จีนออกโรงตอบโต้ S&P หลังถูกหั่นแนวโน้มเครดิต ยันจีนแกร่งพอผลักดันเศรษฐกิจโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 1, 2016 17:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทางการจีนออกมาตอบโต้สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ซึ่งได้ประกาศปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของจีนเมื่อวานนี้ โดยจีนเรียกร้องให้ S&P ทำการตัดสินอย่างไม่มีอคติ

"เศรษฐกิจจีนได้เข้าสู่ช่วงของ "new normal" ซึ่งเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ และการปรับปรุงให้ดีขึ้น อย่างไรก็ดี ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของจีนยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง และจะยังคงมีความแข็งแกร่งในระยะยาว" นายหง เล่ย โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าว

นายหงกล่าวว่า เศรษฐกิจจีนขยายตัว 6.9% ในปีที่แล้ว และจีนยังคงเป็นตัวจักรสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจโลก

เขาระบุว่า จีนมีความคืบหน้าอย่างมากในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยการบริโภคมีสัดส่วนมากกว่าการลงทุน โดยอยู่ในระดับ 66.4%

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน เรียกร้องให้ S&P มีความเข้าใจอย่างรอบด้านต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีน และใช้การตัดสินที่ไม่มีอคติ

เมื่อวานนี้ S&P ประกาศปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของจีนและฮ่องกง สู่ "เชิงลบ" จาก "มีเสถียรภาพ" โดยระบุถึงความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการเงินที่เพิ่มขึ้นต่ออันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลจีน

การประกาศปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าว บ่งชี้ว่า S&P อาจปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของจีนและฮ่องกง จาก AA- และ AAA ตามลำดับในช่วง 6 เดือนถึง 2 ปี

นอกจากนี้ S&P คาดว่า เศรษฐกิจจีนจะยังคงเติบโตที่ระดับ 6% หรือสูงกว่าระดับดังกล่าวทุกปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า แต่ต่ำกว่าเล็กน้อยจากเป้า 6.5% ที่ทางการจีนตั้งเป้าไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ 5 ปี

S&P ระบุว่า สัดส่วนหนี้ในภาครัฐและเอกชนในจีนมีแนวโน้มย่ำแย่ลง และอัตราการลงทุน ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จะไม่มีความยั่งยืน

S&P เปิดเผยว่า แนวโน้มดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน ขณะที่จำกัดทางเลือกในการใช้นโยบายของรัฐบาล และเพิ่มความเป็นไปได้ที่แนวโน้มอัตราการขยายตัวจะดิ่งลงอย่างหนัก

ขณะเดียวกัน ในวันนี้ S&P ได้ประกาศปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทน้ำมันและโครงสร้างพื้นฐานของจีนซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีน (GREs) จำนวน 20 แห่งในวันนี้ เพียง 1 วัน หลังจากที่ S&P ได้ปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของจีนและฮ่องกงเมื่อวานนี้

ทั้งนี้ S&P ปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทดังกล่าว สู่ "เชิงลบ" จาก "มีเสถียรภาพ" โดยระบุว่า S&P เชื่อว่าอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทเหล่านี้จะได้รับผลกระทบจากการที่ทางบริษัทมีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับรัฐบาลจีน

บริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือในครั้งนี้ ได้รวมถึง บริษัทเนชั่นแนล ออฟชอร์ ออยล์ คอร์ปอเรชั่น, ไชน่า เนชั่นแนล ปิโตรเลียม และไชน่า ปิโตรเคมีคัล คอร์ปอเรชั่น ส่วนบริษัทในกลุ่ม GREs อีก 31 แห่งไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด

เมื่อต้นเดือนนี้ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ประกาศปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของจีนเช่นกัน สู่ "เชิงลบ" จาก "มีเสถียรภาพ" โดยมูดี้ส์ระบุถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับศักยภาพของทางการจีนในปฏิรูปเศรษฐกิจ รวมทั้งหนี้สินของรัฐบาลที่เพิ่มสูงขึ้น และทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ลดลง

มูดี้ส์ระบุว่า หากจีนไม่ดำเนินการปฏิรูปอย่างน่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพ ก็อาจทำให้จีดีพีของจีนชะลอตัวลงอีก ขณะที่ภาระหนี้สินที่สูงขึ้นได้บั่นทอนการลงทุนในภาคธุรกิจ ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้อาจส่งผลให้หนี้สินของรัฐบาลพุ่งขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ มูดี้ส์ระบุว่า การปรับลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือในครั้งนี้ มีสาเหตุมาจากการคาดการณ์ที่ว่า สถานะด้านการคลังของจีนจะยังคงอ่อนแรงลง และทุนสำรองเงินตราต่างประเทศลดลง โดยในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมานั้น ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีนลดลงถึง 7.62 แสนล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ มูดี้ส์ระบุว่า การที่จีนไม่สามารถดำเนินการปฏิรูปได้อย่างเต็มที่นั้น อาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายของจีน

อย่างไรก็ตาม มูดี้ส์ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของจีนเอาไว้ที่ Aa3 โดยระบุว่า ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีนที่ยังมีอยู่จำนวนมากนั้น ช่วยให้จีนยังพอมีเวลาที่จะดำเนินการปฏิรูปได้สำเร็จ และปรับสมดุลทางเศรษฐกิจได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป

ทางด้านกระทรวงการคลังจีนออกแถลงการณ์ตอบโต้มูดี้ส์ ซึ่งได้ประกาศปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของจีน

แถลงการณ์ระบุว่า มูดี้ส์ได้ปรับลดแนวโน้มดังกล่าวโดยไม่ได้มองภาพรวมของเศรษฐกิจจีน และการปรับลดแนวโน้มนี้ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินของจีนแต่อย่างใด

"สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือควรเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับสภาวะทางการเงิน และเศรษฐกิจของจีน เพื่อหลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลที่ขาดความสมดุล" แถลงการณ์ระบุ

กระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรของจีน รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนหยวนทั้งในตลาดจีนและตลาดต่างประเทศยังคงมีเสถียรภาพ ถึงแม้มีการปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งแสดงถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน และการคาดการณ์ในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจจีน

นอกจากนี้ กระทรวงยังระบุว่า ระดับหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น และสัดส่วนการก่อหนี้ของภาคเอกชนยังคงอยู่ต่ำกว่าเส้นอันตรายในระดับสากล และรัฐบาลกำลังใช้มาตรการต่างๆ เช่น การสว็อปหนี้เป็นทุน เพื่อช่วยลดแรงกดดันจากภาระหนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ