Spotlight: เปิดประวัติสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 14 โป๊ปองค์แรกจากสหรัฐฯ

ข่าวต่างประเทศ Friday May 9, 2025 11:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พระคาร์ดินัล โรเบิร์ต ฟรานซิส พรีโวสต์ จากสหรัฐอเมริกา ได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปาองค์ใหม่แห่งศาสนจักรนิกายโรมันคาทอลิก โดยใช้พระนามว่า สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 14 และเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ที่ 267 โดยจะทรงเข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสที่สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 21 เม.ย. ในขณะที่มีพระชนมายุ 88 พรรษา

การมีพระประมุของค์ใหม่ไม่เพียงแต่จะสร้างความปีติยินดีแก่คริสต์ศาสนิกชนชาวคาทอลิกเท่านั้น แต่ยังสร้างความปลื้มปีติให้แก่ชาวอเมริกันทั่วประเทศ รวมถึงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เนื่องจากเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่องค์สมเด็จพระสันตะปาปามาจากสหรัฐฯ


*พระประวัติโป๊ปเลโอที่ 14

สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 14 ทรงมีพระชนมายุ 69 พรรษา ประสูติเมื่อวันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 1955 ที่เมืองชิคาโก มลรัฐอิลลินอยส์ เป็นบุตรของหลุยส์ มาเรียส เพรโวสต์ ซึ่งมีเชื้อสายฝรั่งเศสและอิตาลี และมารดาคือมิลเดรด มาร์ติเนซ ซึ่งมีเชื้อสายสเปน พระองค์มีพี่น้องชายสองคนคือ หลุยส์ มาร์ติน และจอห์น โจเซฟ

พระองค์ใช้ชีวิตวัยเด็กและวัยรุ่นกับครอบครัว และเข้ารับการศึกษาที่ศูนย์อบรมของคณะบิดาออกัสติเนียน (Augustinian Fathers) จากนั้นเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยวิลลาโนวาในรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งในปีค.ศ. 1977 พระองค์ได้รับปริญญาสาขาวิชาคณิตศาสตร์ และได้ทรงศึกษาวิชาปรัชญาด้วย

วันที่ 1 กันยายนของปีเดียวกัน พระองค์ได้เข้าอบรมเป็นนักบวชของคณะนักบุญออกัสติน (O.S.A.) ในชิคาโก และได้ปฏิญาณตนครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1978 จนกระทั่งในวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1981 พระองค์ได้กล่าวคำปฏิญาณตนรับใช้องค์พระผู้เป็นเจ้าตลอดชีวิต

พระองค์เข้ารับการศึกษาด้านศาสนศาสตร์ที่สถาบัน Catholic Theological Union ในชิคาโก กระทั่งเมื่อมีพระชนมายุ 27 ปี พระองค์ได้ถูกส่งไปยังกรุงโรมเพื่อศึกษากฎหมายพระศาสนจักร (Canon Law) ที่มหาวิทยาลัยพระสันตะปาปาแห่งนักบุญโทมัส อาควินาส (แองเจลิคัม) ในประเทศอิตาลี

ต่อมาในวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 1982 ได้รับการสถาปนาเป็นบาทหลวงที่วิทยาลัยออกัสติเนียนแห่งเซนต์โมนิกา (Augustinian College of Saint Monica) จนกระทั่งหลังปีค.ค. 1984 ในขณะที่กำลังเตรียมทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก พระองค์ถูกส่งไปปฏิบัติภารกิจของคณะออกัสตินในเมืองชูลูคานัส เปียวรา ประเทศเปรู (ค.ศ. 1985-1986) และต่อมาในปีค.ศ. 1987 พระองค์เสร็จสิ้นการทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเรื่อง "บทบาทของอธิการท้องถิ่นในคณะนักบุญออกัสติน (The Role of the Local Prior in the Order of Saint Augustine)" และได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการด้านพันธกิจ "Mother of Good Counsel" ในโอลิมเปียฟิลด์ส รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา


* เส้นทางสู่วาติกัน

ในวันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 2015 พระองค์ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชแห่งชิคลาโย (Bishop of Chiclayo) โดยสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส และต่อมาในปีค.ศ. 2019 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้แต่งตั้งพระองค์ให้เป็นสมาชิกในการชุนนุมของเหล่าพระสังฆราช (Congregation for Bishops)

ต่อมาในวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 2023 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเรียกพระองค์ไปยังกรุงโรมในฐานะประธานคณะกรรมการสังฆราชแห่งละตินอเมริกา ซึ่งช่วยส่งเสริมพระองค์สู่ตำแหน่งพระอัครสังฆราช (Archbishop)

ในปีค.ศ. 2024 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงแต่งตั้งพระองค์ให้เป็นพระคาร์ดินัล ในการประชุมพระคาร์ดินัลเมื่อวันที่ 30 กันยายนในปีดังกล่าว และทรงมอบหมายให้พระองค์เป็นผู้ดูแลเขตปกครองแห่งนักบุญโมนิกา (Diaconate of Saint Monica)

กระทั่งในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ปีนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้เลื่อนตำแหน่งพระองค์สู่คณะพระสังฆราช (Order of Bishops) และต่อมาในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พระองค์ได้เข้าร่วมพิธีมิสซาที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเป็นประธาน ณ จัตุรัสเซนต์ปีเตอร์


* ทรัมป์ปลื้มปีติ สมเด็จพระสันตะปาปาองค์ที่ 267 มาจากสหรัฐฯ

หลังจากการประชุมลับของเหล่าพระคาร์ดินัลที่โบสถ์น้อยซิสทีน (Sistine Chapel) ในนครวาติกันเสร็จสิ้นลงในวันพฤหัสบดี (8 พ.ค.) ได้มีการปล่อยควันสีขาวออกมาจากปล่องบนหลังคาโบสถ์น้อยซิสทีน ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าคริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิกทั่วโลกมีพระประมุของค์ใหม่แล้ว

ที่ประชุมลับของคณะพระคาร์ดินัลได้พระคาร์ดินัล โรเบิร์ต ฟรานซิส พรีโวสต์ จากสหรัฐอเมริกา ให้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ที่ 267 โดยมีพระนามว่า สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 14

สำหรับคติพจน์ของสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 14 คือ "In Illo uno unum" ซึ่งหมายความว่า "ในพระเจ้า เราเป็นหนึ่งเดียวกัน"

หลังการประกาศชื่อของสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ใหม่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้โพต์ข้อความแสดงยินดีบนทรูธ โซเชียลว่า "เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รู้ว่า พระองค์เป็นสมเด็จประสันตะปาปาชาวอเมริกันพระองค์แรก นี่เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก และถือเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่สำหรับประเทศของเรา ผมรอคอยที่จะเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 14 และนั่นจะเป็นช่วงเวลาที่มีความหมายอย่างมาก"


*ย้อนรอยพิธีเลือกพระสันตะปาปาองค์ที่ 267

หลังจากสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสสิ้นพระชนม์ในวันที่ 21 เมษายนปีนี้ ด้วยพระชนมายุ 88 พรรษา สำนักวาติกันก็เริ่มขั้นตอนต่อไปด้วยการจัดการประชุมลับของพระคาร์ดินัลจากทั่วโลกที่โบสถ์น้อยซิสทีน ณ กรุงวาติกัน ในวันที่ 7 พฤษภาคม เพื่อสรรหาสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ใหม่ โดยพระคาร์ดินัลที่มีสิทธิลงคะแนนจะต้องมีอายุต่ำกว่า 80 ปี

พระคาร์ดินัลที่เข้าร่วมการประชุมลับดังกล่าวจะถูกตัดขาดจากโลกภายนอก โดยจะไม่มีการใช้โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต หรือสื่อใด ๆ เพื่อให้การตัดสินใจเป็นอิสระ และปราศจากอิทธิพลจากภายนอก

การลงคะแนนสรรหาสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ใหม่มีขึ้นวันละ 4 รอบ โดยแบ่งเป็นช่วงเช้า 2 รอบ และช่วงบ่าย 2 รอบ ซึ่งพระคาร์ดินัลจะลงคะแนนด้วยการเขียนชื่อผู้ถูกเลือกลงในบัตร แล้วหย่อนลงในภาชนะทองคำ โดยผู้ที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ใหม่จะต้องได้รับเสียงอย่างน้อย 2 ใน 3 ของพระคาร์ดินัลที่ลงคะแนนทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมา กระบวนการลงคะแนนจนเสร็จสิ้นการสรรหาสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ใหม่มักใช้เวลาราว 15-20 วัน

หากในการลงคะแนนแต่ละวัน ที่ประชุมพระคาร์ดินัลยังไม่สามารถสรรหาสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ใหม่ ก็จะมีการเผาบัตรลงคะแนน พร้อมกับการใส่สารที่ทำให้ควันเป็นสีดำออกจากปล่องบนหลังคาโบสถ์น้อยซิสทีน เพื่อเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ต่อคริสต์ศาสนิกชนทั่วโลกว่า ที่ประชุมยังไม่สามารถสรรหาสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ใหม่ แต่หากที่ประชุมสามารถสรรหาสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ใหม่ได้แล้ว ก็จะมีการเผาบัตรลงคะแนน พร้อมกับใส่สารที่ทำให้ควันมีสีขาว แสดงว่าที่ประชุมสามารถสรรหาสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ใหม่ ซึ่งที่ผ่านมามักจะตามมาด้วยการโห่ร้องแสดงความยินดีจากคริสต์ศาสนิกชนทั่วโลก

ต่อจากนั้น พระคาร์ดินัลที่มีอาวุโสสูงสุดจะปรากฏตัวที่ระเบียงมหาวิหารนักบุญเปโตร และกล่าวว่า "Habemus Papam" ซึ่งหมายความว่า "เรามีพระสันตะปาปาองค์ใหม่แล้ว" หลังจากนั้น สมเด็จพระสันตะปาปาองค์ใหม่จะออกมาทักทายและให้พรเป็นครั้งแรกต่อคริสต์ศาสนิกชนทั่วโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ