ผู้เชี่ยวชาญชี้มาตรการ"ทรัมป์"ไม่สะเทือนจีน เหตุมีกลยุทธ์รับมือกำแพงภาษี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 20, 2018 17:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักข่าวรอยเตอร์เผยแพร่บทความของนายเดวิด เอ แอนเดลแมน ซึ่งเป็นนักวิชาการประจำศูนย์ความมั่นคงแห่งชาติของวิทยาลัยกฎหมายฟอร์ดแฮม และเป็นผู้ประพันธ์หนังสือเรื่อง "A Shattered Peace: Versailles 1919 and the Price We Pay Today" โดยเขาระบุว่า จีนมีแนวโน้มที่จะได้รับชัยชนะในการทำสงครามการค้ากับสหรัฐด้วยกลยุทธ์ที่เรียกว่า ลัทธิทุนนิยมแบบเผด็จการ (Autocratic Capitalism)

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนวงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์ โดยเรียกเก็บภาษีเพิ่มอีก 10% ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 ก.ย. และจากนั้นจะเพิ่มเป็น 25% ตั้งแต่ช่วงต้นปีหน้า

อย่างไรก็ดี ลัทธิทุนนิยมแบบเผด็จการที่จีนใช้อยู่ จะช่วยให้จีนสามารถรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตรการตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐได้ โดยมีหลายองค์ประกอบในกลยุทธ์ดังกล่าวที่ทำเนียบขาวเองก็คิดไม่ถึง

นายแอนเดลแมนยกตัวอย่างว่า วันหนึ่งขณะที่เขากำลังคิดจะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัว เขาก็ได้พูดคุยกับคนขายเตาอบของบริษัท Haier ว่า เขาน่าจะรีบซื้อเตาอบนี้ก่อนที่จะมีราคาแพงขึ้นเนื่องจากจะถูกรัฐบาลสหรัฐเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น แต่คนขายบอกนายแอนเดลแมนว่า ไม่ต้องห่วง เพราะบริษัทจะไม่ขึ้นราคาอย่างแน่นอน

ทางด้านนายเดวิด บอสต์วิค ซึ่งเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของบริษัทคริสตัล โซลาร์ ได้ตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่า จีนใช้กลยุทธ์ลดราคาในการครองตลาดแผงโซลาร์ในสหรัฐ

"สิ่งที่บริษัทจีนทำก็คือลดราคาสินค้า 20% แล้วพวกเขาก็จะสามารถขายสินค้าในสหรัฐได้อย่างราบรื่น" นายบอสต์วิคกล่าว

นายแอนเดลแมนยังระบุว่า มาตรการด้านภาษีของสหรัฐอาจทำให้บริษัทจีนมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นในระยะยาว ขณะที่บริษัทที่มีมาร์จิ้นกำไรต่ำ ซึ่งไม่สามารถลดราคาขายส่ง 10% ก็อาจจะหาทางเลือกอื่น

ทั้งนี้ ในช่วงเวลาหลายปีผ่านมา จีนมีความมุ่งมั่นที่จะฉีกตัวออกจากการพึ่งพาการส่งออกในการผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และความพยายามดังกล่าวก็กำลังเห็นผล โดยตัวเลขการส่งออกของจีนเมื่อเทียบเป็นเปอร์เซนต์ใน GDP ได้ลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในปีที่แล้ว ภาคการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนเพียง 18.5% ของ GDP จากระดับ 35% ในปี 2550 ขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐคิดเป็นสัดส่วนเพียง 18% ของการส่งออกทั้งหมดในปีที่แล้ว

นอกจากนี้ บทบาทที่เพิ่มมากขึ้นของบรรดารัฐวิสาหกิจของจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็สามารถนำมาใช้ในการรับมือมาตรการภาษีของสหรัฐ โดยรัฐบาลจีนสามารถปรับตัวเลขกำไรของรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ได้ตามต้องการ เพื่อรักษาการจ้างงานในหน่วยงานดังกล่าว ขณะที่จีนยังสามารถลดค่าเงินหยวนลง 10% ซึ่งมาตรการเหล่านี้ รวมทั้งการที่ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับหยวน จะช่วยลดทอนผลกระทบจากการใช้มาตรการภาษีของปธน.ทรัมป์

ในช่วงที่การส่งออกไปยังสหรัฐชะลอตัวลง บริษัทเอกชนของจีนอาจเลือกที่จะเจาะตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง หรืออาจไปลงทุนในแอฟริกา และละตินอเมริกา

ขณะเดียวกัน บริษัทจีนบางแห่งอาจตัดสินใจโยกฐานการผลิตไปต่างประเทศ โดยบริษัท Haier มีโรงงานผลิตสินค้าใน 5 รัฐของสหรัฐนับตั้งแต่ที่ได้ซื้อธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าของบริษัทเจเนอรัล อิเลคทริค นอกจากนี้ Haier ยังมีโรงงานในเม็กซิโกไปจนถึงนิวซีแลนด์จากการซื้อกิจการบริษัทฟิชเชอร์ แอนด์ เพย์เคล ซึ่งบริษัทดังกล่าวก็มีโรงงานผลิตสินค้าในไทย อิตาลี และเม็กซิโก

นอกจากนี้ บริษัทของจีนที่ไม่ต้องการลดต้นทุน หรือโยกย้ายการผลิต อาจเรียกร้องให้รัฐบาลจีนลดค่าเงินหยวนเพื่อชดเชยกับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐ โดยการลดค่าเงินหยวนจะสร้างปัญหาต่อสหรัฐซึ่งที่ผ่านมามีความวิตกต่อการอ่อนค่าเกินจริงของหยวน

นายศิวา แยม ประธานสภาหอการค้าสหรัฐ-จีนในชิคาโก กล่าวว่า การตั้งกำแพงภาษีต่อสินค้าจีน จะช่วยให้บริษัทจีนและเศรษฐกิจจีนมีความสามารถในการแข่งขัน และในการทำกำไรในที่สุด

บรรดาผู้นำของจีนต่างคาดหวังว่าปธน.ทรัมป์จะประสบความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2563 หรือหวังให้พรรคเดโมแครตกวาดที่นั่งในสภาคองเกรสในการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพ.ย. ซึ่งหากเป็นไปตามนั้น รัฐบาลสหรัฐชุดใหม่ก็อาจทำการยกเลิกมาตรการภาษีของปธน.ทรัมป์ และกลับเข้าสู่กลไกตลาด ขณะที่ปธน.สี จิ้นผิงไม่จำเป็นต้องลงเลือกตั้ง เนื่องจากเขาจะเป็นประธานาธิบดีตลอดชีพของจีน ซึ่งจะทำให้ลัทธิทุนนิยมแบบเผด็จการคงอยู่ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ