World Today: สรุปประเด็นน่าติดตามประจำวันที่ 8 มีนาคม 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 8, 2019 09:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงติดต่อกันเป็นวันที่ 4 เมื่อคืนนี้ หลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนในปีนี้ พร้อมประกาศเปิดตัวโครงการปล่อยกู้เพื่อช่วยเหลือภาคธนาคารของยูโรโซน ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวของ ECB ส่งผลให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก

-- ECB ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนในปีนี้ สู่ระดับ 1.1% จากเดิมที่คาดการณ์ในเดือนธ.ค.ปีที่แล้วว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 1.7% ขณะเดียวกัน ECB ส่งสัญญาณว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยต่อไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปีนี้

นอกจากนี้ ECB ยังประกาศเปิดตัวเปิดตัวโครงการปล่อยเงินกู้ครั้งใหม่เพื่อช่วยเหลือภาคธนาคารในการปล่อยสินเชื่อในยูโรโซน โดย ECB จะปล่อยเงินกู้รีไฟแนนซ์ระยะยาวรายไตรมาสครั้งที่ 3 (TLTRO-III) ซึ่งจะเริ่มต้นในเดือนก.ย.ในปีนี้ และสิ้นสุดในเดือนมี.ค.2564 โดยเงินกู้แต่ละงวดมีอายุ 2 ปี

ทั้งนี้ TLTRO เป็นโครงการปล่อยเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำของ ECB ให้แก่ธนาคารต่างๆ เพื่อให้ธนาคารเหล่านี้ปล่อยสินเชื่อแก่ผู้บริโภค และนักลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยโครงการ TLTRO ครั้งนี้ นับเป็นโครงการปล่อยเงินกู้ครั้งที่ 3 ของ ECB นับตั้งแต่ปี 2557

-- นายมาริโอ ดรากี ประธาน ECB กล่าวในแถลงการณ์หลังการประชุมเมื่อวานนี้ว่า ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภูมิรัฐศาสตร์, ภัยคุกคามจากมาตรการกีดกันทางการค้า และความเปราะบางของตลาดเกิดใหม่ ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ

-- ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จัดการประชุมนโยบายการเงินเมื่อคืนนี้ โดยที่ประชุมมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ระดับ 0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ พร้อมกับคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ระดับ -0.40% ขณะที่คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25%

อย่างไรก็ดี ECB มีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำเกี่ยวกับการคงอัตราดอกเบี้ย โดยระบุว่า ECB จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยต่อไป อย่างน้อยจนถึงสิ้นปีนี้ จากเดิมที่ระบุว่า ECB จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยต่อไป อย่างน้อยจนถึงช่วงฤดูร้อนในปีนี้

-- สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ปรับเพิ่มการประมาณการตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2561 โดยระบุว่า GDP ขยายตัว 1.9% สูงกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นซึ่งอยู่ที่ 1.4% โดยได้แรงหนุนความแข็งแกร่งของตัวเลขการใช้จ่ายด้านทุน

ข้อมูลจากสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นยืนยันว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกนั้น ฟื้นตัวขึ้นในช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค. หลังจากได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติหลายครั้ง ซึ่งเป็นเหตุให้เศรษฐกิจหดตัวลงในช่วงเดือนก.ค.-ก.ย.

-- นายฟิลิป แฮมมอนด์ รมว.คลังอังกฤษ กล่าวว่า อังกฤษมีแนวโน้มที่จะชะลอกำหนดการแยกตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) หากรัฐสภาอังกฤษคว่ำข้อเสนอ Brexit ของนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ในการลงมติสัปดาห์หน้า

-- รัฐบาลฝรั่งเศสประกาศเรียกเก็บภาษีดิจิทัล 3% จากบริษัทยักษ์ใหญ่ทางอินเทอร์เน็ต เช่น กูเกิล อเมซอน และเฟซบุ๊ก โดยคาดว่าจะสามารถหารายได้เข้ารัฐได้ราว 500 ล้านยูโร (565 ล้านดอลลาร์) ในแต่ละปี

-- นางแอนเดรีย ลีดซอม ผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมในสภาสามัญชนของอังกฤษ กล่าวยืนยันว่า รัฐสภาอังกฤษจะลงมติต่อข้อตกลงว่าด้วยการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ของนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ในวันที่ 12 มี.ค.

-- ศาลสิ่งแวดล้อมของอินเดีย (NGT) สั่งปรับเป็นเงิน 71.5 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2,275 ล้านบาทต่อบริษัทโฟล์คสวาเกน ผู้ผลิตรถยนต์ของเยอรมนี ในข้อหาทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้รถยนต์ดีเซลที่มีการโกงตัวเลขค่าไอเสียในอินเดีย

ทั้งนี้ โฟล์คสวาเกนจะต้องชำระค่าปรับภายในเวลา 2 เดือน ซึ่งอินเดียจะนำเงินดังกล่าวไปปรับปรุงคุณภาพอากาศในบริเวณที่มีมลพิษสูง

-- นางเซซิเลีย มาล์มสตรอม กรรมาธิการการค้าประจำสหภาพยุโรป (EU) ได้ออกมาเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐ ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจาก EU หากเขาต้องการให้ชาติพันธมิตรช่วยสหรัฐในการกดดันจีนให้ยอมปฏิบัติตามกฎของเศรษฐกิจโลก

-- นายพอล มานาฟอร์ต อดีตผู้จัดการทีมหาเสียงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐ ได้ถูกตัดสินโทษจำคุก 47 เดือนในข้อหาฉ้อโกงภาษีและฉ้อโกงธนาคาร ซึ่งเป็นระยะเวลาการต้องโทษที่สั้นกว่าที่คาดกันไว้

ทั้งนี้ ผู้พิพากษาที.เอส. เอลลิสแห่งศาลแขวงสหรัฐ ได้พิพากษาจำคุกนายมานาฟอร์ต วัย 69 ปี เป็นเวลา 47 เดือน และปรับ 50,000 ดอลลาร์ ในข้อหาฉ้อโกงภาษีและฉ้อโกงธนาคารซึ่งเกี่ยวกับการทำงานของเขาในฐานะเป็นที่ปรึกษาให้กับนักการเมืองยูเครน โดยมีการตัดสินคดีดังกล่าวที่เมืองอเล็กซานเดรีย รัฐเวอร์จิเนียเมื่อวานนี้

-- สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่มีการรายงานเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 3,000 ราย สู่ระดับ 223,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจะทรงตัวที่ระดับ 225,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ประสิทธิภาพในการผลิตของแรงงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.9% ในไตรมาส 4 เมื่อเทียบรายไตรมาส หลังจากที่เพิ่มขึ้น 1.8% ในไตรมาส 3 และพุ่งขึ้น 3.0% ในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2558

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่า มูลค่าสุทธิของชาวอเมริกันร่วงลงมากเป็นประวัติการณ์ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินทั่วโลก โดยได้รับผลกระทบจากการดิ่งลงของตลาดหุ้น ทั้งนี้ มูลค่าสุทธิของชาวอเมริกันลดลงสู่ระดับ 104.3 ล้านล้านดอลลาร์ในไตรมาส 4 โดยลดลง 3.4% หรือ 3.73 ล้านล้านดอลลาร์

-- ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่มีกำหนดรายงานในวันนี้ จีนมีกำหนดการรายงานยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือนก.พ. เวลา 10.00 น. ตามเวลาไทย

สหรัฐเตรียมรายงานตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.พ. และตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนม.ค. เวลา 20.30 น.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ