ราคาน้ำมัน WTI ดิ่งกว่า 5% ใกล้หลุด 62 ดอลลาร์ หลากปัจจัยรุมถล่มตลาด

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 19, 2021 22:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ดิ่งลงอย่างต่อเนื่องในวันนี้ ล่าสุดทรุดตัวกว่า 5% ใกล้หลุดระดับ 62 ดอลลาร์ในวันนี้ หลังสหรัฐเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าลดลง

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังถูกกดดัน หลังมีรายงานว่า อิหร่านอาจกลับมาส่งออกน้ำมันอีกครั้ง รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์น้ำมันที่ลดลงในเอเชีย และการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ณ เวลา 22.05 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX ดิ่งลง 3.46 ดอลลาร์ หรือ 5.28% สู่ระดับ 62.03 ดอลลาร์/บาร์เรล

สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 2.9 ล้านบาร์เรล

สถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันของสหรัฐ เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐเพิ่มขึ้น 620,000 บาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว

EIA ยังเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบที่เมืองคูชิง รัฐโอกลาโฮมา ซึ่งเป็นจุดส่งมอบสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าของสหรัฐ ลดลง 100,000 บาร์เรล

ส่วนสต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 2 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 600,000 บาร์เรล

นอกจากนี้ สต็อกน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล ลดลง 2.3 ล้านบาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 200,000 บาร์เรล

สื่อรายงานว่า การเจรจาระหว่างสหรัฐและอิหร่านเกี่ยวกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยสหรัฐและอิหร่านได้เจรจาทางอ้อมที่กรุงเวียนนาเกี่ยวกับข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2558 ซึ่งเป็นข้อตกลงที่รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ถอนตัวก่อนหน้านี้

แหล่งข่าวระบุว่า อิหร่านและสหรัฐได้เจรจากันทางอ้อมนับตั้งแต่ต้นเดือนนี้ โดยมีอังกฤษ จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี และรัสเซีย ซึ่งเป็นชาติสมาชิกในข้อตกลงทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจา ซึ่งหากการเจรจายังคงมีความคืบหน้าต่อไป ก็อาจมีการบรรลุข้อตกลงในเดือนนี้ โดยสหรัฐจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านเพื่อแลกกับการที่อิหร่านปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์

นอกจากนี้ นักลงทุนยังกังวลว่าการพุ่งขึ้นของตัวเลขเงินเฟ้ออาจกดดันให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ รวมทั้งลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)

ขณะเดียวกัน นักลงทุนยังวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในเอเชีย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันในประเทศ

ทั้งนี้ สิงคโปร์รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศที่พุ่งสูงสุดในรอบหลายเดือน ขณะที่ไต้หวันเปิดเผยจำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้ทั้งสองประเทศประกาศมาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาด

นอกจากนี้ มีรายงานว่ายอดขายน้ำมันเบนซินและดีเซลของโรงกลั่นในอินเดียดิ่งลง 20% ในช่วงครึ่งเดือนแรกนี้ เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว หลังการใช้มาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งได้กระทบการบริโภคน้ำมันในอินเดีย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ