เฟดนิวยอร์กชี้มีแนวโน้ม 39% เศรษฐกิจสหรัฐถดถอยช่วง 12 เดือนข้างหน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 6, 2019 23:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์กคาดการณ์ว่า มีแนวโน้ม 39% ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญภาวะถดถอยในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นตัวเลขความเป็นไปได้สูงที่สุดนับตั้งแต่ที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ของสหรัฐสิ้นสุดลงในกลางปี 2552

ทางด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีร่วงลงมากกว่า 0.50% ในเดือนที่แล้ว ขณะที่นักลงทุนพากันหันไปถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งรวมถึง พันธบัตรรัฐบาล และทอง

นักลงทุนมีความวิตกต่อตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐในช่วงนี้

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 130,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 150,000 ตำแหน่ง

ส่วนอัตราการว่างงานยังคงอยู่ที่ระดับ 3.7% สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้ทบทวนปรับลดตัวเลขการจ้างงานในเดือนก.ค. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 159,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าเพิ่มขึ้น 164,000 ตำแหน่ง และทบทวนปรับลดตัวเลขการจ้างงานในเดือนมิ.ย. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 178,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าเพิ่มขึ้น 193,000 ตำแหน่ง

กระทรวงแรงงานสหรัฐระบุว่าในเดือนส.ค. ภาคเอกชนมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 96,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. ขณะที่ภาครัฐจ้างงานเพิ่มขึ้น 34,000 ตำแหน่ง

ทางด้านไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ร่วงลงสู่ระดับ 50.7 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2559 และต่ำกว่าระดับเบื้องต้นที่ 50.9 จากระดับ 53.0 ในเดือนก.ค.

การปรับตัวลงของดัชนี PMI ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่ และการจ้างงาน โดยคำสั่งซื้อใหม่สำหรับการส่งออกปรับตัวลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนม.ค. ขณะที่ร่วงลงรุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 3 ปี ขณะที่อัตราการจ้างงานต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2553 ส่วนความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจร่วงลงเป็นเดือนที่ 7 แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

ขณะเดียวกัน ไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 50.3 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2552 จากระดับ 50.4 ในเดือนก.ค. โดยได้รับผลกระทบจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน

ดัชนี PMI ถูกกดดันจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่ โดยคำสั่งซื้อใหม่เพื่อการส่งออกลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี ขณะที่การจ้างงานทรงตัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ