สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี (1 พ.ค.) หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ขู่ว่าจะคว่ำบาตรอิหร่าน ภายหลังจากการเจรจานิวเคลียร์รอบที่สี่ระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านถูกเลื่อนออกไป
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 1.03 ดอลลาร์ หรือ 1.77% ปิดที่ 59.24 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 1.07 ดอลลาร์ หรือ 1.75% ปิดที่ 62.13 ดอลลาร์/บาร์เรล
ปธน.ทรัมป์โพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์ม Truth Social เมื่อวานนี้ว่า การซื้อน้ำมันหรือผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจากอิหร่านทั้งหมดจะต้องยุติลง และประเทศหรือบุคคลใดที่ซื้อสินค้าเหล่านี้จากอิหร่านจะถูกคว่ำบาตรขั้นทุติยภูมิ (secondary sanction)
คำขู่ดังกล่าวมีขึ้น หลังจากเอสมาอิล บาเกอี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านกล่าวว่า การเจรจานิวเคลียร์รอบที่สี่ระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันเสาร์นี้ที่กรุงโรม ถูกเลื่อนออกไปตามข้อเสนอของโอมาน ขณะที่กำหนดวันเจรจาใหม่จะมีการประกาศให้ทราบต่อไปในภายหลัง
ทั้งนี้ โอมานทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ เพื่อช่วยลดความเห็นต่างระหว่างทั้งสองประเทศ และส่งเสริมเสถียรภาพในภูมิภาค โดยการเจรจารอบแรกและรอบที่สามระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ จัดขึ้นที่กรุงมัสกัต เมืองหลวงของโอมาน เมื่อวันที่ 12 และ 26 เม.ย. ส่วนการเจรจารอบที่สองจัดขึ้นในกรุงโรม เมื่อวันที่ 19 เม.ย.
นักวิเคราะห์จากบริษัท Lipow Oil Associates คาดการณ์ว่า หากรัฐบาลทรัมป์บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรขั้นทุติยภูมิกับประเทศที่ซื้อน้ำมันจากอิหร่านตามคำขู่ ก็จะส่งผลให้อุปทานน้ำมันในตลาดโลกลดลงประมาณ 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน
นักลงทุนจับตาความเคลื่อนไหวของซาอุดีอาระเบีย หลังจากสื่อรายงานว่าซาอุดีอาระเบียไม่เต็มใจที่จะพยุงตลาดน้ำมันด้วยการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติม นอกจากนี้ ซาอุดีอาระเบียยืนยันว่าสามารถรับมือกับภาวะราคาน้ำมันต่ำเป็นเวลานานได้ นับเป็นการส่งสัญญาณว่าซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกอาจจะเปลี่ยนจุดยืนไปเป็นการผลิตน้ำมันเพิ่ม เพื่อที่จะชิงส่วนแบ่งตลาดกลับคืนมา
นอกจากนี้ นักลงทุนจับตาการประชุมของสมาชิก 8 ประเทศของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ในวันที่ 5 พ.ค. โดยที่ประชุมจะตัดสินใจเกี่ยวกับการกำหนดกำลังการผลิตในเดือนมิ.ย.
ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า สมาชิกหลายประเทศของโอเปกพลัสต้องการให้เพิ่มการผลิตน้ำมันในเดือนมิ.ย. ซึ่งจะเป็นการเพิ่มการผลิตเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน