"กูเกิล" เตรียมใช้ดาวเทียมดวงใหม่ตรวจจับแหล่งปล่อยก๊าซมีเทน

ข่าวเทคโนโลยี Thursday February 15, 2024 13:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กูเกิล ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา ประกาศสร้างความร่วมมือกับกองทุนปกป้องสิ่งแวดล้อม (Environmental Defense Fund) เมื่อวันพุธ (14 ก.พ.) เพื่อเปิดเผยแหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซมีเทนจากการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซ โดยใช้ดาวเทียมดวงใหม่ในการตรวจจับ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ดาวเทียม "มีเทนแซต" (MethaneSAT) จะถูกยิงขึ้นสู่ห้วงอวกาศในเดือนหน้า โดยเป็นหนึ่งในดาวเทียมหลายดวงที่นำมาใช้ติดตามการปล่อยก๊าซมีเทนทั่วโลก เพื่อระบุแหล่งที่มาสำคัญของการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยภารกิจดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือระหว่างกองทุนปกป้องสิ่งแวดล้อม องค์การอวกาศแห่งนิวซีแลนด์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และพันธมิตรอีกหลายราย

กูเกิลจะทำแผนที่ของโครงสร้างพื้นฐานการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซ โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการระบุส่วนประกอบต่าง ๆ เช่น ถังน้ำมัน จากนั้นข้อมูลการปล่อยก๊าซมีเทนที่เก็บรวบรวมโดยดาวเทียมมีเทนแซตจะถูกวางทับซ้อนกับกูเกิลแมป เพื่อระบุว่าอุปกรณ์ขุดเจาะน้ำมันและก๊าซชนิดใดมีแนวโน้มปล่อยก๊าซมีเทนมากที่สุด

ข้อมูลดังกล่าวจะสามารถเข้าถึงได้ผ่านทางกูเกิลเอิร์ทเอนจิน (Google Earth Engine) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการวิเคราะห์ทางภูมิศาสตร์ ในช่วงปลายปีนี้ โดยเปิดให้บริการฟรีสำหรับนักวิจัย องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร และสำนักข่าวต่าง ๆ

"เราคิดว่าข้อมูลนี้มีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับบริษัทพลังงาน นักวิจัย และภาครัฐ ในการคาดการณ์และลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากแหล่งที่มีความเสี่ยงสูงสุด" นายยาเอล แมไกวร์ รองประธานฝ่ายความยั่งยืนทางภูมิศาสตร์ของกูเกิล กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ