ภาวะตลาดน้ำมันน้ำมัน WTI ปิดลบ $1.37 เหตุดอลล์แข็ง-วิตกภาคการผลิตจีนหดตัว

ข่าวต่างประเทศ Thursday June 1, 2023 06:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพุธ (31 พ.ค.) โดยตลาดถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และดัชนีภาคการผลิตของจีนที่หดตัวลงมากกว่าคาด ซึ่งทำให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ของโลก

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 1.37 ดอลลาร์ หรือ 1.97% ปิดที่ 68.09 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 88 เซนต์ หรือ 1.20% ปิดที่ 72.66 ดอลลาร์/บาร์เรล

ข้อมูลจาก Dow Jones Market Data ระบุว่า ตลอดทั้งเดือนพ.ค. สัญญาน้ำมัน WTI ร่วงลงทั้งสิ้น 11.3% และสัญญาน้ำมันเบรนท์ปรับตัวลงทั้งสิ้น 8.7%

สัญญาน้ำมันดิบร่วงลงเมื่อคืนนี้ หลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนพ.ค.ของจีน อยู่ที่ระดับ 48.8 ลดลงจากระดับ 49.2 ในเดือนเม.ย. โดยดัชนีที่อยู่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนเข้าสู่ภาวะหดตัว และเป็นการหดตัวที่รุนแรงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 49.4

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ดีดตัวขึ้น 0.16% แตะที่ระดับ 104.3344 เมื่อคืนนี้ โดยการแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้นและไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ

นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกกังวลว่าข้อมูลแรงงานสหรัฐที่มีการเปิดเผยล่าสุดเมื่อคืนนี้ อาจจะผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน

ทั้งนี้ สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน เพิ่มขึ้น 358,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 10.1 ล้านตำแหน่งในเดือนเม.ย. สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 9.375 ล้านตำแหน่ง หลังจากปรับตัวลงติดต่อกัน 3 เดือน

นักลงทุนจับตาสภาคองเกรสสหรัฐซึ่งจะทำการลงมติร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้ที่มีชื่อว่า "พ.ร.บ.ความรับผิดชอบทางการคลัง" (Fiscal Responsibility Act) ในวันนี้ (1 มิ.ย.) เวลา 07.30 น.ตามเวลาไทย

หากสภาผู้แทนราษฎรให้การรับรองร่างกฎหมายดังกล่าว ก็จะส่งต่อเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาสหรัฐ และหากวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ ก็จะส่งต่อให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ลงนามเป็นกฎหมายเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป โดยกระบวนการผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้จะต้องเสร็จสิ้นก่อนเส้นตายวันที่ 5 มิ.ย. มิฉะนั้นสหรัฐจะเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ครั้งประวัติศาสตร์

นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตารายงานสต็อกน้ำมันดิบจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ในวันนี้ รวมทั้งการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ในวันที่ 4 มิ.ย.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ