สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพุธ (14 พ.ค.) หลังสหรัฐฯ เปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบพุ่งขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง ซึ่งทำให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 52 เซนต์ หรือ 0.82% ปิดที่ 63.15 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 54 เซนต์ หรือ 0.81% ปิดที่ 66.09 ดอลลาร์/บาร์เรล
ราคาน้ำมันปรับตัวลง หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 3.4 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 2.0 ล้านบาร์เรล
ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับที่สถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) รายงานก่อนหน้านี้ว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 4.3 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 9 พ.ค.
นอกจากนี้ การแข็งค่าของดอลลาร์ยังส่งผลให้ราคาน้ำมันซึ่งกำหนดราคาเป็นสกุลเงินดอลลาร์นั้น มีราคาที่ไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ โดยดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวขึ้น 0.03% แตะที่ระดับ 101.037
กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) เปิดเผยรายงานภาวะตลาดน้ำมันประจำเดือนพ.ค. โดยระบุว่า อุปสงค์น้ำมันโลกจะมีการขยายตัว 1.3 ล้านบาร์เรล/วันทั้งในปี 2568 และ 2569 โดยไม่เปลี่ยนแปลงจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนเม.ย.
รายงานระบุว่า คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 105 ล้านบาร์เรล/วันในปี 2568 โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการเดินทางทั้งทางรถยนต์และเครื่องบินที่แข็งแกร่ง รวมทั้งกิจกรรมในภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้าง และการเกษตรในประเทศที่อยู่นอกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ขณะที่การเพิ่มกำลังการผลิตและอัตรากำไรของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในประเทศนอกกลุ่ม OECD ดังกล่าว ก็มีแนวโน้มที่จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันเช่นกัน
นอกจากนี้ โอเปกได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2568 สู่ระดับ 2.9% จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 3.0% แต่ได้คงตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2569 ที่ระดับ 3.1%