โรเบอร์โต เปโรซา ประธานสมาคมผู้ส่งออกเนื้อวัวบราซิล (Abiec) เปิดเผยว่า ยอดส่งออกเนื้อวัวจากบราซิลไปยังสหรัฐฯ ในปริมาณมากถึง 48,000 ตันในเดือนเม.ย. แม้บราซิลถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าครั้งใหม่ในอัตรา 10%
เปโรซาระบุในการแถลงข่าวในวันพฤหัสบดี (8 พ.ค.) ว่า ตัวเลขการส่งออกดังกล่าวสร้างความประหลาดใจอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2567 ที่บราซิลส่งออกเพียง 8,000 ตัน โดยสาเหตุสำคัญคือปัญหาการขาดแคลนเนื้อวัวอย่างรุนแรงในสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้ความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น โดยนอกจากบราซิลแล้ว ออสเตรเลียก็เป็นอีกประเทศที่ได้รับประโยชน์จากสถานการณ์นี้
เปโรซากล่าวโดยอ้างอิงข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษา ดาตาโกร (Datagro) ว่า บราซิลอาจขึ้นแท่นเป็นผู้ผลิตเนื้อวัวรายใหญ่ที่สุดของโลกภายในปี 2569 แซงหน้าสหรัฐฯ ที่กำลังประสบปัญหาในการเพิ่มจำนวนปศุสัตว์ และมีแนวโน้มที่บริษัทต่างๆ จะลดการผลิตเนื้อวัวลง อีกทั้ง บราซิลยังคงครองตำแหน่งประเทศผู้ส่งออกเนื้อวัวรายใหญ่ที่สุดของโลกในปัจจุบันเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เปโรซาเสริมว่า ระบบภาษีนำเข้าเนื้อวัวบราซิลของสหรัฐฯ นั้นมีความซับซ้อน โดยสำหรับปริมาณที่เกินโควตาประจำปีที่ 65,000 ตัน ซึ่งเดิมต้องเสียภาษี 26.4% ปัจจุบันถูกเก็บเพิ่มอีก 10% ส่วนยอดขายภายใต้โควตาที่เคยได้รับการยกเว้นภาษี ก็ถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 10% เช่นกัน และโควตาส่งออกประจำปีดังกล่าวถูกใช้หมดตั้งแต่เดือนม.ค.ที่ผ่านมา
รายงานระบุว่า ในสัปดาห์หน้า ตัวแทนภาคธุรกิจเนื้อวัวบราซิลจะเดินทางไปยังประเทศจีนพร้อมประธานาธิบดี ลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา โดยจะจัดกิจกรรมส่งเสริมสินค้าใน 2 เมืองภาคในของจีนเป็นครั้งแรก
ทั้งนี้ จีนยังคงเป็นตลาดส่งออกหลักของเนื้อวัวบราซิล โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้น 12% หรือประมาณ 392,000 ตัน อย่างไรก็ตาม เปโรซาคาดว่า ทางการจีนยังไม่น่าจะออกใบอนุญาตใหม่ให้ผู้ส่งออกบราซิลในระยะสั้น แต่มีแนวโน้มว่าจะพิจารณาอีกครั้งในปีหน้า หลังจากสิ้นสุดการสอบสวนมาตรการปกป้องการนำเข้าเนื้อวัวของจีน