World Today: สรุปประเด็นน่าติดตามประจำวันที่ 27 พฤษภาคม 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 27, 2020 09:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 500 จุดเมื่อคืนนี้ ขานรับความคืบหน้าในการผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 รวมทั้งสัญญาณที่บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก หลังจากรัฐบาลของประเทศต่างๆเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เพื่อเปิดทางให้ภาคธุรกิจเริ่มกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง โดยปัจจัยดังกล่าวช่วยหนุนหุ้นกลุ่มสายการบินและกลุ่มอุตสาหกรรมดีดตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง

-- โนวาแวกซ์ (Novavax) ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาวัคซีนรายใหญ่ของสหรัฐ แถลงว่า ทางบริษัทได้เริ่มทำการทดลองทางคลินิกเฟสแรกในการใช้วัคซีน NVX-CoV2373 เพื่อต้านไวรัสโควิด-19 โดยคาดว่าจะสามารถทราบผลเบื้องต้นเกี่ยวกับความปลอดภัย และความสามารถในการกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน (immunogenicity) จากการทดลองดังกล่าวในเดือนก.ค.นี้ ทางด้าน Merck ซึ่งเป็นบริษัทยาของสหรัฐ แถลงว่า ทางบริษัทจะร่วมมือกับ IAVI ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ที่ไม่แสวงหาผลกำไร ในการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 โดยจะใช้เทคโนโลยี rVSV ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการผลิตวัคซีนด้านไวรัส Ebola Zaire

-- สหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจเมื่อคืนนี้ โดยกระทรวงพาณิชย์รายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่เพิ่มขึ้นเกือบ 1% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน และสวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่ายอดขายจะดิ่งลง 22%

ขณะที่ผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดีดตัวสู่ระดับ 86.6 ในเดือนพ.ค. จากระดับ 85.7 ในเดือนเม.ย. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 82.3 นอกจากนี้ ผลสำรวจของเอสแอนด์พี คอร์โลจิก เคส ชิลเลอร์ ระบุว่า ดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐพุ่งขึ้น 4.4% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว หลังจากที่เพิ่มขึ้น 4.2% ในเดือนก.พ.

-- GfK ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยตลาดของเยอรมนี เปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคฟื้นตัวขึ้น หลังจากทรุดตัวลงก่อนหน้านี้จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ GfK คาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเยอรมนีสำหรับเดือนมิ.ย.จะปรับตัวขึ้น 4.2 จุด สู่ระดับ -18.9 หลังจากแตะระดับ -23.1 ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

นักวิเคราะห์ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นได้รับแรงหนุนจากการที่รัฐบาลเยอรมนีผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และจะเปิดเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง

-- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานว่า กำไรของบริษัทอุตสาหกรรมจีนร่วงลง 4.3% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี

ส่วนในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ กำไรของบริษัทอุตสาหกรรมจีนทรุดตัวลง 27.4% เทียบรายปี เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

-- Worldometer ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข้อมูลล่าสุดที่มีการรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก ระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกขณะนี้อยู่ที่ 5,683,802 ราย และยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 352,200 ราย

สหรัฐมียอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สูงสุดในโลก (1,725,275) รองลงมาคือบราซิล (394,507), รัสเซีย (362,342), สเปน (283,339), สหราชอาณาจักร (265,227) และอิตาลี (230,555)

นอกจากนี้ สหรัฐยังเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดในโลก (100,572) ตามมาด้วยสหราชอาณาจักร (37,048), อิตาลี (32,955), ฝรั่งเศส (28,530) และสเปน (27,117)

-- องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนว่า ทวีปอเมริกาถือเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดครั้งใหม่ของไวรัสโควิด-19 และเวลานี้ไม่ใช่เวลาที่ประเทศต่างๆจะพิจารณาผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์

นางคาริสซา เอเตียน ผู้อำนวยการ WHO ประจำภูมิภาคอเมริกา และเป็นประธานองค์การอนามัยแพนอเมริกา กล่าวว่า การแพร่ระบาดกำลังมีความรุนแรงขึ้นในบราซิล ซึ่งมีการรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตในสัปดาห์ที่แล้วสูงที่สุดในโลกนับตั้งแต่การแพร่ระบาดเริ่มต้นขึ้น

-- สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ทวิตเตอร์ได้ขึ้นแถบข้อความเตือนเกี่ยวกับข่าวปลอมหรือ "เฟคนิวส์" ใต้ทวีตของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จำนวน 2 ทวีตเมื่อวานนี้ ซึ่งถือเป็นมาตรการใหม่ของโซเชียลมีเดียชื่อดังที่ต้องการตรวจสอบ และป้องกันการแพร่กระจายข่าวปลอมหรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้องต่างๆ

ทั้งนี้ ฟีเจอร์ดังกล่าวได้แสดงข้อความที่ว่า "Get the facts about mail-in ballots" หรือ "อ่านข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการลงคะแนนเลือกตั้งทางไปรษณีย์" เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถคลิกไปอ่านบทความที่มีเนื้อหาถูกต้อง

ด้านโฆษกของทวิตเตอร์ออกมาระบุว่า ทวีตทั้งสองของปธน.ทรัมป์นั้นมีเนื้อหาที่นำไปสู่ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้ง ดังนั้น ทวิตเตอร์จึงได้ขึ้นแถบข้อความเตือน และเพื่อเพิ่มเนื้อหาที่ถูกต้องเกี่ยวกับกระบวนการดังกล่าวแล้ว พร้อมย้ำว่า การตัดสินใจครั้งนี้มีขึ้นตามมาตรการใหม่ที่ทางบริษัทได้ริเริ่มขึ้นเมื่อไม่นานมานี้

-- สื่อต่างประเทศรายงานว่า คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) เตรียมเปิดเผยในวันนี้ถึงแผนการที่จะช่วยให้เศรษฐกิจสหภาพยุโรป (EU) ฟื้นตัวจากจากผลกระทบของโรคโควิด-19 โดยจะจัดสรรเงินช่วยเหลือและเงินกู้วงเงินกว่า 1 ล้านล้านยูโรให้กับประเทศสมาชิก EU

EC ระบุว่า กองทุนดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือประเทศและภาคธุรกิจต่างๆ ใน EU ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และปกป้องตลาดเดียวของ EU ซึ่งมีประชากรราว 450 ล้านคนไม่ให้ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำในด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจและระดับความมั่งคั่ง ขณะที่ EU ฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งรุนแรงที่สุดในปีนี้

EC เปิดเผยว่า จำเป็นต้องจัดตั้งกองทุนดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือด้านเงินกู้ให้กับอิตาลี, กรีซ, ฝรั่งเศส, โปรตุเกส หรือสเปน ซึ่งมีภาระหนี้สินสูง และต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างมาก ซึ่งประเทศเหล่านี้จะเผชิญความยากลำบากมากกว่าประเทศยุโรปอื่นๆ ที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่งกว่าในการเริ่มเปิดเศรษฐกิจอีกครั้งหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย

-- เจ้าหน้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า งบประมาณพิเศษรอบที่สองสำหรับปีงบประมาณ 2563 จะมีมูลค่า 31.91 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 2.96 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ งบประมาณพิเศษซึ่งจะช่วยสนับสนุนมาตรการทางการเงินมูลค่า 117 ล้านล้านเยน เพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น จะได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นภายในวันนี้

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้กล่าวในที่ประชุมเจ้าหน้าที่รัฐบาลและสมาชิกของพรรครัฐบาลในช่วงเช้าวันนี้ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะมีมูลค่ากว่า 230 ล้านล้านเยน หากรวบกับเม็ดเงินในมาตรการต่างๆ ที่ระบุในงบประมาณพิเศษรอบแรกสำหรับปีงบการเงิน 2563 ซึ่งได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา

-- จับตาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในวันนี้ โดยจะมีการเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตเดือนพ.ค.จากเฟดริชมอนด์ และรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) (เช้าวันที่ 28 พ.ค.)

ส่วนในพรุ่งนี้ ธนาคารกลางเกาหลีใต้จะจัดประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย ขณะที่อียูเตรียมเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเดือนพ.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค. และสหรัฐจะเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนเม.ย., ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2563 (ประมาณการครั้งที่ 2), ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนเม.ย. รวมถึงสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ