สื่อนอกมองชนวนขัดแย้งไทย-กัมพูชา: กับระเบิด คลิปเสียงฉาว ร้อยปีสัมพันธ์ร้าว

ข่าวต่างประเทศ Friday July 25, 2025 17:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาได้ทวีความรุนแรงจนถึงขั้นนองเลือด กลายเป็นเหตุปะทะที่เลวร้ายที่สุดในรอบกว่าทศวรรษ และสั่นคลอนสันติภาพอันเปราะบาง หลังทั้งสองฝ่ายยิงตอบโต้กันด้วยปืนใหญ่และจรวด โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ประเมินว่าเหตุการณ์สู้รบที่เกิดขึ้นทำให้ต้องมีการอพยพประชาชนจากพื้นที่ชายแดนฝั่งไทยราว 130,000 คน ขณะที่อีกกว่า 12,000 ครัวเรือนในกัมพูชาต้องทิ้งบ้านเรือนออกจากแนวรบ ยังไม่นับรวมผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก

ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ในเหตุการณ์รุนแรงล่าสุดนี้ กองทัพไทยได้ส่งเครื่องบินขับไล่ F-16 ที่ผลิตในสหรัฐฯ เข้าปฏิบัติการ ซึ่งกองบัญชาการทหารไทยยืนยันการโจมตีหน่วยสนับสนุนทางการทหารในระดับภูมิภาคของกัมพูชา ด้านกระทรวงกลาโหมกัมพูชาออกมาประณามการรุกรานทางทหาร พร้อมอ้างว่าเครื่องบินรบของไทยทิ้งระเบิดใกล้ปราสาทพระวิหาร โบราณสถานอันศักดิ์สิทธิ์และเป็นมรดกโลกของยูเนสโก

แต่เหตุรุนแรงที่ปะทุขึ้นครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกะทันหัน หากเป็นผลพวงที่สั่งสมมาจากการยั่วยุซึ่งหน้า วิกฤตการเมืองภายในของไทยที่กำลังร้อนระอุ และปมขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ที่คาราคาซังมากว่าศตวรรษ ชนวนเหตุของสงครามครั้งนี้จึงซับซ้อนและเปรียบเสมือนส่วนผสมอันตรายที่มาจากกับระเบิด คลิปเสียงฉาว และข้อพิพาทชายแดนที่กลายเป็นศึกแห่งศักดิ์ศรีและอัตลักษณ์ของทั้งสองชาติ

กับระเบิดจุดชนวนปะทะเดือด

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เหตุการณ์รุนแรงรอบล่าสุดปะทุขึ้นจากเหตุการณ์ทหารไทยเหยียบกับระเบิด โดยเมื่อวันที่ 23 ก.ค. ทหารไทยนายหนึ่งเหยียบกับระเบิดจนขาขาดระหว่างการลาดตระเวนตามปกติ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ซ้ำรอยจากสัปดาห์ก่อนหน้า ด้านซีเอ็นเอ็นให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าในวันเดียวกันนั้น มีทหารไทยอีกนายต้องสูญเสียขาจากเหตุกับระเบิด และในเหตุการณ์นี้มีทหารบาดเจ็บรวม 5 นาย

ท่าทีของไทยเป็นไปอย่างรวดเร็วและแข็งกร้าว โดยรอยเตอร์รายงานว่า รัฐบาลไทยระบุว่ากับระเบิดดังกล่าวเป็นระเบิดใหม่ที่ทหารกัมพูชาวางไว้ พร้อมตอบโต้ด้วยการเรียกเอกอัครราชทูตไทยกลับจากกรุงพนมเปญและขับทูตกัมพูชาออกจากประเทศ ในขณะที่กัมพูชาปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าไร้มูลความจริง โดยบลูมเบิร์กระบุว่าทางการกัมพูชาอ้างว่ากับระเบิดเหล่านี้เป็นของเก่าที่ตกค้างจากสงคราม และทหารไทยเป็นฝ่ายเดินออกนอกเส้นทางลาดตระเวนล้ำเข้าไปในดินแดนของกัมพูชาเอง

เหตุการณ์นี้ได้ปูทางไปสู่การสู้รบที่ปะทุขึ้นในเช้าวันพฤหัสบดีที่ 24 ก.ค. ส่วนลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น บีบีซีรายงานว่าแตกต่างกันไปจนละเวอร์ชัน เพราะต่างฝ่ายต่างบอกว่าอีกฝ่ายลงมือก่อน พร้อมเปรียบเทียบรายงานจากฝ่ายไทยและคำกล่าวอ้างฝั่งกัมพูชาไว้ ดังนี้:

ฝ่ายไทย: สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แถลงว่า เวลา 7:30 น. กัมพูชาส่งโดรนมาสอดแนม จากนั้นทหารกัมพูชาพร้อมอาวุธปล่อยจรวด (RPG) ได้เข้ามารวมตัวกันที่ชายแดน โฆษกสมช. กล่าวว่าทหารไทยพยายามเจรจาด้วยการตะโกน แต่กลับถูกยิงสวนมาในเวลาประมาณ 8:20 น. ทำให้จำเป็นต้องยิงตอบโต้ นอกจากนี้ ไทยยังระบุว่ากัมพูชาใช้อาวุธหนักอย่างเครื่องยิงจรวด BM-21 โจมตีจนสร้างความเสียหายให้แก่โรงพยาบาลและปั๊มน้ำมันในไทย

ฝ่ายกัมพูชา: โฆษกกระทรวงกลาโหมกัมพูชากล่าวหาว่าทหารไทยเป็นฝ่ายเริ่มก่อนในเวลา 6:30 น. โดยรุกล้ำเข้ามายังบริเวณปราสาทและวางลวดหนามล้อมไว้ จากนั้นหนึ่งชั่วโมงให้หลัง ไทยได้ส่งโดรนเข้ามา และในเวลา 8:30 น. ทหารไทยได้ยิงปืน "ขู่ขึ้นฟ้า" ก่อนจะเปิดฉากยิงอย่างจงใจใส่ทหารกัมพูชาก่อนในเวลา 8:46 น. ทำให้กัมพูชาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากป้องกันตนเอง

คลิปเสียง "อุ๊งอิ๊ง-อังเคิล" มรสุมการเมืองไทย

สื่อนอกมองว่า แม้เหตุกับระเบิดจะเป็นตัวจุดชนวน แต่เชื้อไฟสำคัญที่โหมกระพือความขัดแย้งครั้งนี้มาจากวิกฤตการเมืองภายในไทย ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ตัวนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร การรับมือปัญหาชายแดนของเธอไม่เพียงล้มเหลวในการลดความตึงเครียด แต่ยังย้อนกลับมาทิ่มแทงตัวเองอย่างรุนแรง จนสั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาล และสร้างภาวะสุญญากาศทางการเมือง

นายกรัฐมนตรีแพทองธารถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ในเดือนก.ค. หลังจากกลุ่มสว. ยื่นร้องเรียนเรื่องการกระทำผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง สืบเนื่องจากกรณี "คลิปเสียงหลุด" ที่เป็นประเด็นถกเถียงอย่างกว้างขวาง

รอยเตอร์อธิบายว่า ในคลิปเสียงการสนทนาทางโทรศัพท์เมื่อเดือนมิ.ย. กับสมเด็จฯ ฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ทรงอิทธิพลของกัมพูชานั้น นายกฯ แพทองธาร วัย 38 ปี มีท่าทีวิจารณ์ผู้บัญชาการทหารของไทยและยอมอ่อนข้อให้กับผู้นำกัมพูชาเพื่อลดความตึงเครียด ซึ่งคลิปดังกล่าวได้รั่วไหลออกมาและถูกเผยแพร่ฉบับเต็มในเวลาต่อมาโดยฮุนเซนเอง ด้านซีเอ็นเอ็นชี้ว่าเนื้อหาในคลิปสะท้อนถึงรอยร้าวลึกระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพไทย

คลิปเสียงดังกล่าวจุดกระแสความไม่พอใจในสังคมไทย นำไปสู่การประท้วงและเสียงเรียกร้องให้นายกฯ แพทองธารลาออก หากศาลวินิจฉัยว่ามีความผิดจริง เธอจะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองทันที เรื่องอื้อฉาวนี้ได้ผลักให้รัฐบาลของเธอตกอยู่ในภาวะใกล้ล่มสลาย โดยพรรคร่วมรัฐบาลอันดับสองอย่าง ภูมิใจไทย ได้ประกาศถอนตัว ส่งผลให้ฝ่ายรัฐบาลเหลือเสียงข้างมากแบบปริ่มน้ำ

ปมประวัติศาสตร์บาดแผลลึก

อย่างไรก็ตาม การสู้รบครั้งนี้จะไม่มีทางเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ หากไม่มองย้อนกลับไปที่รากเหง้าทางประวัติศาสตร์ที่หยั่งลึกมากว่าศตวรรษ โดยแก่นแท้ของความขัดแย้งนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่กว่าเส้นเขตแดนบนแผนที่ แต่เป็นเรื่องของอัตลักษณ์ชาติ มรดกทางประวัติศาสตร์ และความเป็นเจ้าของเชิงสัญลักษณ์เหนือโบราณสถานที่เปรียบดังหัวใจและความภาคภูมิใจของทั้งสองชาติ

หัวใจของความเป็นคู่แข่งทางประวัติศาสตร์นี้คือ ปราสาทพระวิหาร หรือเขาพระวิหาร ปราสาทหินสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 11 ซึ่งสื่อนอกชี้ตรงกันว่าเป็นจุดปะทะที่สำคัญที่สุด

รอยเตอร์และบลูมเบิร์กระบุว่า ข้อพิพาทนี้มีต้นตอมาจากยุคอาณานิคม โดยเส้นเขตแดนทางบกยาว 817 กิโลเมตร ถูกปักปันครั้งแรกโดยฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2450 ซึ่งขณะนั้นกัมพูชาตกเป็นอาณานิคม

ข้อตกลงระบุให้ใช้แนวสันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งเขตแดน แต่ต่อมาฝ่ายไทยโต้แย้งว่า "แผนที่ภาคผนวก 1" ที่ฝรั่งเศสจัดทำขึ้นนั้น ไม่ได้ลากเส้นไปตามแนวสันปันน้ำที่แท้จริงตามที่ตกลงกันไว้ในสนธิสัญญา แต่กลับลากเส้นให้ปราสาทพระวิหารไปอยู่ในฝั่งกัมพูชา ทำให้พื้นที่หลายจุดยังคงเป็นพื้นที่พิพาทที่ไม่มีการปักปันเขตแดนที่ชัดเจนมานานหลายทศวรรษ

ในปี พ.ศ. 2505 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) หรือศาลโลก ได้ตัดสินให้ตัวปราสาทตกเป็นของกัมพูชา แต่ไทยยังคงอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนโดยรอบ

ความตึงเครียดได้ปะทุขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2551 เมื่อกัมพูชาประสบความสำเร็จในการนำปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของยูเนสโก ซึ่งบีบีซีรายงานว่าการกระทำดังกล่าวสร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงในฝั่งไทย และนำไปสู่การปะทะกันประปรายเป็นเวลาหลายปีต่อมา ในปี พ.ศ. 2554 การยิงปะทะกันด้วยปืนใหญ่บริเวณปราสาทนานหนึ่งสัปดาห์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 12 ราย สองปีหลังจากนั้น ศาลโลกได้มีคำตัดสินขยายความคำพิพากษาเดิมในปี 2505 โดยระบุว่าพื้นที่โดยรอบปราสาทเป็นของกัมพูชาเช่นกัน และสั่งให้ทหารไทยถอนกำลังออกไป

แต่ทั้งซีเอ็นเอ็นและรอยเตอร์ต่างชี้ว่า ไทยไม่เคยยอมรับเขตอำนาจและคำตัดสินของศาลโลก และยืนกรานที่จะแก้ไขข้อพิพาทผ่านกลไกทวิภาคีอย่างคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) ซึ่งแทบไม่มีความคืบหน้าใด ๆ นับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2543

การปฏิเสธคำตัดสินดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าปัญหานี้ผูกติดอยู่กับอธิปไตยและศักดิ์ศรีของชาติอย่างลึกซึ้ง จนทำให้การประนีประนอมแทบเป็นไปไม่ได้ พลังของสัญลักษณ์เหล่านี้เคยแสดงอิทธิฤทธิ์อย่างรุนแรงมาแล้วในปี พ.ศ. 2546 เมื่อกลุ่มผู้ประท้วงในกรุงพนมเปญบุกเผาสถานทูตไทย เพียงเพราะข่าวลือว่านักแสดงไทยตั้งคำถามถึงสิทธิ์ของกัมพูชาเหนือปราสาทนครวัด

กำลังรบที่ไม่ทัดเทียม กับอนาคตที่ไม่แน่นอน

เส้นทางจากเหตุปะทะเล็กน้อยในเดือนพ.ค. มาสู่ความขัดแย้งเต็มรูปแบบในปัจจุบัน เผยให้เห็นวงจรการยกระดับความรุนแรงที่อันตราย หลังจากทหารกัมพูชาเสียชีวิต 1 นายเมื่อวันที่ 28 พ.ค. ทั้งสองฝ่ายต่างเริ่มแสดงแสนยานุภาพและเสริมกำลังทหารตลอดแนวชายแดน

ซีเอ็นเอ็นรายงานว่าหลังจากนั้น ทั้งสองฝ่ายต่างใช้มาตรการตอบโต้กันไปมา ไทยเข้าควบคุมด่านชายแดนและขู่ตัดไฟที่ส่งไปยังเมืองชายแดนของกัมพูชา กัมพูชาตอบโต้ด้วยการสั่งห้ามนำเข้าสินค้าและสื่อจากไทย การตอบโต้กันไปมายิ่งทำให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเหตุกับระเบิดกลายเป็นฟางเส้นสุดท้าย

แม้จะสู้รบกัน แต่ศักยภาพทางทหารของทั้งสองฝ่ายนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง บลูมเบิร์กได้วิเคราะห์ข้อมูลจากสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ (IISS) พบว่า ไทยมีแสนยานุภาพเหนือกว่าอย่างชัดเจน ทั้งกำลังพลประจำการ (360,000 ต่อ 124,000 นาย) และงบประมาณกลาโหมที่สูงกว่า 4-5 เท่า รวมถึงความได้เปรียบทางอากาศจากฝูงบินขับไล่ F-16 และ Gripen ขณะที่กัมพูชาไม่มีเครื่องบินรบประจำการและมีรถถังน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง

ขณะที่การสู้รบยังคงดำเนินต่อไป ประชาคมโลกได้เริ่มแสดงท่าที โดยซีเอ็นเอ็นรายงานว่าสหรัฐอเมริกา "กังวลอย่างยิ่ง" และเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายยุติการสู้รบทันที ส่วนสหราชอาณาจักรได้ประกาศเตือนพลเมืองให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่ชายแดนหากไม่จำเป็น

แต่หนทางสู่สันติภาพยังคงมืดมน โดยรอยเตอร์รายงานว่าไทยยืนยันจะเจรจาก็ต่อเมื่อกัมพูชายุติความรุนแรงก่อน ขณะที่กัมพูชาได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) โดยกล่าวหาว่าการกระทำของไทยคือ "การรุกรานทางทหารโดยไตร่ตรองไว้ล่วงหน้าและปราศจากการยั่วยุ"

ทั้งนี้ อนาคตยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวของบีบีซีให้ทัศนะว่า แม้การปะทะในอดีตมักจะคลี่คลายลงได้ค่อนข้างเร็ว แต่สถานการณ์ปัจจุบันกลับอันตรายกว่ามาก เนื่องจากทั้งสองประเทศ "ขาดผู้นำที่มีบารมีและความมั่นใจมากพอที่จะพากันถอยออกจากการเผชิญหน้าครั้งนี้"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ