World Today: ประเด็นข่าวต่างประเทศน่าติดตามวันนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 26, 2021 09:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักลงทุนในตลาดการเงินทั่วโลกจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 27-28 เม.ย.นี้อย่างใกล้ชิด เพื่อจับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

ด้านนักวิเคราะห์คาดว่า เฟดมีแนวโน้มจะบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่งในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 27-28 เม.ย.นี้ แต่ในขณะเดียวกัน เฟดจะยังไม่บ่งชี้ถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน ทั้งนี้ เฟดตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นใกล้ระดับ 0% มาตั้งแต่โรคโควิด-19 เริ่มต้นแพร่ระบาด และเฟดยังคงซื้อสินทรัพย์รายเดือนขั้นต่ำ 1.20 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งทำให้งบดุลบัญชีของเฟดเพิ่มขึ้นสู่ระดับเกือบ 8 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2 เท่าแล้วจากระดับนับตั้งแต่วิกฤตโรคโควิดระบาดได้เริ่มขึ้น

-- นอกเหนือจากการประชุมเฟดแล้ว นักลงทุนยังติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก โดยเฉพาะในอินเดีย ขณะที่รายงานล่าสุดระบุว่า รัฐบาลอินเดียได้ขยายคำสั่งล็อกดาวน์กรุงนิวเดลี โดยคำสั่งดังกล่าวจะมีผลถึงวันที่ 3 พ.ค. เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้อยังคงระบาดไม่หยุด

มุขยมนตรีกรุงเดลี ประกาศวานนนี้ว่า คำสั่งล็อกดาวน์ดังกล่าวจะมีผลถึงวันจันทร์ที่ 3 พ.ค. เวลา 5.00 น. โดยแม้อัตราการพบผู้ติดเชื้อจะลดลง แต่กรุงเดลียังคงขาดแคลนออกซิเจนทางการแพทย์

-- หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ รายงานว่า สหภาพยุโรป (EU) เตรียมเปิดพรมแดนต้อนรับนักท่องเที่ยวจากสหรัฐในฤดูร้อนนี้ แต่ชาวอเมริกันที่จะเดินทางเข้ายุโรปจำเป็นต้องฉีดวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ครบโดสแล้วเท่านั้น

นางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป ให้สัมภาษณ์กับเดอะนิวยอร์กไทมส์ว่า ชาวอเมริกันใช้วัคซีนที่องค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) ให้การยอมรับ โดยประเทศสมาชิกทั้ง 27 ประเทศจะเปิดรับชาวอเมริกันที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วอย่างไม่มีเงื่อนไข อย่างไรก็ดี นางเออร์ซูลายังไม่ได้ให้กรอบเวลาชัดเจนว่าจะอนุญาตให้ชาวอเมริกันเดินทางเข้ายุโรปได้เมื่อใด โดยขณะนี้ทั้งสองฝ่ายกำลังหารือกันว่าจะใช้เครื่องมือใดในการดูว่าชาวอเมริกันคนไหนฉีดวัคซีนครบแล้ว เช่น พาสปอร์ตวัคซีน และใบรับรองการฉีด

-- ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ยักษ์ใหญ่ด้านเภสัชภัณฑ์ของจีน เริ่มทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 และระยะที่ 2 กับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) แบบลูกผสมตัวใหม่แล้ว ในมณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน

วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ตัวใหม่นี้พัฒนาโดยบริษัทไชน่า เนชันนัล ไบโอเทค กรุ๊ป (CNBG) ในเครือซิโนฟาร์ม และได้รับการอนุญาตวิจัยทางคลินิกจากสำนักงานบริหารเวชภัณฑ์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 9 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยเป็นวัคซีนตัวที่ 3 ของบริษัทฯ ที่ได้รับอนุญาตให้ทดลองในมนุษย์

แถลงการณ์จากบริษัทฯ ระบุว่าคณะนักวิจัยได้เริ่มการทดลองทางคลินิกระยะแรกในเมืองซางชิว มณฑลเหอหนาน โดยเป็นการทดลองแบบสุ่ม ปกปิดข้อมูลทั้งสองทาง (double-blind) และควบคุมด้วยยาหลอก (placebo-controlled)

-- นายแพทริก นิป เลขาธิการฝ่ายราชการพลเรือนประจำเขตปกครองพิเศษฮ่องกง (HKSAR) เปิดเผยว่า โครงการ Travel Bubble ระหว่างฮ่องกงกับสิงคโปร์ น่าจะเปิดตัวเร็วๆ นี้

นอกจากนี้ นายแพทริก ยังเปิดเผยผ่านโซเชียลมีเดียด้วยว่า รัฐบาลฮ่องกงยังได้เริ่มสำรวจความเป็นไปได้ในการทำ Travel Bubble กับไทย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ด้วย โครงการ Travel Bubble ดังกล่าวจะใช้มาตรการคุ้มกันอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นระบบตรวจหาโรคโควิด-19 ที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับร่วมกัน กำหนดเที่ยวบินเฉพาะสำหรับผู้โดยสารในโครงการ และกลไกที่ยืดหยุ่นเพื่อใช้ปรับโครงการตามสถานการณ์การแพร่ระบาด

-- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐได้ตัดสินใจยกเลิกคำแนะนำให้ระงับใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (J&J) แล้ว โดยอนุญาตให้เริ่มใช้วัคซีนดังกล่าวได้อีกครั้งสำหรับประชากรวัยผู้ใหญ่ในสหรัฐ

แถลงการณ์ร่วมของ FDA และ CDC ระบุว่า การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่มีการทบทวนด้านความปลอดภัยอย่างละเอียดแล้วซึ่งรวมถึงการประชุมสองครั้งของคณะกรรมการที่ปรึกษาของ CDC เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในการสร้างภูมิคุ้มกัน (ACIP)

FDA ได้ตัดสินใจจากข้อมูลที่มีอยู่ซึ่งแสดงให้เห็นว่า วัคซีนดังกล่าวมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงในการใช้กับประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา FDA และ CDC ได้แนะนำให้ระงับใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของ J&J เนื่องจากมีรายงานพบผู้ป่วย 6 รายเกิดอาการลิ่มเลือดอุดตันรุนแรงหลังจากที่ได้รับวัคซีนดังกล่าว

-- นายคริส ฮิปกินส์ รัฐมนตรีด้านการรับมือโรคโควิด-19 ของนิวซีแลนด์ออกแถลงการณ์ว่า นิวซีแลนด์กำหนดให้อินเดีย, บราซิล, ปาปัวนิวกินี และปากีสถาน เป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงโรคโควิด-19 สูงอย่างมาก เพื่อที่จะลดจำนวนผู้ติดเชื้อที่เดินทางเข้าสู่นิวซีแลนด์ พร้อมเพิ่มความเข้มงวดในพื้นที่บริเวณพรมแดนของประเทศ

"มาตรการนี้มีขึ้นเพื่อรับมือกับอัตราการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายพื้นที่ของโลก โดยอิงกับสถานการณ์ภายในประเทศ, ข้อกังวลเกี่ยวกับความชุกของเชื้อไวรัสชนิดกลายพันธุ์, มาตรการทางสาธารณสุขที่บังคับใช้อยู่ และความเสี่ยงบริเวณพื้นที่พรมแดน" นายฮิปกินส์กล่าว

การจัดกลุ่มประเทศครั้งใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เวลา 23.59 น.ของวันที่ 28 เม.ย.นี้ตามเวลาท้องถิ่นของนิวซีแลนด์ โดยในช่วงแรกประเทศที่ถูกจัดว่ามีความเสี่ยงสูงอย่างมากได้แก่ ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า 50 รายต่อจำนวนผู้ที่เดินทางมายังนิวซีแลนด์จำนวน 1,000 คนในปี 2564 และประเทศที่มีจำนวนผู้เดินทางเฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 15 คน

-- จับตาข้อมูลเศรษฐกิจของประเทศต่างๆในวันนี้ โดยญี่ปุ่นเปิดเผยดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนก.พ. ขณะที่เยอรมนีเตรียมเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนเม.ย.จากสถาบัน Ifo ทางด้านสหรัฐจะเปิดเผยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมี.ค. และดัชนีการผลิตเดือนเม.ย.จากเฟดดัลลัส

ส่วนในวันพรุ่งนี้ เกาหลีใต้เปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2564 , จีนเปิดเผยกำไรภาคอุตสาหกรรมเดือนมี.ค. ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย ทางด้านสหรัฐมีกำหนดเปิดเผยราคาบ้านเดือนก.พ.จากเอสแอด์พี/เคส-ชิลเลอร์ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.จาก Conference Board


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ