ราคาน้ำมัน WTI ร่วงลงใกล้หลุดระดับ 67 ดอลลาร์ ขณะที่นักลงทุนกังวลว่ามาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และความต้องการใช้น้ำมันในตลาด
ณ เวลา 20.50 น.ตามเวลาไทย ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนส.ค. ลบ 0.32 ดอลลาร์ หรือ 0.48% สู่ระดับ 67.02 ดอลลาร์/บาร์เรล
นายโฮเวิร์ด ลุตนิก รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐ กล่าวว่า วันที่ 1 ส.ค. ถือเป็นกำหนดเส้นตายสำหรับประเทศต่าง ๆ ที่จะต้องเริ่มชำระภาษีศุลกากรให้กับสหรัฐ
"นี่เป็นเส้นตายที่ชัดเจน ดังนั้น ในวันที่ 1 ส.ค. อัตราภาษีใหม่จะมีผลบังคับใช้" นายลุตนิกกล่าวอย่างไรก็ดี นายลุตนิกกล่าวเสริมว่า "ไม่มีอะไรที่จะมาหยุดยั้งประเทศเหล่านี้จากการเจรจากับเราหลังวันที่ 1 ส.ค. แต่พวกเขาจะต้องเริ่มจ่ายภาษีตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค."
นายลุตนิกยังระบุว่า ประเทศขนาดเล็ก เช่น ประเทศลาตินอเมริกา ประเทศในแถบแคริบเบียน และอีกหลายประเทศในแอฟริกา จะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราขั้นต่ำ 10% ส่วนประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่จะต้องเลือกว่าจะเปิดตลาดของตนเอง หรือจะยอมจ่ายภาษีที่เป็นธรรมให้กับสหรัฐ
นอกจากนี้ นักลงทุนคาดการณ์ว่า การที่สหภาพยุโรป (EU) ออกมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ต่อรัสเซีย จะไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อปริมาณน้ำมันในตลาด
ทั้งนี้ EU บรรลุข้อตกลงในการออกมาตรการคว่ำบาตรครั้งที่ 18 ต่อรัสเซียเพื่อตอบโต้กรณีรุกรานยูเครน โดยมาตรการใหม่นี้มีเป้าหมายเพื่อส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำมันและพลังงานของรัสเซีย โดยจะลดเพดานราคาน้ำมันดิบรัสเซียที่กลุ่ม G7 กำหนดไว้ เหลือเพียง 47.6 ดอลลาร์/บาร์เรล
ขณะเดียวกัน EU จะระงับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปทุกชนิดที่ผลิตจากน้ำมันดิบของรัสเซีย แต่จะไม่ครอบคลุมถึงการนำเข้าจากนอร์เวย์ สหราชอาณาจักร สหรัฐ แคนาดา และสวิตเซอร์แลนด์