Spotlight: ชัตดาวน์รัฐบาลสหรัฐยุติ แต่ประเด็นชายแดนยังไร้ทางออก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 29, 2019 10:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ภาวะชัตดาวน์ที่ยาวนานที่สุดเป็นประวัติการณ์ของสหรัฐได้สิ้นสุดลง แต่ประเด็นความมั่นคงด้านชายแดน ซึ่งเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดเหตุชัตดาวน์ขึ้นยังคงเป็นประเด็นที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด

ทำเนียบขาวได้เปิดเผยในวันดังกล่าวว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐได้ลงนามในกฎหมายสนับสนุนงบประมาณชั่วคราวเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ส่งผลให้พนักงานรัฐจำนวน 800,000 รายกลับมาทำงาน แต่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกับสภาคองเกรสเกี่ยวกับแผนการสร้างกำแพงในพื้นที่ชายแดนตอนใต้ของสหรัฐวงเงิน 5.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นั่นหมายความว่าการเจรจาเกี่ยวกับเรื่องกำแพงจะยังคงเกิดขึ้นต่อไป

ทรัมป์ยังคงมีเวลา 2 ปีกับสัญญาที่เคยให้ไว้กับกลุ่มผู้สนับสนุนเรื่องการสร้างกำแพง เพื่อยับยั้งการเข้ามาของกลุ่มผู้อพยพผิดกฎหมายจากชายแดนตอนใต้ของสหรัฐ แต่พรรคเดโมแครตมองว่า กำแพงดังกล่าวต้นทุนสูงและส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน และไม่น่าจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้

ภาวะชัตดาวน์ที่ยืดเยื้อกว่าหนึ่งเดือนนับตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. หลังจากที่พรรคเดโมแครตได้ปฏิเสธร่างกฎหมายงบประมาณก่อสร้างกำแพงดังกล่าว ขณะที่ทรัมป์ก็ไม่ยอมเปิดให้หน่วยงานรัฐกลับมาทำหน้าที่ ซึ่งทำให้พนักงานรัฐเกือบหนึ่งล้านคนทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง แรงกดดันทางการเมืองได้ทวีความรุนแรงขึ้น ในขณะที่ผลสำรวจชี้ว่า ชาวอเมริกันตำหนิทรัมป์ว่าเป็นต้นตอของเหตุชัตดาวน์

นายดาเรล เวสต์ นักวิชาการอาวุโสของสถาบันวิจัย Brookings Institution กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า ทรัมป์ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองอย่างรุนแรงจากการยุยงที่ทำให้เกิดภาวะชัตดาวน์

นายเวสต์กล่าวว่า "พรรครีพับลิกันถูกตำหนิมากกว่าพรรคเดโมแครตต่อกรณีชัตดาวน์ ทำให้วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันจำนวนมากต้องพยายามหาทางออก พรรครีพับลิกันจำเป็นต้องยับยั้งผลกระทบทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นตามมา เพื่อรักษาความเชื่อมั่นของพรรคในปีต่อๆไป"

ทำเนียบขาวระบุว่า ทรัมป์ได้ลงนามในกฎหมาย Further Additional Continuing Appropriations Act ประจำปี 2562 ซึ่งประกอบด้วยการให้งบประมาณสนับสนุนหน่วยงานรัฐบาลกลางไปจนถึงวันที่ 15 ก.พ.

ทรัมป์ได้กล่าวสุนทรพจน์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงภายในวันที่ 15 ก.พ. หน่วยงานรัฐจะถูกชัตดาวน์อีกครั้ง เขาจะใช้อำนาจประธานาธิบดีประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ และออกกฎหมายอนุมัติงบประมาณสร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโก โดยไม่ต้องผ่านการอนุมัติจากสภาคองเกรส

ทรัมป์กล่าวว่า "ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด หน้าที่ที่สำคัญที่สุดของผมคือการปกป้องประเทศอันยิ่งใหญ่ของเรา"

ความมั่นคงบริเวณชายแดน

ยังไม่มีความชัดเจนว่า ทรัมป์จะแก้ปัญหาเรื่องความมั่นคงบริเวณชายแดนอย่างไรต่อไป ทรัมป์เคยย้ำถึงแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลไกลทางกฎหมายที่อนุญาตให้ประธานาธิบดีสหรัฐสามารถใช้กองทัพสร้างกำแพงได้ อย่างไรก็ดี ทรัมป์กล่าวว่า ตนเองไม่ต้องการที่จะใช้ทางเลือกดังกล่าว

นายจัสติน โบกี้ นักวิเคราะห์อาวุโสด้านนโยบายของ Heritage Foundation กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า ทรัมป์อาจจะประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ หากการเจรจาต่อรองเรื่องความมั่นคงบริเวณชายแดนล้มเหลว เพราะทรัมป์มีอำนาจพอสมควรที่จะทำเช่นนั้น แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นการท้าทายต่อระบบศาลของสหรัฐก็ตาม

นายเวสต์กล่าวว่า การประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติจะนำไปสู่การถกเถียงกันในศาล ซึ่งจะยืดเยื้อออกไปเป็นเวลาหลายเดือน และทรัมป์จะเข้าสู่ช่วงการหาเสียงอีกครั้ง โดยปราศจากเรื่องการก่อสร้างกำแพงให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้เห็น แม้ว่าเขาจะชนะได้ในกรณีนี้ก็ตาม"

นายแดน มาฮาฟฟี่ รองประธานอาวุโสและผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายของศูนย์เพื่อการศึกษาประธานาธิบดีและรัฐสภาสหรัฐ กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า ทรัมป์มีสิทธิชอบธรรมที่จะประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่จะถูกกดดันจากสภาคองเกรส รวมถึงสมาชิกพรรครีพับลิกันตามดุลแห่งอำนาจ เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ซ้ำรอย

ความล้มเหลวทางการเมือง

นายมาฮาฟฟี่กล่าวว่า การยุติภาวะชัตดาวน์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ถือเป็นความถดถอยครั้งใหญ่ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขณะที่พรรคเดโมแครตยังคงรวมกลุ่มกันกดดันทำเนียบขาวมากยิ่งขึ้นเพื่อให้หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐสามารถกลับมาดำเนินงานได้อีกครั้ง

"คะแนนความเชื่อมั่นที่มีต่อประธานาธิบดีสหรัฐนั้นร่วงลง เนื่องจากภาวะชัตดาวน์ที่ยืดเยื้อ ประชาชนชาวอเมริกันต่างวิตกกังวลเกี่ยวผลกระทบของชัตดาวน์ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ ธุรกิจรายย่อย รวมถึงพนักงานของรัฐ"

นายมาฮาฟฟี่ กล่าวว่า "ในขณะที่สถานการณ์ดำเนินต่อไป แต่ก็ยังมีโอกาสในการเจรจาต่อรองอยู่ แต่ทั้งในสภาคองเกรสหรือประชาชนชาวอเมริกันก็คงไม่ได้อยากรู้มากนักว่า กำแพงแบบใดที่ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการอยากจะสร้าง"

นายจูเลียน เซลิเซอร์ อาจารย์ฝ่ายกิจการสาธารณะและประวัติศาสตร์ประจำ Princeton University ได้ถกข้อโต้แย้งผ่านสำนักข่าว CNN ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ถือเป็นชัยชนะของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และเป็นความพ่ายแพ้ของทรัมป์

นายเซลิเซอร์ กล่าวว่า "ทรัมป์รามือจากการต่อสู้เรื่องงบประมาณก่อสร้างกำแพง โดยไม่ได้มาในสิ่งที่เขาต้องการ ซึ่งส่งผลเสียหายอย่างรุนแรงต่อผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง รวมถึงกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เลือกพรรครีพับลิกัน บวกกับความแตกแยกที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกภายในกลุ่มสมาชิกสภาคองเกรสสังกัดพรรครีพับลิกัน สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งที่ทรัมป์ต้องการให้เกิดขึ้นในปี (ใหม่) นี้"

ฐานเสียงของทรัมป์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชายผิวขาวที่อยู่ในชนชั้นสังคมการทำงานเชื่อว่า ผู้อพยพผิดกฎหมายทำให้ค่าจ้างในตลาดแรงงานต่ำลงและยังเข้ามาแย่งงาน อย่างไรก็ดี ยังไม่มีความชัดเจนว่าฐานเสียงของทรัมป์จะตอบรับกับการกระทำต่างๆ ของประธานาธิบดีผู้นี้ก่อนการเลือกตั้งปี 2563 อย่างไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ