีได้ไม่น้อย นั่นก็คือ Samsung Galaxy Gear หรือสมาร์ทวอทช์ และ Galaxy Round สมาร์ทโฟนหน้าจอโค้งงอได้รุ่นแรกของโลก

Samsung Galaxy Gear ถือเป็นนาฬิกาอัจฉริยะรุ่นแรกของซัมซุง ซึ่งมีลักษณะเหมือนนาฬิกาข้อมือทั่วไป และใช้เป็นอุปกรณ์เสริมควบคู่กับ Galaxy Note 3 โดยผู้ใช้สามารถสั่งการสมาร์ทวอทช์ด้วยเสียงเพื่อโทรเข้า โทรออก หรือส่งข้อความ ตลอดจนอัดเสียง อัดวิดีโอ ถ่ายภาพ เชื่อมต่อบลูทูธ นับจำนวนที่ก้าวเดิน ค้นหาอุปกรณ์ และฟังก์ชั่นพื้นฐานอื่นๆ อย่างไรก็ตาม กระแสตอบรับของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้ออกมาดีตามที่คาดการณ์ไว้ โดย Business Korea สื่อในเกาหลีใต้รายงานว่า สมาร์ทวอทช์รุ่นแรกของซัมซุงมียอดขายไม่ถึง 50,000 เรือนด้วยซ้ำตั้งแต่เปิดตัวมา เช่นเดียวกับ Galaxy Round ที่มียอดขายต่อวันไม่ถึง 100 เครื่อง จากยอดผลิตเพื่อวางจำหน่ายเฉพาะในเกาหลีใต้จำนวน 50,000 เครื่อง เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของตัวเครื่องที่ทั้งหนา และหนัก

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ซัมซุงเร่งเปิดตัว Galaxy Round เพียงเพื่อแสดงศักยภาพของการเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนที่มีความยืดหยุ่นได้เป็นเครื่องแรกของโลก โดยไม่ได้มุ่งหวังที่ยอดขาย กล่าวได้ว่า การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ทั้งสองนี้เป็นเพียงการทดลองของซัมซุงเท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นของการปฏิวัติวงการเทคโนโลยี

ทางด้านยอดขายนั้น พบว่า ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ซัมซุงสามารถทำยอดขายโทรศัพท์มือถือได้เป็นอันดับ 1 ใน 6 ภูมิภาค ได้แก่ อเมริกาเหนือ ยุโรปตะวันตก ยุโรปตะวันออก เอเชียแปซิฟิค ละตินอเมริกา ตะวันออกกลางและแอฟริกา ซึ่งถือเป็นการทำสถิติครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของซัมซุง

ขณะเดียวกัน การแข่งขันที่ดุเดือดในตลาดไอทีก็มักจะก่อให้เกิดความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางธุรกิจโดยเฉพาะประเด็นด้านทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งซัมซุงก็หนีไม่พ้นข้อพัวพันในเรื่องดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นคำตัดสินของศาลโตเกียวที่ว่า ซัมซุงละเมิดลิขสิทธิ์รูปแบบการแสดงผล ?bounce-back" ของแอปเปิ้ล รวมถึงการละเมิดสิทธิบัตร multitouch features และ headphone jack detection อีก 2 รายการของคู่กรณีเดิม เป็นผลให้คณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐออกคำสั่งห้ามนำเข้า และขายอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือบางรายการของซัมซุงเลยทีเดียว

แอปเปิ้ล... I?ll never be knocked down.

ด้านแบรนด์ไอทียักษ์ใหญ่จากเมืองลุงแซมอย่าง ?แอปเปิ้ล" ก็ยังคงมุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง และในปีนี้ แอปเปิ้ลก็ได้สร้างความประหลาดใจให้กับชาวไอทีทั่วโลก ด้วยการใช้กลยุทธ์รูปแบบใหม่ที่บริษัทไม่เคยทำมาก่อน โดยการเปิดตัวสมาร์ทโฟนพร้อมกันถึง 2 รุ่น ซึ่งได้แก่ไอโฟน 5S และ 5C เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา

สมาร์ทโฟนรุ่น 5S ซึ่งเปิดตัวด้วยสีใหม่คือ สีทองแชมเปญนั้น มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ iOS7 พ่วงชิพประมวลผล A7 ที่ใช้ความเร็ว 64 bit เครื่องแรกของโลก บวกกับชิพ M7 ซึ่งช่วยประมวลผลด้านกราฟฟิคโดยเฉพาะ และช่วยให้แบตเตอรี่อยู่ได้นานขึ้น

นวัตกรรมเด่นของไอโฟนรุ่น 5S คือ ?Touch ID Sensor" ซึ่งก็คือการแสกนลายนิ้วมือบนปุ่มโฮม ซึ่งสามารถใช้ระบุตัวตนของผู้ใช้งาน ปลดล็อคโทรศัพท์ ตลอดจนซื้อแอพพลิเคชั่น และเพลงจากไอทูน สโตร์แทนการเข้ารหัสพาสเวิร์ดปกติ รวมไปถึงคุณสมบัติของกล้องที่อัพเกรดขึ้นอีกมาก ตั้งแต่ความคมชัดของภาพไปจนถึงฟังก์ชั่นการถ่ายภาพที่ต่อเนื่อง

ส่วนไอโฟน 5C นั้นเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นประหยัด ตัวเครื่องผลิตจากโพลีคาร์บอเนตเป็นครั้งแรก แทนวัสดุหรูหราอย่างอลูมิเนียมที่แอปเปิ้ลใช้มาตลอด มี 5 สีให้เลือกได้แก่ เขียว เหลือง ขาว ฟ้า และชมพู โดยฟีเจอร์ส่วนใหญ่ก็คล้ายกับไอโฟน 5S ไม่ว่าจะเป็นระบบปฏิบัติการ iOS7, ระบบการแสกนลายนิ้วมือ และคุณสมบัติด้านการถ่ายรูป

อย่างไรก็ตาม แอปเปิ้ลก็ต้องพบกับความผิดหวังจากยอดขาย 5C ที่ไม่เป็นไปตามคาด เนื่องจากราคาที่ยังแพงเกินไปโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเป้าหมายอย่างจีน และอินเดีย จนทำให้ต้องลดการผลิตลง ตลอดจนปรับลดราคาเพื่อดึงดูดใจผู้ซื้อ ขณะที่รุ่น 5S ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม บริษัท CIRP (Consumer Intelligence Research Partners) เปิดเผยผลสำรวจว่า ในปี 2556 มีผู้ซื้อไอโฟนที่ย้ายมาจากค่ายที่ใช้แอนดรอยด์ มากขึ้นกว่าปี 2555 หลังจากที่แอปเปิ้ลเปิดตัวไอโฟน 5S และ 5C และพบว่า ผู้ที่ใช้ไอโฟนรุ่นเดิมกลับมาซื้อไอโฟนรุ่นใหม่มากขึ้น 65% จากระดับ 55% ในปีที่แล้ว

ล่าสุดนิตยสารฟอร์บส์จัดอันดับแอปเปิ้ลให้เป็นแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงสุดของโลก ประจำปี 2556 โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 104.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าปี 2555 ถึง 20% และรั้งอันดับหนึ่งติดต่อกันเป็นปีที่ 3 ซึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับยอดขายสินค้า และบริการของ Apple ที่ปรับตัวสูงขึ้นได้แก่ไอโฟน 33.8 ล้านเครื่อง ไอแพด 14.1 ล้านเครื่อง แม็ค 4.6 ล้านเครื่อง และ iPod 3.5 ล้านเครื่องในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีงบการเงินล่าสุด

แบล็คเบอร์รี่... I won?t give up.

ขณะที่แบรนด์ไอทีเจ้าอื่นๆต่างแข่งขันกันอย่างดุเดือดนั้น สถานการณ์ของแบล็คเบอร์รี่เริ่มส่อเค้าน่าเป็นห่วงมากขึ้นทุกขณะ โดยบริษัทประสบภาวะขาดทุนติดต่อกันหลายไตรมาส จนถึงขนาดที่บริษัทวิจัยการ์ทเนอร์ได้ออกมาแนะนำให้องค์กรที่ใช้แบล็คเบอร์รี่เตรียมหาโซลูชั่นการจัดการข้อมูลบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ และฮาร์ดแวร์มือถือจากค่ายอื่นแทน พร้อมระบุว่า ขณะนี้องค์กรใหญ่ๆหลายแห่งก็เริ่มใช้ระบบปฏิบัติการ ios และ Android กันแล้ว แม้แต่ The Global Mail หนังสือพิมพ์รายใหญ่ของแคนาดายังออกมาตีแผ่บทสัมภาษณ์ผู้บริหารหลายคนของแบล็คเบอร์รี่ถึงเบื้องหลังความตกต่ำ และความผิดพลาดของบริษัทในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ในที่สุด แบล็คเบอร์รี่ก็เปิดเผยว่า แฟร์แฟ็กซ์ ไฟแนนเชียล โฮลดิ้งส์ (Fairfax Financial Holdings Limited) ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทได้ประกาศซื้อหุ้นแบล็คเบอร์รี่ทั้งหมด แต่จู่ๆสถานการณ์ก็พลิกผัน เนื่องจากแฟร์แฟ็กซ์เปลี่ยนแผนเป็นการซื้อหุ้นเพิ่มทุนร่วมกับกลุ่มสถาบันอื่นแทน คิดเป็นมูลค่ารวม 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากการกู้สถานการณ์ด้านเงินทุนแล้ว แบล็คเบอร์รี่ยังได้ปรับเปลี่ยนตัวซีอีโอจากธอสเท็น ไฮน์ส เป็นจอห์น เอส เฉิน ซึ่งเป็นอดีตซีอีโอของ Sybase ที่เคยกู้วิกฤติให้กับ Sybase มาแล้วในปี 2531 ตามมาด้วยการเปลี่ยนตัวผู้บริหารระดับสูงถึง 3 ตำแหน่งได้แก่ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด เฉินกล่าวว่า จะไม่ทิ้งธุรกิจฮาร์ดแวร์มือถือ และจะเริ่มเดินสายคุยกับลูกค้าของแบล็คเบอร์รี่ทั่วยุโรป และอเมริกาเหนือ เพื่อสร้างความมั่นใจที่มีต่อบริษัท โดยคาดว่าจะใช้เวลา 6 ไตรมาสในการฟื้นฟูกิจการ

ทั้งนี้ แหล่งข่าวระบุว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา หลายบริษัทได้ยื่นข้อเสนอซื้อกิจการของแบล็คเบอร์รี่ แต่เป็นกิจการเพียงบางส่วนเท่านั้น ซึ่งต่างถูกปฏิเสธไปทั้งหมด เนื่องจากแบล็คเบอร์รี่ไม่ต้องการแยกกิจการออกจากกัน โดยในจำนวนบริษัทที่สนใจซื้อทรัพย์สินทางปัญญา และสิทธิบัตรของแบล็คเบอร์รี่ยังรวมถึงไมโครซอฟท์ และแอปเปิ้ลด้วย

The Globe and Mail ยังเปิดเผยว่า บริษัท Lenevo ยักษ์ใหญ่ไอทีของจีนก็สนใจซื้อกิจการดังกล่าว แต่ถูกรัฐบาลแคนาดากีดกัน เนื่องจากไม่ต้องการให้กิจการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศตกอยู่ภายใต้การบริหารของบริษัทจีน ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ

ไมโครซอฟท์?Good bye Ballmer.

ด้านบริษัทซอฟท์แวร์ยักษ์ใหญ่ที่มีความเคลื่อนไหวและสร้างแรงกระเพื่อมในแวดวงไอทีก็คือ การประกาศลาออกจากตำแหน่งซีอีโอบริษัท ไมโครซอฟท์ ของสตีฟ บัลเมอร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2543 ซึ่งบางฝ่ายก็แสดงความดีใจ เนื่องจากมองว่าศักยภาพการทำงานที่ผ่านมาของบัลเมอร์ไม่ค่อยสู้ดีนักเมื่อดูจากการเติบโตของผลประกอบการ ขณะที่หุ้นไมโครซอฟท์ก็พุ่งขึ้นทันที 7.3% ในวันที่บัลเมอร์ยื่นจดหมายประกาศสละตำแหน่งผู้นำสูงสุดขององค์กร

หลังจากที่บิล เกตส์ ประกาศลงจากตำแหน่งบริหารอย่างจริงจังเมื่อปี 2551 สตีฟ บัลเมอร์ ก็ได้โชว์ฝีมือในหลายโครงการโดยมุ่งเน้นนวัตกรรมที่แต่งต่างไปจากเดิม ส่งผลให้รายได้ของไมโครซอฟท์ต่อปีเพิ่มขึ้นจาก 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็น 7 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งนอกจากไมโครซอฟท์จะทำเงินจากธุรกิจหลักอย่างระบบปฏิบัติการวินโดวส์และชุด Microsoft Office แล้ว บัลเมอร์ยังได้แตกแขนงธุรกิจใหม่ๆ ได้แก่ แผนกศูนย์ข้อมูล แผนกอุปกรณ์และความบันเทิง Xbox ซึ่งเป็นอุปกรณ์เกมคอนโซลอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในปี 2554 นั้น เขาตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับการเติบโตของรายได้บริษัทที่ไม่สามารถต่อกรกับคู่แข่งสำคัญอย่างแอปเปิ้ล อิงค์ ที่สามารถทำเงินเป็นกอบเป็นกำจากการผลิตอุปกรณ์ยุคหลังพีซี (Post-PC) อาทิ ไอโฟน และไอแพด แม้ทางไมโครซอฟท์เองจะคลอด Windows Phone ออกมาเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้ บัลเมอร์ยังคงทำงานอยู่ตามปกติ ตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ทั้งการซื้อกิจการมือถือของโนเกีย และการวางขายสินค้าใหม่ทั้ง Surface 2 และ Xbox One

บัลเมอร์ระบุว่า เขาจะไม่เป็นซีอีโอของบริษัทขนาดใหญ่อีก และจะขอพักผ่อนเป็นเวลา 6 เดือนก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะทำอะไรต่อไป โดยอาจจะไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย หรือเป็นโค้ชทีมบาสเก็ตบอลของโรงเรียนลูกชาย ขณะที่ตัวเก็งซีอีโอคนใหม่ที่จะขึ้นกุมบังเหียนไมโครซอฟท์ก็คือ ?สตีเฟน อีลอป" อดีตซีอีโอของโนเกียนั่นเอง

โนเกีย?I?ll survive.

ในช่วงที่ผ่านมา โนเกียประสบปัญหาเรื่องกระแสเงินสดหมุนเวียนอันเนื่องมาจากอุปสงค์ที่ซบเซาลง ขณะพยายามดิ้นรนที่จะรักษาส่วนแบ่งตลาดมือถือที่เสียไปให้กับให้กับแอปเปิล และค่ายมือถือที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ส่งผลให้โนเกียต้องตัดสินใจปรับลดพนักงานลงกว่า 20,000 คน รวมถึงระงับการจ่ายเงินปันผลเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อปรับปรุงฐานะการเงินของบริษัท

แล้วอัศวินขี่ม้าขาวก็ได้ปรากฏตัวขึ้น เมื่อไมโครซอฟท์ ตกลงที่จะซื้อธุรกิจอุปกรณ์ และบริการของโนเกีย รวมทั้งสิทธิบัตรต่างๆ เป็นมูลค่า 5.44 พันล้านยูโร (ราว 232,000 ล้านบาท)

ทั้งนี้ พนักงานของโนเกียประมาณ 32,000 คน จะถูกโอนไปทำงานที่ไมโครซอฟท์ รวมถึงนายสตีเฟน อีลอป ซึ่งประกาศลงจากตำแหน่งซีอีโอของโนเกียเพื่อหวนคืนสู่การทำงานที่บริษัท ไมโครซอฟท์ในตำแหน่งรองประธานบริหารด้านอุปกรณ์

โนเกีย และไมโครซอฟท์ได้เปิดเผยว่า ดีลครั้งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ให้กับทั้งพนักงาน ผู้ถือหุ้น และผู้ใช้บริการของทั้ง 2 บริษัทโดยช่วยสร้างกำไร และเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดให้มากขึ้น ตลอดจนสร้างประสบการณ์ใช้งานของวินโดวส์โฟน

หลังจากที่ไมโครซอฟท์บรรลุข้อตกลงเข้าซื้อส่วนหนึ่งของธุรกิจโนเกียรวมถึงแผนกอุปกรณ์มือถือ โนเกียก็ได้ประกาศเปิดตัว "Lumia 2520" แท็บเล็ตเครื่องแรกของบริษัทซึ่งใช้ระบบปฏิบัติการ Windows RT 8.1 พร้อมสมาร์ทโฟน (แฟบเล็ต) 2 รุ่นด้วยกันได้แก่ Lumia 1520 และ Lumia 1320 ซึ่งถือเป็นการขยายสายการผลิตอุปกรณ์มือถือของไมโครซอฟท์ และเป็นอีกหนึ่งความพยายามในการแข่งขันกับยักษ์ใหญ่ในตลาดอย่างแอปเปิ้ล และซัมซุง อิเล็กทรอนิคส์

ทวิตเตอร์?I?ll be rich.

หลังจากเฟซบุ๊กเปลี่ยนสถานะเป็นบริษัทมหาชนเมื่อปีที่แล้ว ในปีนี้ก็ถึงคิวของทวิตเตอร์ สื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยมของผู้คนทั่วโลก ซึ่งได้ทวีตข้อความประกาศด้วยตัวเองว่า จะนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ หรือการเสนอขายหุ้นแก่สาธารณชนเป็นครั้งแรก (IPO) ก่อนจะเปิดเผยเอกสารแจ้ง กลต. สหรัฐในเดือนต.ค. โดยทวิตเตอร์ประกาศจำหน่ายหุ้นในตลาดหุ้นนิวยอร์ก (NYSE) จำนวน 70 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 26 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อระดมทุน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ

คาดว่า สาเหตุที่ทวิตเตอร์เลือกจดทะเบียนในตลาด NYSE แทนตลาด NASDAQ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความผิดพลาดทางระบบการซื้อขายของ NASDAQ ที่เคยเกิดขึ้นกับเฟซบุ๊กในวันแรกที่เข้าสู่ตลาด รวมถึงการปรับเปลี่ยนมาตรฐานด้านการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของ NYSE ให้สะดวกขึ้นสำหรับบริษัทขนาดเล็กซึ่งกำลังขยายตัว

หุ้นไอทีน้องใหม่ (TWTR) ที่มีกระแสตอบรับที่ดีมากตั้งแต่ช่วงเปิดให้จองซื้อหุ้น โดย ปริมาณความต้องการจองซื้อสูงกว่าปริมาณหุ้นที่เสนอขายถึง 30 เท่า หรือคิดเป็น 2,100 ล้านหุ้น และในวันซื้อขายหุ้นวันแรกนั้น นักลงทุนต่างหลั่งไหลเข้าซื้อหุ้นทวิตเตอร์อย่างไม่ขาดสายจนดันราคาปิดในการซื้อขายวันแรก (7 พ.ย.) พุ่งขึ้นแตะหุ้นละ 44.90 ดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าราคาเสนอขายแรกถึง 73% ซึ่งถือเป็นราคาปิดที่สูงมากในกลุ่มหุ้นเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับหุ้นเฟซบุ๊กที่มีราคาปิดสำหรับการซื้อขายวันแรกที่ 38.23 ดอลลาร์สหรัฐ จากราคาจองที่ 38 ดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียง 0.6% เท่านั้น

ทั้งนี้ เอกสารที่ทวิตเตอร์ยื่นต่อ กลต. สหรัฐระบุว่า ขณะนี้มีผู้ใช้ทวิตเตอร์รายเดือนถึง 218 ล้านคน และมีการทวีตข้อความกว่า 500 ล้านครั้งในแต่ละวัน ส่วนรายได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 อยู่ที่ 254 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดทุน 69 ล้านเหรียญดอลล์

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีความคิดเห็นด้านบวกต่อการนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหุ้น และอนาคตของหุ้นทวิตเตอร์ เนื่องจากนักลงทุนมีความนิยมในหุ้นประเภทเครือข่ายสังคม และทวิตเตอร์ก็เป็นหนึ่งในโซเชียลมีเดียที่มีอิทธิพล และแพร่หลายที่สุดของโลก

ไลน์?I would blossom with my stickers.

หากพูดถึงแอพพลิเคชั่น คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก Line โดยเฉพาะในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีผู้ใช้งานสูงเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งรวมถึงไต้หวัน อินโดนีเซีย อินเดีย เป็นต้น

Line เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2554 และมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากบริการที่น่าสนใจ และหลากหลายตั้งแต่โทรฟรี วิดีโอคอลล์ ข้อความสติ๊กเกอร์ ไทม์ไลน์ และเกมอีกจำนวนมาก นอกจากนี้ Line ยังเปิดตัวเวอร์ชั่นสำหรับพีซีอีกด้วย

จุดเด่นของแอพแชทสัญชาติญี่ปุ่นก็คงจะหนีไม่พ้นสติ๊กเกอร์ตัวการ์ตูนน่ารักๆอย่างมูน เจมส์ โคนี่ บราวน์ เป็นต้น ซึ่งทำรายได้คิดเป็น 1 ใน 3 ของ Line ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 เลยทีเดียว นอกจากนี้ Line ยังจับมือร่วมธุรกิจกับบริษัทในประเทศต่างๆ จนทำให้เกิดสติ๊กเกอร์ซึ่งกลายเป็นการตลาดแนวใหม่ขององค์กรต่างๆ ซึ่งมีอยู่กว่า 1,400 แบบทั่วโลกแล้ว ล่าสุด Line ยังได้จัดทำสติ๊กเกอร์ชุดพิเศษช่วยเหลือผู้ประสบภัยไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนในฟิลิปปินส์ โดยรายได้หลังหักค่าธรรมเนียมนั้นจะบริจาคให้กับสภากาชาดฟิลิปปินส์ทั้งหมด

นอกจาก Line จะประสบความสำเร็จอย่างสูงในประเทศแถบเอเชียแล้ว แอพแชทจากแดนซามูไรยังไปเติบโตที่สเปน และเม็กซิโก ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะนี้ Line กำลังวางแผนเจาะตลาดในตุรกี อินเดีย รวมถึงประเทศแถบยุโรปตะวันตกเช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลีให้มากขึ้น

นับว่า Line เป็นแอพพลิเคชั่นที่ประสบความสำเร็จ และเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมียอดผู้ใช้งานทั่วโลกครบ 100 ล้านคนภายใน 19 เดือนหลังจากเปิดตัวอย่างเป็นทางการ และเพิ่มขึ้นเป็น 200 ล้านคนใน 6 เดือนต่อมา จนถึงขณะนี้ Line มียอดผู้ใช้งาน 300 ล้านคน ซึ่งเพิ่มจาก 200 ล้านคนภายในเวลาเพียง 4 เดือนเท่านั้น

ผู้บริหารของ Line กล่าวว่า บริษัทจะเดินหน้าสร้างสรรค์นวัตกรรมการสื่อสารใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาฟีเจอร์ และบริการให้มีคุณภาพมากขึ้นในฐานะผู้ให้บริการการสื่อสารระดับโลก นอกจากนี้ Line ยังตั้งเป้าว่าจะมียอดผู้ใช้งานทั่วโลก 500 ล้านคนภายในปี 2557 อีกด้วย

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ Line ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และได้มีการเปิดตัวโฆษณาโทรทัศน์ชุดแรกของ Line จากโครงการประกวด ?Line Story Contest" โดยผู้ใช้งานจริง ล่าสุดนี้ Line ยังเปิดตัวแคมเปญ ?Line Next" เพื่อคัดเลือกนิสิตนักศึกษาไทยเข้าร่วมงานกับ Line ประเทศไทยอีกด้วย

บรรยากาศการแข่งขันของธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีความดุเดือดส่งผลให้บริษัทต่างๆต้องตื่นตัว และเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา เพื่อพัฒนา และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆออกสู่ตลาด และยังเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคยุคใหม่เป็นอย่างมาก และไม่แน่ว่าในปีหน้า ทุกคนอาจได้เห็นพัฒนาการที่ยิ่งใหญ่ของนวัตกรรมด้านไอทีที่มีความซับซ้อน และอัจฉริยะมากยิ่งขึ้น และเมื่อถึงเวลานั้น แนวคิดเกี่ยวกับประเด็นต่างๆในเรื่องไซไฟอาจกลายเป็นสมมติฐานที่สามารถทำให้เป็นจริงได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ