ราคาทองดิ่งนิวโลว์ 9 เดือน ใกล้หลุด $1,680 ดอลล์แข็ง,บอนด์ยีลด์พุ่งทุบตลาด

ข่าวต่างประเทศ Monday March 8, 2021 22:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ราคาทองดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ใกล้หลุดระดับ 1,680 ดอลลาร์ โดยได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หลังจากที่วุฒิสภาสหรัฐได้ลงมติเห็นชอบต่อร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน

ทั้งนี้ ราคาทองสปอตดิ่งลงแตะระดับ 1,683.68 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย.2563

ส่วนราคาทองในตลาดฟิวเจอร์ ณ เวลา 22.38 น.ตามเวลาไทย สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 14.80 ดอลลาร์ หรือ 0.87% สู่ระดับ 1,683.70 ดอลลาร์/ออนซ์

ทั้งนี้ การดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ จะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย

นักวิเคราะห์ระบุว่า การดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะดึงดูดให้นักลงทุนหันเข้าซื้อพันธบัตร ขณะที่เทขายทอง ในการปรับพอร์ตการลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์ปลอดภัย

นอกจากนี้ ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นจะลดความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น

ทั้งนี้ วุฒิสภาสหรัฐมีมติด้วยคะแนนเสียง 50 ต่อ 49 ผ่านร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยร่างกฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับนี้ ประกอบด้วยงบประมาณ 4 แสนล้านดอลลาร์เพื่อแจกจ่ายให้กับชาวอเมริกันคนละ 1,400 ดอลลาร์ โดยเป็นการให้เงินช่วยเหลือครั้งเดียว นอกจากนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวยังรวมถึงมาตรการช่วยเหลือคนว่างงานต่อเนื่องสัปดาห์ละ 300 ดอลลาร์ โดยครอบคลุมชาวอเมริกันราว 9.5 ล้านรายที่ตกงานอันเนื่องจากผลกระทบของโควิด-19

วุฒิสภาสหรัฐจะส่งกลับร่างกฏหมายที่อนุมัติแล้วให้สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐพิจารณาทบทวนในวันพรุ่งนี้ ซึ่งหากผ่านการอนุมัติ ก็จะส่งต่อไปยังปธน.ไบเดนเพื่อลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไปก่อนวันที่ 14 มี.ค. ซึ่งเป็นวันที่มาตรการช่วยเหลือผู้ว่างงานในปัจจุบันจะหมดอายุลง

นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 16-17 มี.ค. เพื่อดูท่าทีของเฟดต่อแนวโน้มการดีดตัวขึ้นของเงินเฟ้อจากการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ รวมทั้งการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ