World Today: สรุปประเด็นน่าติดตามประจำวันที่ 4 กันยายน 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 4, 2019 09:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลง 285.26 จุด หรือ 1.08% เมื่อคืนนี้ หลังจากผลสำรวจบ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของสหรัฐหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี นอกจากนี้ การที่มาตรการตอบโต้ทางภาษีของสหรัฐและจีนเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ยังได้ฉุดหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมและกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลงอย่างหนัก เนื่องจากบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งในสองภาคส่วนนี้มีการลงทุนจำนวนมากในประเทศจีน

-- ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐลดลงสู่ระดับ 49.1 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2559 จากระดับ 51.2 ในเดือนก.ค.

ทั้งนี้ ดัชนีอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ภาวะหดตัวของภาคการผลิตของสหรัฐ ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2559 เนื่องจากภาคธุรกิจมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ส่งผลให้คำสั่งซื้อเพื่อการส่งออกหดตัวลงในเดือนส.ค.

-- สมาชิกรัฐสภาสังกัดพรรคฝ่ายค้านของอังกฤษ รวมทั้งสมาชิก 21 รายที่แปรพักตร์จากพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ประสบความสำเร็จในการลงมติด้วยคะแนนเสียง 328 ต่อ 301 เสียง ในการเข้าควบคุมกระบวนการนิติบัญญัติของรัฐสภา

ความพ่ายแพ้ของพรรครัฐบาลเมื่อวานนี้ จะทำให้ฝ่ายค้านสามารถสกัดความพยายามของนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรี ในการนำอังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ในวันที่ 31 ต.ค. โดยไม่มีการทำข้อตกลง

-- ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ทวีตข้อความกดดันให้จีนรีบทำข้อตกลงการค้ากับสหรัฐ มิฉะนั้นการเจรจาจะยากลำบากมากขึ้น หากเขาชนะการเลือกตั้งในปีหน้า และกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยหนึ่ง

"เรากำลังทำได้ดีในการเจรจาการค้ากับจีน ซึ่งผมมั่นใจว่าพวกเขาต้องการเจรจากับรัฐบาลชุดใหม่เพื่อให้สามารถขูดรีดสหรัฐต่อไป (6 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี) โดยระยะเวลากว่า 16 เดือนถือเป็นเวลานานที่สหรัฐจะต้องสูญเสียการจ้างงาน และบริษัทหลายแห่ง และคิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับจีน ถ้าหากผมชนะการเลือกตั้ง การทำข้อตกลงก็จะยากลำบากมากขึ้น โดยในระหว่างนี้ ห่วงโซ่อุปทานของจีนจะทรุดตัวลง ขณะที่ธุรกิจ การจ้างงาน และเม็ดเงินก็จะหายไปด้วย" ข้อความในทวิตเตอร์ระบุ

ก่อนหน้านี้ ปธน.ทรัมป์เคยกล่าวโจมตีรัฐบาลจีนว่า จีนตั้งใจถ่วงเวลาการเจรจาการค้า เพื่อรอผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปีหน้า

-- สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย (ABS) รายงานในวันนี้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2562 ขยายตัว 0.5% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และดีกว่าไตรมาส 1 ซึ่งมีการขยายตัว 0.4%

หากเทียบเป็นรายปี GDP ไตรมาส 2 ของออสเตรเลียขยายตัว 1.4% ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ แต่ชะลอตัวลงจากไตรมาส 1 ซึ่งมีการขยายตัว 1.8%

-- ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนส.ค.ของจีน ซึ่งมาร์กิตจัดทำร่วมกับไฉซิน อยู่ที่ระดับ 52.1 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 51.6 ในเดือนก.ค.

ดัชนี PMI ที่เคลื่อนไหวเหนือระดับ 50 บ่งชี้ว่า ภาคบริการของจีนมีการขยายตัว ขณะที่ดัชนีที่เคลื่อนไหวต่ำกว่า 50 บ่งชี้ถึงภาวะหดตัวในภาคบริการ

-- กระทรวงพาณิชย์จีน (MOC) เปิดเผยว่า ทางกระทรวงเตรียมเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดสำหรับสารฟีนอลที่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (EU) เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไทย โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย.นี้

แถลงการณ์จากกระทรวงพาณิชย์จีน ระบุว่า การเรียกเก็บภาษีจะมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 5 ปี หลังจากเมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา จีนได้ดำเนินการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดเป็นการชั่วคราวมาแล้ว

ทั้งนี้ เมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์จีนได้เปิดเผยว่า หลังการสืบสวนเบื้องต้นที่เริ่มขึ้นในเดือนมี.ค.เมื่อปีที่แล้ว พบว่า สารฟีนอลที่นำเข้าจากประเทศและภูมิภาคดังกล่าวได้สร้างความเสียหายอย่างมากต่ออุตสาหกรรมของจีน

-- โกลด์แมน แซคส์ได้ปรับเพิ่มแนวโน้มที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) โดยไม่มีการทำข้อตกลง สู่ระดับ 25% จากเดิมที่ระดับ 20% โดยระบุถึงการที่นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ สั่งพักสมัยประชุมสภาเป็นเวลานานกว่า 1 เดือน ก่อนที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU) ในวันที่ 31 ต.ค.

นอกจากนี้ โกลด์แมน แซคส์ยังได้ปรับลดแนวโน้มที่อังกฤษจะไม่แยกตัวออกจาก EU สู่ระดับ 30% จากเดิมที่ระดับ 35%

-- ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 50.3 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2552 จากระดับ 50.4 ในเดือนก.ค. โดยได้รับผลกระทบจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน

นอกจากนี้ มาร์กิตยังเปิดเผยอีกว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ปรับตัวลงสู่ระดับ 48.9 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปลายปี 2558 จากระดับ 49.5 ในเดือนก.ค. ในขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของมาเลเซีย ปรับตัวลงสู่ระดับ 47.4 ในเดือนส.ค. จากระดับ 47.6 ในเดือนก.ค. และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของเวียดนาม ปรับตัวลงสู่ระดับ 51.4 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน จากระดับ 52.6 ในเดือนก.ค.

-- นักวิเคราะห์ระบุว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย และประกาศรื้อฟื้นโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) รอบใหม่ในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 12 ก.ย. เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจยูโรโซน

ตลาดการเงินคาดการณ์ว่า มีแนวโน้ม 80% ที่ ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.20% ในการประชุมสัปดาห์หน้า

ขณะเดียวกัน ยูโรดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 28 เดือนเทียบดอลลาร์เมื่อคืนนี้ จากการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ ECB

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ทวีตข้อความ กล่าวหาธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ว่า เมินเฉยต่อการร่วงลงของยูโร ซึ่งทำให้ประเทศในยุโรปได้เปรียบทางการค้าต่อสหรัฐ

-- จับตาข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่มีกำหนดการเปิดเผยในวันนี้ โดยจีนมาร์กิตเตรียมเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนส.ค.ของฝรั่งเศส, เยอรมนี, อียู และอังกฤษ ด้านอียูเตรียมเปิดเผยยอดค้าปลีกเดือนก.ค. ส่วนสหรัฐจะเปิดเผยยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือนก.ค., ดัชนีภาวะธุรกิจนิวยอร์กเดือนส.ค. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) และรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งตรงกับช่วงเช้าของวันที่ 5 ก.ย. ตามเวลาไทย

ส่วนในวันพรุ่งนี้ เกาหลีใต้จะเปิดเผยดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนก.ค. ออสเตรเลียจะเปิดเผยดุลการค้าเดือนก.ค. เยอรมนีจะเปิดเผยยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนก.ค. และสหรัฐเตรียมเปิดเผยตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนส.ค.จาก ADP, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนส.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคบริการเดือนส.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนก.ค. รวมถึงสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ