รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้เริ่มต้นการปรับโครงสร้างบุคลากรทางการทูตครั้งใหญ่ โดยในวันศุกร์ (11 ก.ค.) กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้ดำเนินการปลดพนักงานในประเทศมากกว่า 1,350 คน ซึ่งนักวิจารณ์มองว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่อาจบั่นทอนศักยภาพของสหรัฐฯ ในการปกป้องและส่งเสริมผลประโยชน์ของตนในต่างแดน
มาตรการปลดพนักงานดังกล่าวส่งผลกระทบต่อข้าราชการพลเรือน 1,107 คน และเจ้าหน้าที่บริการทางการทูตอีก 246 คน ทั้งหมดปฏิบัติงานอยู่ภายในประเทศ โดยเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตระดับนานาชาติหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน ความขัดแย้งในฉนวนกาซาที่ยืดเยื้อมานานเกือบสองปี และความตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน
วุฒิสมาชิกทิม เคน จากพรรคเดโมแครตในรัฐเวอร์จิเนียระบุว่า การปลดเจ้าหน้าที่ครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศอย่างชัดเจน เขาตั้งข้อสังเกตว่าในขณะที่จีนกำลังเร่งขยายอิทธิพลด้านการทูตและสร้างเครือข่ายฐานทัพในต่างประเทศ รัสเซียยังคงเดินหน้ารุกรานประเทศอื่น ๆ และตะวันออกกลางกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตซ้ำซาก รัฐบาลสหรัฐฯ กลับเลือกที่จะลดจำนวนเจ้าหน้าที่ทางการทูตของตน
จากบันทึกภายในที่กระทรวงส่งถึงพนักงาน ระบุว่าการปรับลดบุคลากรครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับปรุงกระบวนการภายในให้สอดคล้องกับพันธกิจด้านการทูต โดยเน้นตัดลดหน่วยงานที่ไม่ใช่ภารกิจหลัก หรือมีงานซ้ำซ้อน และที่สามารถหาทางเพิ่มประสิทธิภาพได้
การปรับลดดังกล่าวจะทำให้จำนวนพนักงานภายในประเทศลดลงเกือบ 3,000 คน หากรวมกับผู้ที่ลาออกโดยสมัครใจ โดยจากข้อมูลของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงการต่างประเทศ ปัจจุบันมีพนักงานในประเทศราว 18,000 คน
กระบวนการปรับโครงสร้างในครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย "อเมริกาต้องมาก่อน" ของทรัมป์ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดขนาดระบบราชการ และกำจัดการใช้จ่ายของภาครัฐที่ไม่จำเป็น โดยอดีตนักการทูตและผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายออกมาเตือนว่า การลดทอนกำลังคนทางการทูตในลักษณะนี้จะเปิดช่องให้คู่แข่งของสหรัฐฯ อย่างจีนและรัสเซียมีบทบาทเพิ่มขึ้นในเวทีโลก