นักวิเคราะห์คาดแผนปฏิรูปภาษีสหรัฐอาจกระทบธนาคารยุโรปบางราย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 8, 2018 09:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คริสติน ฟอร์บส์ ศาสตราจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์โลกประจำสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ คาดการณ์ว่า แผนปฏิรูปภาษีของสหรัฐอาจทำให้ธนาคารยุโรปบางรายได้รับผลกระทบ เนื่องจากบริษัทสหรัฐบางส่วนมีการฝากรายได้ในต่างประเทศไว้กับธนาคารในยุโรป

ศาสตราจารย์ผู้นี้ประเมินไว้ว่า ปัจจุบันบริษัทสัญชาติสหรัฐที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในต่างประเทศนั้นมีเงินที่พร้อมส่งกลับประเทศอยู่ประมาณ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ โดยการที่แผนปฏิรูปภาษีดังกล่าวได้รับการอนุมัตินั้น เท่ากับว่าบริษัทเหล่านี้น่าจะส่งเงินกลับประเทศกันมากขึ้น เพราะเสียภาษีน้อยลง

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ฟอร์บส์ยังชี้ให้เห็นว่า เงินที่บริษัทสหรัฐนำกลับเข้าประเทศนั้น อาจกลายเป็นผลตอบแทนผู้ถือหุ้นมากกว่าที่จะนำไปลงทุนใหม่ เมื่อประเมินจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2547

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ได้ลงนามในร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีวงเงิน 1.5 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา ตามคำสัญญาก่อนหน้านี้ที่ว่าเขาจะมอบการปรับลดภาษีครั้งใหญ่แก่ชาวอเมริกันเป็นของขวัญวันคริสต์มาส

ร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีขั้นสุดท้าย มาจากการรวมเนื้อหาของร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีที่ผ่านการอนุมัติของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรก่อนหน้านี้ โดยร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีขั้นสุดท้ายจะยังคงจำนวนขั้นบันไดของการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้ที่ 7 ขั้น คือที่ระดับ 10%, 12%, 22%, 24%, 32%, 35% และ 37% โดยลดอัตราภาษีขั้นสูงสุดสู่ระดับ 37% จากระดับ 39.6% ขณะเดียวกัน จะปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ลงสู่ระดับ 21% จากระดับ 35% โดยมีผลบังคับใช้ทันทีในวันที่ 1 ม.ค. 2561 แทนที่จะชะลอออกไปอีก 1 ปีตามร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีของวุฒิสภา

ร่างกฎหมายดังกล่าวถือเป็นการปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ที่สุดของสหรัฐนับตั้งแต่ปี 2529 หรือกว่า 30 ปี และถือเป็นชัยชนะครั้งแรกของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และพรรครีพับลิกันในสภาคองเกรสนับตั้งแต่ที่ปธน.ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งในเดือนม.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ