(เพิ่มเติม) จีดีพียูโรโซนไม่ขยายตัวในไตรมาส 2/2557 หลังศก.เยอรมนีหดตัว, ฝรั่งเศสหยุดนิ่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 14, 2014 17:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานสถิติของสหภาพยุโรปเปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของยูโรโซนไม่ขยายตัวในไตรมาส 2/2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกที่ขยายตัว 0.2% ซึ่งตอกย้ำว่าเศรษฐกิจยูโรโซนยังจมอยู่กับอัตราว่างงานที่อยู่ในระดับสูง และอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำเกินไป

นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสสองจะขยายตัว 0.1% จากไตรมาสแรก

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร 18 ประเทศต้องประสบกับภาวะชะงักงันในไตรมาสที่ผ่านมานั้น เป็นเพราะการหดตัวของเศรษฐกิจเยอรมนี ซึ่งมีขนาดใหญ่สุดในภูมิภาค โดยจีดีพีเยอรมนีปรับตัวลง 0.2% ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2555 ขณะที่ฝรั่งเศส ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของยูโรโซน มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ 0% ในไตรมาสสอง

ด้านอิตาลีเผยจีดีพีปรับตัวลง 0.2% ในช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย. ซึ่งเป็นการถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งที่สามนับตั้งแต่ปี 2551

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจสเปนขยายตัวในอัตรารวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2550 ส่วนเศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์ก็กลับสู่การขยายตัวได้อีกครั้งในไตรมาสที่ผ่านมา

เศรษฐกิจที่อ่อนแอทำให้ยูโรโซนล้าหลังสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรซึ่งเศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้น เศรษฐกิจยูโรโซนยังมีโอกาสสูงที่จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจยูโรโซนกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยได้

ทั้งนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าวกดดันให้ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ต้องใช้มาตรการบางอย่างเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งเพิ่มอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ที่ระดับ 0.4% ซึ่งต่ำกว่าเป้าของทางธนาคารที่ 2% หลังจากที่อีซีบีได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปเมื่อเดือนมิ.ย.

ยูโรสแตทรายงานว่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จีดีพียูโรโซนขยายตัว 0.7% ในไตรมาสสองที่ผ่านมา

สำหรับเศรษฐกิจไตรมาสสองของอียู ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 28 ประเทศนั้น ขยายตัว 0.1% จากไตรมาสแรก และขยายตัว 1.2% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

รายงานระบุว่า ในบรรดาประเทศสมาชิกที่มีการรายงานข้อมูลแล้วนั้น ฮังการี และอังกฤษ มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงที่สุด ขณะที่โรมาเนีย ไซปรัส เยอรมนี และอิตาลี มีเศรษฐกิจหดตัวมากที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ