ทางการอินโดนีเซียยืนยันว่า ประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต จะเดินทางไปยังนครรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดของกลุ่ม BRICS ในสัปดาห์หน้า แม้ว่าประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน จะไม่เข้าร่วมการประชุมก็ตาม
"การมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่รัฐบาลอินโดนีเซียขึ้นอยู่กับความสำคัญสูงสุดและผลประโยชน์ของชาติของเรา ไม่ว่าจะมีผู้นำประเทศอื่น ๆ เข้าร่วมการประชุมหรือไม่ สิ่งนั้นจะไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจของเรา" เจ้าหน้าที่กล่าว
ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่ปธน.ปราโบโวปรากฎตัวในการประชุมกลุ่ม BRICS นับตั้งแต่ที่อินโดนีเซียได้รับการอนุมัติให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา โดยบราซิลจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในวันที่ 6-7 ก.ค.
นายยูริ อูชาคอฟ ที่ปรึกษาต่างประเทศของทำเนียบเครมลิน เปิดเผยว่า ปธน.ปูตินจะเข้าร่วมการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เนื่องจากศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ออกหมายจับปธน.ปูตินก่อนหน้านี้
ส่วนปธน.สี จิ้นผิงจะไม่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งจะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2556 หรือเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี
นายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน จะเป็นผู้นำคณะผู้แทนจีนเข้าร่วมการประชุม BRICS ในครั้งนี้ หลังจากที่เขาเคยเป็นตัวแทนของจีนในการประชุม G20 ที่กรุงนิวเดลีในปี 2566
ทางการจีนแจ้งสาเหตุของการที่ปธน.สีไม่สามารถเข้าร่วมการประชุม BRICS ในครั้งนี้เนื่องจากติดภารกิจอื่น อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่บราซิลมองว่าอาจมีเหตุผลอื่นอยู่เบื้องหลัง โดยรายงานของสื่อระบุว่า จีนมองว่าการที่บราซิลเชิญนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำแบบรัฐพิธี อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ปธน.สีตัดสินใจไม่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว เพราะการที่ประธานาธิบดีลูอิซ อีนาซีโอ ลูลา ดา ซิลวา ผู้นำบราซิล และนายโมดีได้รับความสนใจในการประชุมครั้งนี้ อาจทำให้ปธน.สีกลายเป็นเพียง "ตัวประกอบ" ในการประชุม
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่บราซิลแสดงความไม่พอใจต่อการที่ปธน.สีตัดสินใจไม่เข้าร่วมการประชุม โดยแหล่งข่าวระดับสูงในกรุงบราซิเลียเปิดเผยต่อ SCMP ว่า ปธน.ลูลาได้เดินทางเยือนกรุงปักกิ่งในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาเพื่อแสดงไมตรีจิต และคาดหวังว่าปธน.สีจะตอบรับด้วยการเข้าร่วมประชุม BRICS ที่นครรีโอเดจาเนโรด้วยตนเอง
ด้านเจ้าหน้าที่จีนระบุว่า ปธน.สีและปธน.ลูลาได้พบปะกันมาแล้วถึง 2 ครั้งในช่วงที่ผ่านมา จากการที่ปธน.สีได้เยือนกรุงบราซิเลียในเดือนพ.ย.2566 และในการประชุม China-CELAC ที่กรุงปักกิ่งในเดือนพ.ค.2567 ทำให้จีนมองว่าการพบกันตัวต่อตัวระหว่างปธน.สีและปธน.ลูลาอีกครั้งอาจไม่มีความจำเป็น
อย่างไรก็ตาม บราซิลยังคงมองว่าการไม่เข้าร่วมของปธน.สีถือเป็นการไม่ให้ความสำคัญของจีน โดยนายเซลโซ อาโมริม ที่ปรึกษาพิเศษด้านกิจการระหว่างประเทศของปธน.ลูลา ได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาหารือกับนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา โดยนายอาโมริมกล่าวว่า "BRICS ที่ไม่มีจีน ก็ไม่ใช่ BRICS และในการประชุม BRICS ปี 2553 ปธน.หู จิ่นเทา ก็ยังเข้าร่วมการประชุม แม้จะอยู่แค่วันเดียว แต่เขาก็ยังมา"
ทั้งนี้ การไม่ปรากฎตัวของปธน.สีในครั้งนี้อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของความแตกแยกภายใน BRICS โดยเฉพาะในขณะที่จีนและอินเดียต่างกำลังแสดงบทบาทผู้นำระดับโลก และบราซิล ซึ่งต้องรักษาความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่าย ก็เริ่มรับรู้ถึงแรงกดดันดังกล่าว