นักเศรษฐศาสตร์เตือนเม็กซิโกขึ้นค่าแรงกระทบความสามารถในการแข่งขันลดลง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 18, 2019 15:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักเศรษฐศาสตร์จากแบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินซ์ (Bank of America Merrill Lynch: BofAML) เปิดเผยว่า การปรับขึ้นค่าแรงของเม็กซิโก จะส่งผลให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันน้อยลง เว้นแต่ว่าเม็กซิโกจะนำมาตรการที่เหมาะสมมาใช้

นายคาร์ลอส คาปิสตรัน นักเศรษฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญในด้านเศรษฐกิจเม็กซิโกและแคนาดาของ BofAML ออกโรงเตือนถึงเรื่องดังกล่าว หลังจากที่สมาชิกสภานิติบัญญัติอนุมัติข้อเรียกร้องในการปฏิรูปแรงงานจากการเจรจาข้อตกลงสหรัฐอเมริกา-เม็กซิโก-แคนาดา (USMCA) โดยระบุว่า การขึ้นค่าแรงจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อเม็กซิโก

คาปิสตรันระบุในรายงานของว่า ค่าแรงที่อยู่ในระดับต่ำของเม็กซิโกเป็นข้อได้เปรียบเหนือประเทศพันธมิตรอื่นๆในอเมริกาเหนือมาช้านาน เนื่องจากทำให้เม็กซิโกมีต้นทุนการผลิตในระดับต่ำและทำให้ประเทศได้กลายมาเป็น "ขุมพลังของภาคอุตสาหกรรม"

นักเศรษฐศาสตร์รายนี้ กล่าวต่อไปว่า "ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อความได้เปรียบดังกล่าว และสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินเฟ้อภาคบริการ ซึ่งยังคงสูงกว่าเป้าหมาย 3% ที่ธนาคารกลางกำหนด แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลง"

คาปิสตรันเสริมว่า "หากค่าแรงที่สูงขึ้นสะท้อนถึงผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ความเสี่ยงเหล่านี้ก็จะลดลง"

ทั้งนี้ การปฏิรูปแรงงานที่เพิ่งผ่านการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ มีเป้าหมายที่จะทำให้ค่าแรงของประเทศสอดคล้องกับข้อตกลงองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และ USMCA

อย่างไรก็ดี คาปิสตรันตั้งข้อสังเกตว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นมาด้วยความรีบเร่ง เนื่องจากนางแนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐออกมาระบุว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติของสหรัฐไม่ควรให้สัตยาบันต่อ USMCA จนกว่าเม็กซิโกจะปฏิรูปแรงงาน

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า USMCA เป็นข้อตกลงที่ถูกปรับปรุงเพื่อแทนที่ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ซึ่งได้มีการลงนามไปเมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว หลังจากที่เจรจากันมาเป็นเวลากว่า 1 ปี โดยจะมีผลบังคับใช้ต่อเมื่อผ่านรับรองจากประเทศสมาชิกแต่ละประเทศก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ