ยอดผลิตเครื่องบินโบอิ้ง 737 Max ลดฮวบ หลังโดน FAA ตรวจสอบเข้มงวด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 4, 2024 14:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อวานนี้ (3 เม.ย.) ว่า การผลิตเครื่องบินโดยสารโบอิ้ง (Boeing) รุ่น 737 MAX ลดลงอย่างมากในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐ (FAA) เข้าตรวจสอบโรงงานของโบอิ้งอย่างเข้มงวดมากขึ้น อีกทั้งพนักงานยังชะลอการผลิตนอกเมืองซีแอตเทิลอีกด้วย เพื่อทำงานที่คั่งค้างอยู่ให้แล้วเสร็จ

FAA ได้จำกัดเพดานการผลิตเครื่องบิน 737 MAX ไว้ที่ 38 ลำต่อเดือนหลังเกิดเหตุแผงประตูหลุดกลางอากาศบนเครื่องบินรุ่นดังกล่าวของสายการบินอลาสกา แอร์ไลน์ส (Alaska Airlines) เมื่อเดือนม.ค. ซึ่งเกิดจากข้อผิดพลาดในการประกอบเครื่องบิน อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวระบุว่าอัตราการผลิตเครื่องบินต่อเดือนจริง ๆ น้อยกว่านั้นมาก และในช่วงปลายเดือนมี.ค.ผลิตได้จำนวนเพียงเลขหลักเดียวเท่านั้น

โบอิ้งอ้างอิงถึงความเห็นของนายไบรอัน เวสต์ ซีเอฟโอบริษัทฯ ที่กล่าวไว้เมื่อเดือนที่แล้วว่า โบอิ้งกำลังดำเนินมาตรการอย่างครอบคลุมเพื่อเสริมสร้างคุณภาพและสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งรวมถึงการลดปริมาณงานค้างหรืองานรอดำเนินการ โดยมาตรการนี้เกิดขึ้นในขณะที่ FAA เพิ่มการตรวจสอบมากขึ้น

นายเวสต์กล่าวในงานอีเวนต์ของแบงก์ ออฟ อเมริกา (Bank of America) ว่า FAA "เข้ามามีส่วนร่วมอย่างมาก และดำเนินการตรวจสอบเข้มงวดกว่าที่เราเคยเจอมา"

โบอิ้งยังระบุด้วยว่าได้พยายามลดปริมาณงานค้าง หรือ "travelled work" ซึ่งหมายถึงส่วนประกอบของเครื่องบินที่ผ่านสถานีงานต่าง ๆ มาแล้ว แต่ยังมีจุดที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติม ผลที่ตามมาคือการชะลอตัวของกระบวนการผลิตโดยรวม และส่งผลให้การส่งมอบเครื่องบินล่าช้าออกไปด้วย

ทั้งนี้ ผู้ผลิตเครื่องบินจะได้รับเงินค่าตอบแทนเมื่อส่งมอบเครื่องบินให้แก่ลูกค้า ดังนั้น อัตราการผลิตที่ลดลงจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อระบบอุตสาหกรรมการบินทั้งหมดที่หล่อเลี้ยงซัพพลายเออร์นับพันรายทั่วโลก สายการบินต่าง ๆ อาจจำเป็นต้องลดจำนวนเที่ยวบินลงจากตารางเดิมที่วางไว้ หรือต้องต่อสัญญาเช่าเครื่องบินที่ใช้งานอยู่แล้วออกไป เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของผู้โดยสารได้

การลดกำลังผลิตเครื่องบิน 737 MAX ที่ยืดเยื้ออาจส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตเครื่องยนต์ให้โบอิ้งอย่างซีเอฟเอ็ม อินเตอร์เนชั่นแนล (CFM International) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างจีอี แอโรสเปซ (GE Aerospace) ที่เพิ่งแยกตัวมาเป็นซัพพลายเออร์อิสระ และซาฟราน (Safran) ของฝรั่งเศส

ในฐานะซัพพลายเออร์เครื่องยนต์รายเดียวสำหรับเครื่องบิน MAX ทาง CFM จะได้รับเงินค่าเครื่องยนต์ก็ต่อเมื่อเครื่องบินประกอบเสร็จสมบูรณ์และส่งมอบให้กับสายการบินแล้วเท่านั้น ไม่ใช่เมื่อจัดส่งชิ้นส่วนให้กับโบอิ้งเหมือนกับซัพพลายเออร์ส่วนใหญ่

การที่โบอิ้งต้องชะลอการผลิตลงอย่างมากเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของ FAA นั้น ส่งผลให้แอร์บัส (Airbus) คู่แข่งจากยุโรป สามารถครองส่วนแบ่งตลาดขนาดใหญ่ของเครื่องบินทางเดินเดี่ยว (single-aisle jet) ซึ่งเป็นประเภทที่ขายดีที่สุดได้อย่างง่ายดาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ