ราคาน้ำมัน WTI ดีดตัวเกือบ 1% หลังโอเปกลดการผลิตในเดือนธ.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 18, 2019 22:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ดีดตัวขึ้นเกือบ 1% ในวันนี้ หลังมีรายงานระบุว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ได้ปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันในเดือนธ.ค. ซึ่งทำให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด

ตลาดซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ของสหรัฐจะปิดทำการในวันจันทร์หน้า เนื่องในวันมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์

ณ เวลา 21.44 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนก.พ. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX เพิ่มขึ้น 0.50 เซนต์ หรือ 0.96% สู่ระดับ 52.57 ดอลลาร์/บาร์เรล

ราคาน้ำมัน WTI ทะยานขึ้นราว 2% ในสัปดาห์นี้ โดยเป็นการปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 3

โอเปกออกรายงานประจำเดือนม.ค.ระบุว่า การผลิตน้ำมันของโอเปกลดลง 751,000 บาร์เรล/วันในเดือนธ.ค. สู่ระดับ 31.6 ล้านบาร์เรล/วัน

เมื่อเดือนที่แล้ว โอเปกและกลุ่มประเทศนอกโอเปก นำโดยรัสเซีย เห็นพ้องกันที่จะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 1.2 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนนี้ เพื่อป้องกันการทรุดตัวของราคาน้ำมัน

ซาอุดีอาระเบียเป็นผู้นำในการปรับลดการผลิตของโอเปก โดยลดลง 468,000 บาร์เรล/วัน สู่ระดับ 10.5 ล้านบาร์เรล/วัน และซาอุดีอาระเบียมีเป้าหมายในการปรับลดการผลิตลงสู่ระดับ 10.2 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนนี้

ขณะเดียวกัน การผลิตน้ำมันของลิเบียลดลง 172,000 บาร์เรล/วัน สู่ระดับ to 928,000 บาร์เรล/วัน ส่วนการผลิตน้ำมันของอิหร่านลดลง 159,000 บาร์เรล/วัน สู่ระดับต่ำกว่า 2.8 ล้านบาร์เรล/วัน และขณะนี้อิหร่านกลายเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันมากเป็นอันดับ 5 ของโอเปก จากเดิมอยู่ที่อันดับ 3 โดยได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้ปัจจัยบวกจากการที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน

หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า คณะทำงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังหารือกันเกี่ยวกับการผ่อนคลายมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ซึ่งอาจจะเป็นการยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าบางประเภทหรืออาจจะยกเลิกทั้งหมด โดยมีเป้าหมายที่จะลดความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสองประเทศ รวมทั้งเป็นการโน้มน้าวให้จีนยอมทำข้อตกลงการค้าทวิภาคี และเพื่อสร้างเสถียรภาพในตลาดการเงิน หลังจากที่ตลาดประสบกับความผันผวนอย่างหนักในช่วงก่อนหน้านี้ อันเนื่องมาจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐและจีน

อย่างไรก็ดี ช่วงบวกในตลาดถูกจำกัดจากการที่สหรัฐเพิ่มการผลิตน้ำมัน ท่ามกลางอุปสงค์ที่อ่อนแอ

สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ระบุว่า สหรัฐมีแนวโน้มผลิตน้ำมันมากกว่า 12 ล้านบาร์เรล/วันในปีนี้ และจะเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันสุทธิในปี 2563

ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันยังคงถูกกดดันจากปัจจัยการเมืองในสหรัฐ รวมทั้งความอ่อนแอของเศรษฐกิจจีน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ