World Today: สรุปประเด็นน่าติดตามประจำวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 9, 2018 08:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ขณะนี้ อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 2.00-2.25% ถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 ปีนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2551 ขณะที่เฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 8 ครั้งนับตั้งแต่ที่เริ่มปรับนโยบายการเงินสู่ภาวะปกติในเดือนธ.ค.2558

นอกจากนี้ เฟดยังได้ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธ.ค. หลังจากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.,มิ.ย. และก.ย. ซึ่งจะส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 4 ครั้งในปีนี้ ส่วนในปีหน้า เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้ง และอีก 1 ครั้งในปี 2563

-- ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ซึ่งเสร็จสิ้นลงเมื่อวานนี้ โดยระบุว่า ข้อมูลที่ได้รับนับตั้งแต่ที่คณะกรรมการ FOMC ประชุมกันในเดือนก.ย.บ่งชี้ว่า ตลาดแรงงานยังคงมีความแข็งแกร่ง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวขึ้นในระดับที่แข็งแกร่งเช่นกัน ส่วนการขยายตัวของการจ้างงานในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานั้น โดยเฉลี่ยมีความแข็งแกร่ง และอัตราว่างงานปรับตัวลดลง ทางด้านการใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังคงมีการขยายตัวที่แข็งแกร่ง ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของภาคธุรกิจมีการขยายตัวปานกลาง จากที่เคยขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงต้นปี

-- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงติดต่อกันเป็นวันที่ 9 เมื่อคืนนี้ เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด หลังจากประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ ซึ่งรวมถึงสหรัฐ รัสเซีย และซาอุดิอาระเบีย ผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมระหว่างสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตรของกลุ่มโอเปกในช่วงสุดสัปดาห์นี้

นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเกิดจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และอาจกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน ขณะที่ความอ่อนแอของค่าเงินเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจของหลายประเทศในเอเชีย

นักลงทุนจับตาการประชุมระหว่างสมาชิกกลุ่มโอเปก และชาติพันธมิตรของโอเปก ในวันอาทิตย์นี้ ที่เมืองอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

-- นายนิค มาร์โร นักวิเคราะห์จาก The Economist Intelligence Unit (EIU) กล่าวว่า ถึงแม้การทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนได้ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชีย แต่ก็ยังคงมีบางประเทศได้รับประโยชน์ในระยะยาวจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน

นายมาร์โรกล่าวว่า ไทย มาเลเซีย และเวียดนามจะได้รับประโยชน์ในระยะยาวในอุตสาหกรรมรถยนต์ รวมทั้งเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT)

รายงาน EIU ระบุว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยจะได้รับประโยชน์จากการที่ไทยมีความสัมพันธ์ทางการค้าที่หลากหลายกับสหรัฐ ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ภายในประเทศได้รับส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่งในจีน

-- บริษัทเทสลา อิงค์ แถลงว่า ทางบริษัทได้แต่งตั้งนางโรบิน เดนโฮล์ม เข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท แทนนายอีลอน มัสก์

ทั้งนี้ ภายใต้ข้อตกลงที่ทำไว้กับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) นายมัสก์จะต้องสละตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทเทสลาเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี เพื่อยุติคดีที่ SEC ยื่นฟ้องนายมัสก์ฐานจงใจหลอกลวงนักลงทุน ด้วยการทวีตข้อความเกี่ยวกับการนำเทสลาออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาด

-- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของยุโรปในปีนี้และปีหน้า โดยระบุถึงผลกระทบจากความตึงเครียดทางการค้า และภาวะตึงตัวทางการเงิน

ทั้งนี้ IMF คาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของยุโรปในปีนี้ที่ระดับ 2.3% จากระดับ 2.8% ในปีที่แล้ว และคาดว่าอยู่ที่ 1.9% ในปีหน้า

ตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวต่ำกว่าที่ IMF ระบุในเดือนพ.ค. ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจยุโรปจะขยายตัว 2.6% ในปีนี้ และ 2.2% ในปีหน้า

-- ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นภูมิภาคที่มีการขยายตัวเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยจะมีการเติบโต 5% ต่อปีในปี 2562-2563

นายราจีฟ บิสวอส ผู้อำนวยการบริหารของมาร์กิต กล่าวว่า "การขยายตัวของอาเซียนจะได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งจากการซื้อขายสินค้าภายในอาเซียน"

-- สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่มีการรายงานเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 1,000 ราย สู่ระดับ 214,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

-- สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่จะมีการรายงานในวันนี้ ทางการจีนเตรียมรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนต.ค. และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนต.ค. เวลา 08.30 น.

อังกฤษเตรียมรายงานตัวเลขดุลการค้าเดือนก.ย. ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3 และการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ย. เวลา 16.30 น.

สหรัฐมีกำหนดรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนต.ค. เวลา 20.30 น. รวมถึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนพ.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน และสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนก.ย. เวลา 22.00 น.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ