"เฟซบุ๊ก" เผยผู้ใช้งาน 2 พันล้านคนทั่วโลกอาจถูกล้วงข้อมูลส่วนตัวผ่านเครื่องมือค้นหา

ข่าวเทคโนโลยี Thursday April 5, 2018 13:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เฟซบุ๊กเปิดเผยว่า บุคคลภายนอกได้มีการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือค้นหาบนเฟซบุ๊ก เพื่อใช้เก็บข้อมูลส่วนบุคคลจากผู้ใช้งานราว 2 พันล้านคนทั่วโลก โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของบัญชี

ไมค์ ชโรปเฟอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของเฟซบุ๊ก เปิดเผยผ่านบล็อกว่า ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กส่วนใหญ่จากทั้งหมดราว 2 พันล้านคน อาจถูก "ผู้ไม่หวังดี" ล้วงข้อมูลส่วนบุคคลไป

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้น หลังเฟซบุ๊กได้ออกมายอมรับอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับความพยายามในการควบคุมข้อมูลที่เฟซบุ๊กได้รับจากผู้ใช้งาน นอกจากนี้ เฟซบุ๊กยังเปิดเผยด้วยว่า บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลแคมบริดจ์ อนาลิติกา ซึ่งได้รับการว่าจ้างโดยทีมหาเสียงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ล้วงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานไปราว 87 ล้านคน มากกว่าที่สื่อเคยรายงานไว้ที่ราว 50 ล้านคน

ล่าสุดเมื่อคืนนี้ คณะกรรมาธิการฝ่ายพลังงานและพาณิชย์ประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐแถลงว่า นายมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟซบุ๊ก จะเข้าให้การต่อทางคณะกรรมาธิการกรณีข้อมูลรั่วไหลดังกล่าวในวันที่ 11 เม.ย.

นายเกรก วอลเดน ประธานคณะกรรมาธิการพลังงานและพาณิชย์ของสหรัฐฯ สังกัดพรรครีพับลิกัน และนายแฟรงค์ พาลโลน จากพรรคเดโมแครต ระบุในแถลงการณ์ว่า "การเข้าให้การดังกล่าวจะเป็นโอกาสครั้งสำคัญ ที่จะทำให้ประเด็นด้านความเป็นส่วนตัวในข้อมูลผู้บริโภคนั้นเป็นที่เข้าใจมากขึ้น และช่วยให้ชาวอเมริกันทุกคนเข้าใจว่าข้อมูลส่วนตัวที่อยู่บนโลกออนไลน์นั้นนำไปทำอะไรได้บ้าง"

ด้านนายซัคเคอร์เบิร์ก เปิดเผยว่า ตนยินดีที่จะเข้าให้การต่อสภาคองเกรส นอกจากนี้ รายงานข่าวยังระบุว่า เฟซบุ๊กยังได้จ้างทีมงานเพื่อตรวจสอบว่าแคมบริดจ์ อนาลิติกา ยังมีข้อมูลผู้ใช้งานหลงเหลืออยู่หรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ