ราคาทองฟิวเจอร์ย่อตัว แต่ยังได้แรงหนุนจากดอลล์อ่อน,ความไม่แน่นอนของ G20, Brexit

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 27, 2018 00:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ราคาทองฟิวเจอร์ย่อตัวลงในวันนี้ แต่ยังได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์, ความไม่แน่นอนของผลการประชุม G20 และความเสี่ยงที่รัฐสภาอังกฤษอาจไม่อนุมัติต่อร่างข้อตกลงว่าด้วยการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)

นอกจากนี้ ตลาดยังจับตาถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ในวันพุธนี้

ณ เวลา 00.25 น.ตามเวลาไทย สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. อ่อนตัวลง 0.70 ดอลลาร์ หรือ 0.06% สู่ระดับ 1,222.50 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง จะเพิ่มความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาถูกลงสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น

ณ เวลา 20.49 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.21% สู่ระดับ 96.71

นักลงทุนซื้อขายอย่างระมัดระวัง ขณะที่จับตาประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งมีกำหนดพบปะกันนอกรอบการประชุม G20 ในปลายเดือนนี้ โดยมีการคาดการณ์กันว่าผู้นำทั้งสองจะสามารถเจรจา และแก้ไขความขัดแย้งทางการค้า

โกลด์แมน แซคส์คาดการณ์ว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะพุ่งขึ้นราว 17% ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยได้แรงหนุนจากการประชุม G20 ในวันที่ 30 พ.ย.-1 ธ.ค.

โกลด์แมน แซคส์ระบุว่า ในการประชุม G20 ดังกล่าว ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะมีโอกาสเจรจาแก้ไขความขัดแย้งทางการค้า ขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินจะสามารถหารือนโยบายการผลิตน้ำมันกับมกุฏราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน แห่งซาอุดิอาระเบีย

นายเจฟฟรี คูร์รี นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ กล่าวว่า "ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ได้กดดันตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ในช่วงที่ผ่านมา จะมีโอกาสได้รับการแก้ไขในการประชุม G20"

สำหรับราคาทอง โกลด์แมน แซคส์คาดว่าจะดีดตัวขึ้นจากแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย หากเศรษฐกิจสหรัฐมีการชะลอตัวในปีหน้า

รัฐสภาอังกฤษเตรียมจัดการประชุมเพื่อลงมติต่อร่างข้อตกลง Brexit ซึ่งคาดว่าการประชุมดังกล่าวจะมีขึ้นในวันที่ 11 ธ.ค.นี้

ทางด้านยูเรเซีย กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านความเสี่ยง ระบุว่า มีความเป็นไปได้มากถึง 75% ที่รัฐสภาอังกฤษจะไม่ให้การอนุมัติร่างข้อตกลง Brexit

หากร่างข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากรัฐสภา ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ อาจจะพ้นจากตำแหน่งนายกฯ และอาจทำให้อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU) โดยไร้ซึ่งข้อตกลง ซึ่งจะทำให้อังกฤษอยู่ภายใต้กฎข้อบังคับขององค์การการค้าโลก (WTO) ส่งผลให้มีการปรับเพิ่มภาษีนำเข้า จากเดิมที่อังกฤษเป็นสมาชิกตลาดเดี่ยวของ EU ซึ่งทำให้ไม่ต้องเสียภาษีในการส่งออกและนำเข้าสินค้าภายใน EU

นอกจากนี้ การที่รัฐสภาไม่อนุมัติร่างข้อตกลง Brexit จะทำให้เกิดความปั่นป่วนต่อภาคธุรกิจ ขณะที่รัฐบาลจะขอการอนุมัติจาก EU เพื่อขยายเส้นตายการแยกตัวของอังกฤษจากเดิมในวันที่ 29 มี.ค.ปีหน้า เพื่อให้รัฐบาลมีเวลาในการเจรจากับฝ่ายที่คัดค้าน จนกว่าสภาสามัญชนจะให้การอนุมัติร่างข้อตกลง Brexit

นางเมย์ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐสภาอังกฤษอนุมัติข้อตกลง Brexit โดยเตือนว่า หากรัฐสภาไม่อนุมัติข้อตกลงดังกล่าว ก็จะส่งผลให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และสร้างความไม่แน่นอนให้กับประเทศ

การเรียกร้องของนางเมย์มีขึ้นเพียงไม่นานหลังจากที่ประชุม 27 ชาติสมาชิก EU ได้อนุมัติปฏิญญาว่าด้วยความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่างสหราชอาณาจักรและ EU หลังจากที่สหราชอาณาจักรแยกตัวจาก EU อย่างเป็นทางการในวันที่ 29 มี.ค.ปีหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ