Spotlight: RCEP ขั้นตอนสำคัญของการผลักดันเศรษฐกิจในภูมิภาคท่ามกลางลัทธิการปกป้องผลประโยชน์

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 8, 2017 15:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ลัทธิการปกป้องผลประโยชน์ที่หวนกลับมาอีกครั้งในบางประเทศ ส่งผลให้ RCEP ซึ่งเป็นความตกลงระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจา 6 ประเทศ (จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย) และมีกำหนดว่า จะสรุปผลให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ ถูกมองว่าเป็นข้อตกลงทางการค้าที่สำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจในภูมิภาค

เยห์ คิม เลง นักเศรษฐศาสตร์ของซันเวย์ ยูนิเวอร์ซิตี้ สคูล ของมาเลเซีย กล่าวกับซินหัวเมื่อเร็วๆนี้ว่า เมื่อพิจารณาจากบทบาทนำของจีนในความตกลง RCEP แล้ว ความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนที่ขยายตัวขึ้นของจีนกับประเทศในแถบเอเชียแล้ว RCEP มีศักยภาพในการเร่งการผนวกรวมของเศรษฐกิจในภูมิภาค เพื่อรับมือกับนโยบายต่อต้านโลกาภิวัฒน์และการค้าที่สหรัฐได้นำมาใช้ในสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี

RCEP ถูกโน้มน้าวมาเป็นเวลานานว่าเป็นข้อตกลงการค้าเสรีขนาดมหาศาลที่มีแนวโน้มสูงว่า จะเข้ามาแทนที่ภายหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ประกาศถอนตัวจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP)

ด้วยการปรับลดกำแพงภาษีการค้าและการลงทุนนั้น อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ RAM ของมาเลเซียเชื่อว่า RCEP สามารถนำมาซึ่งประสิทธิภาพและเสถียรภาพที่ยิ่งใหญ่มากขึ้นทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียผ่านการค้า การลงทุน และการโอนถ่ายเทคโนโลยี และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือ การนำยอดเกินดุลเงินฝากมาใช้เป็นการลงทุนเชิงสร้างสรรภายในภูมิภาค

อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นเศรษฐกิจแบบเปิดที่ปริมาณการค้ากับจีนและประเทศอื่นๆในกลุ่มอาเซียนเพิ่มสูงขึ้นนั้น มาเลเซียจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์รายสำคัญจากการลดกำแพงการค้าและการลงทุนในภูมิภาค

RCEP เป็นความพยายามที่จะเชื่อมโยงประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศเข้ากับอีก 6 ประเทศที่อาเซียนได้มีข้อตกลงการค้าเสรีอยู่แล้ว ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

การหารือเรื่องข้อตกลงดังกล่าวมีกำหนดที่จะสรุปผลให้ได้ภายในช่วงสิ้นปีนี้

เอ็ดเวิร์ด ลี หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจอาเซียนของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด แบงก์ ก็มีความคิดเห็นในทำนองเดียวกันที่มอง RCEP ในมุมบวก

ลี กล่าวกับซินหัวผ่านทางอีเมลเมื่อเร็วๆนี้ว่า ความกังวลเรื่องการต่อต้านโลกาภิวัฒน์ในช่วงอย่างน้อย 1-2 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งความล้มเหลวของ TPP ล้วนคือความผิดหวัง ดังนั้น RCEP จะสามารถช่วยได้ในเรื่องของการคลายความกังวลที่ว่า โลกาภิวัฒน์ได้สิ้นสุดลงไปแล้ว

ลี กล่าวด้วยว่า การลดกำแพงการค้าลงนั้น จะช่วยยกระดับโอกาสของผู้บริโภคและภาคธุรกิจในภูมิภาค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ