Spotlight: พรรครีพับลิกันถูกกดดันหนัก ขณะวุฒิสภาสหรัฐเตรียมถกแผนปฏิรูปภาษี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 17, 2017 14:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัปดาห์นี้ วุฒิสภาสหรัฐเตรียมเดินหน้าพิจารณาแผนการปฏิรูปภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หลังจากพรรครีพับลิกันยังไม่สามารถผลักดันให้ร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ได้ในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น พรรครีพับลิกันจึงจำเป็นที่จะต้องผลักดันแผนปฏิรูปภาษีครั้งนี้ให้ลุล่วงไปให้ได้ มิเช่นนั้น พรรคจะต้องเสี่ยงกับการสูญเสียความน่าเชื่อถือในกลุ่มผู้สนับสนุน

วุฒิสภาสหรัฐจะพิจารณาทางออกเรื่องงบประมาณ ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของการอนุมัติแผนการปฏิรูปภาษี แต่พรรครีพับลิกันอาจจะได้รับการสนับสนุนไม่มากนัก ในขณะที่วุฒิสมาชิกของพรรค 1 คน มีแผนจะเดินทาง และไม่สามารถใช้สิทธิในการลงคะแนนเสียงได้

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงไม่กี่เดือนหลังจากที่ทรัมป์ไม่สามารถยกเลิกกฎหมายประกันสุขภาพ ซึ่งเป็นผลงานการปรับโครงสร้างด้านสาธารณสุขของรัฐบาลชุดก่อน หรือที่รู้จักกันในชื่อของ "โอบามาแคร์ "

ในขณะที่กลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์ก็ไม่ได้กล่าวโทษทรัมป์แต่อย่างใด แม้กลุ่มผู้สนับสนุนเหล่านี้อาจรู้สึกไม่พอใจอยู่บ้างกับสภาคองเกรสซึ่งมีสมาชิกจากทั้ง 2 พรรค แต่หากการผลักดันร่างกฎหมายครั้งนี้ พรรครีพับลิกันพ่ายแพ้อีกครั้ง ทางพรรคก็อาจจะสูญเสียคะแนนเสียงในศึกเลือกตั้งสมาชิกคองเกรสปีหน้าได้

ทรัมป์ ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งจากกลุ่มผู้ที่เหนื่อยหน่ายกับทิศทางและแนวโน้มของประเทศ โดยเฉพาะประเด็นแรงงานและภาวะเศรษฐกิจซึ่งถือเป็นประเด็นหลักที่สร้างความวิตกกังวล

แม้ข้อมูลอย่างเป็นทางการของรัฐบาลระบุว่า อัตราว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่เหล่านักวิจารณ์มองว่า ข้อมูลเหล่านี้ขัดแย้งกับจำนวนคนตกงานในสหรัฐ เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวไม่ได้นับรวมจำนวนผู้ที่เลิกหางานประจำ เพราะไม่มีตำแหน่งที่น่าสนใจ

ขณะเดียวกัน แม้มีตำแหน่งงานจำนวนมาก รวมทั้งตำแหน่งงานที่ให้ค่าตอบแทนสูงในเมืองใหญ่ๆ เช่น วอชิงตัน นิวยอร์ก และเมืองอื่นๆ แต่พื้นที่ในชนบทกลับเผชิญปัญหาในเชิงเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ การที่ครอบครัวชนชั้นกลางจำนวนมากต้องตกระกำลำบาก การปฏิรูปภาษีจึงเป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญอันดับหนึ่งของทำเนียบขาว และถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับชาวอเมริกันด้วยเช่นกัน โดยชาวอเมริกันจำนวนมากเชื่อว่า ตนเองถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงเกินไป ซึ่งส่งผลให้ความสามารถในการซื้อบ้าน การจ่ายค่าเทอมของลูก หรือการออมเพื่อการเกษียณของตนเองนั้น ลดน้อยลง

  • การปฏิรูปภาษีจะช่วยชาวอเมริกันและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่

ทำเนียบขาวอ้างว่า จะปรับลดภาษีให้กับครอบครัวชนชั้นกลาง รวมทั้งลดภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยสหรัฐถือเป็นหนึ่งในประเทศที่เรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราสูงสดในโลก

บริษัทหลายแห่งของสหรัฐโอดครวญว่า บริษัทไม่เพียงแต่ต้องจ่ายภาษีเท่านั้น แต่ยังต้องจ่ายภาษีให้กับรัฐบาลท้องถิ่นในประเทศอื่นๆที่บริษัทเข้าไปทำธุรกิจด้วยเช่นกัน

บริษัทเหล่านี้มองว่า หากมีการเรียกเก็บภาษีน้อยลง บริษัทก็จะสามารถสร้างงานได้ แม้ว่า เหล่านักวิจารณ์จะมองว่า แผนการณ์ของทรัมป์นั้นเป็นเพียงการปรับลดภาษีสำหรับผู้ที่ร่ำรวยอยู่แล้ว

นายอลัน ไวอาร์ด นักวิชาการของสถาบัน Americal Enterprise Institute กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า การปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น มีแนวโน้มว่า จะช่วยดึงเม็ดเงินลงทุนเข้ามายังสหรัฐ แม้ว่า การขาดดุลที่สูงขึ้นอาจจะทำให้อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นไปด้วย และจะสร้างแรงกดดันต่อการลงทุน

"ในภาพรวมนั้น การปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลอาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่มากเท่าที่กลุ่มผู้สนับสนุนเรื่องนี้ได้กล่าวอ้างไว้" นายไวอาร์ดกล่าว

จากการประเมินของ The Urban-Brookings Tax Policy Center ที่ได้จัดทำไว้เมื่อวันที่ 29 ก.ย.บ่งชี้ว่า แม้ว่าครัวเรือนของชนชั้นกลางจะได้รับการลดหย่อนภาษี แต่ก็ได้ปรับลดในสัดส่วนที่น้อยกว่าครัวเรือนที่มีรายได้สูง

อย่างไรก็ดี ครัวเรือนชนชั้นกลางส่วนน้อย โดยเฉพาะครัวเรือนชนชั้นกลางระดับบนที่มีลูกหลายคนที่อาศัยอยู่ในรัฐที่มีการจัดเก็บภาษีสูงนั้น ก็อาจเผชิญกับสถานการณ์การจัดเก็บภาษีที่สูงขึ้น นายไวอาร์ดกล่าว

หากการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลสามารถดึงเม็ดเงินลงทุนเข้ามายังสหรัฐ คนทำงานชั้นกลางก็จะได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้น เพราะเงินทุนที่เพิ่มขึ้นจะมีส่วนช่วยเพิ่มความสามารถในการผลิตของกลุ่มคนทำงานเหล่านี้

อย่างไรก็ดี การออกตราสารหนี้เพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนด้านการเงินให้กับแผนการปฏิรูปภาษีนั้น อาจจะดำเนินการผ่านการปรับขึ้นภาษีหรือการปรับลดค่าใช้จ่ายลงในอนาคต ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งที่อาจจะตกเป็นภาระของครัวเรือนที่เป็นชนชั้นกลาง นายไวอาร์ดกล่าว

ผลกระทบโดยรวมที่มีต่อครัวเรือนชนชั้นกลางนั้น เป็นเรื่องยากที่จะระบุได้ และอาจจะมีผลกระทบในรูปแบบที่หลากหลายกันไปตามแต่ละครัวเรือน และหนึ่งในความกังวลก็คือ ความเหลื่อมล้ำของรายได้ที่เกิดขึ้นในรัฐและเมืองต่างๆของสหรัฐ

ยกตัวอย่างเช่น คู่สามีภรรยาที่มีรายได้รวม 2 แสนดอลลาร์ต่อปีในเขตชนบท อาจจะถูกมองว่ามีฐานะร่ำรวย แต่ในเมืองที่มีขนาดใหญ่อาจมองว่า รายได้จำนวนดังกล่าวถือว่าไม่มากนัก หรืออาจจะต่ำกว่าระดับปานกลาง

ทั้งนี้ เป็นเพราะปัจจัยที่ผสมผสานกันระหว่างอสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาแพงในเมืองใหญ่ ราคาอาหารคุณภาพที่อยู่ในระดับสูง และปัจจัยอื่นๆ เช่น เงินปล่อยกู้จำนวนมากให้กับนักศึกษา ค่าเลี้ยงดูบุตรที่สูงขึ้น ขณะที่อัตราภาษีก็ยังคงคำนวณอยู่บนพื้นฐานของรายได้ ซึ่งไม่ได้คำนวณจากค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตแต่อย่างใด

ไวอาร์ด กล่าวว่า แผนการปฏิรูปครั้งนี้ ไม่ได้นับรวมนิยามของคำว่า ความร่ำรวย

"ภายใต้แผนการณ์ดังกล่าว ซึ่งมีการใช้กฎหมายฉบับปัจจุบันและแผนการปฏิรูปส่วนใหญ่นั้น ขั้นบันไดในการจัดเก็บภาษีและการหักภาษีตามมาตรฐานนั้น ได้มีการดำเนินการทั่วประเทศ โดยไม่มีตัวแปรที่สะท้อนถึงความแตกต่างของต้นทุนการดำรงชีวิต" นายไวอาร์ด กล่าว

โดย แมทธิว รัสลิง

สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ