ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองปิดบวก $3.40 รับปัจจัยหนุนจากเงินดอลล์อ่อน,บอนด์ยีลด์ร่วง

ข่าวต่างประเทศ Tuesday November 19, 2019 07:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (18 พ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ปรับตัวลดลง นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังทำให้นักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 3.40 ดอลลาร์ หรือ 0.23% ปิดที่ 1,471.90 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 5.2 เซนต์ หรือ 0.31% ปิดที่ 17.00 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค. เพิ่มขึ้น 50 เซนต์ หรือ 0.06% ปิดที่ 895.00 ดอลลาร์/ออนซ์

ส่วนสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. พุ่งขึ้น 21.90 ดอลลาร์ หรือ 1.3% ปิดที่ 1,704.40 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาทองคำได้รับปัจจัยหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ปรับตัวลดลงเมื่อคืนนี้ โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.27% แตะที่ 97.74 ก่อนที่ตลาดทองคำจะปิดทำการซื้อขายไม่นาน

ทั้งนี้ ดอลลาร์ที่อ่อนค่าได้เพิ่มความน่าดึงดูดของทองคำ เนื่องจากทำให้สัญญาทองคำซึ่งซื้อขายในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐนั้น มีราคาถูกลงสำหรับผู้ที่ถือครองเงินสกุลอื่นๆ

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ร่วงลงสู่ระดับ 1.807% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวลงสู่ระดับ 2.289% ณ เวลา 00.01 น.ตามเวลาไทย

นอกจากนี้ นักลงทุนยังเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากสำนักข่าว CNBC รายงานว่า จีนได้แสดงความไม่พอใจต่อการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กล่าวว่าจะไม่มีการยกเลิกการเก็บภาษีสินค้าจีน ซึ่งจีนมองว่าทั้งสองฝ่ายเคยตกลงกันในเรื่องนี้แล้ว

ทั้งนี้ การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังคงเผชิญอุปสรรคจากการที่สหรัฐเรียกร้องให้จีนซื้อสินค้าเกษตรมากขึ้น ขณะที่จีนปฏิเสธเงื่อนไขของสหรัฐที่ต้องการให้จีนยุติการบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี และจีนยังเรียกร้องให้สหรัฐระงับการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ก่อนที่จะมีการทำข้อตกลงการค้าเฟสแรก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ