UN เผยหลายประเทศทั่วโลกขาดยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางไซเบอร์

ข่าวต่างประเทศ Thursday July 6, 2017 15:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ซึ่งเป็นองค์กรในสังกัดสหประชาชาติ (UN) เผยประเทศต่างๆทั่วโลกที่มียุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ หรืออยู่ในขั้นตอนพัฒนานั้น มีเพียงครึ่งเดียวของประเทศทั้งหมดในโลก นอกจากนี้ยังพบว่าประเทศมหาอำนาจของโลกมีความแตกต่างกันมากเรื่องความพร้อมรับมือการโจมตีทางไซเบอร์

ทั้งนี้ ITU เผยดัชนีความมั่นคงทางไซเบอร์โลก (GCI) ประจำปี 2560 ซึ่ง ITU ได้รายงานต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเป็นปีแรก โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะวัดความทุ่มเทของประเทศสมาชิกในด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ เพื่อกระตุ้นการยกระดับแนวทางความมั่นคงทางไซเบอร์ และความตระหนักถึงความจำเป็นของความร่วมมือทวิภาคี พหุภาคี และระหว่างประเทศ

รายงานปีนี้เปิดเผยว่า มีประเทศเพียง 38% ที่เผยแพร่ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางไซเบอร์ และมีอีก 12% ที่อยู่ในขั้นตอนพัฒนา

สิงคโปร์รั้งอันดับหนึ่งของประเทศที่มีดัชนี GCI สูงสุด เนื่องด้วยสิงคโปร์มีนโยบายความมั่นคงทางไซเบอร์มายาวนาน โดยสิงคโปร์ได้ออกแผนแม่บทความมั่นคงทางไซเบอร์ฉบับแรกเมื่อปี 2548 และตั้งสำนักงานความมั่นคงทางไซเบอร์ในปี 2558 ซึ่งเป็นองค์กรพิเศษที่สอดส่องดูแลความมั่นคงทางไซเบอร์โดยเฉพาะ และในปี 2559 สิงคโปร์ได้วางยุทธศาสตร์เพื่อการรับมือประเด็นความมั่นคงในโลกออนไลน์

สำหรับอีก 9 ประเทศที่มีคะแนนรองสิงคโปร์ ได้แก่ สหรัฐ มาเลเซีย โอมาน เอสโตเนีย มอริเชียส ออสเตรเลีย จอร์เจีย ฝรั่งเศส และแคนาดา

จากการสำรวจพบว่า ประเทศกำลังพัฒนาที่มีความเหลื่อมล้ำสูง อย่างเช่น มาเลเซียและโอมาน กลับมีความมั่นคงทางไซเบอร์แข็งแกร่งกว่าประเทศพัฒนาแล้วบางที่เช่น ฝรั่งเศส และ แคนาดา

ITU ตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศสมาชิกถาวรทั้ง 5 ของคณะมนตรีความมั่นคง UN มีอันดับห่างกันมาก โดยสหรัฐอยู่ในอันดับ 2 ฝรั่งเศสอันดับ 8 รัสเซียอันดับ 10 สหราชอาณาจักรอันดับ 12 และจีนอันดับ 32

รายงานระบุด้วยว่า ในปีที่แล้วปีเดียว มีอีเมลโจมตีทางไซเบอร์ในสัดส่วนเกือบ 1% ของอีเมลที่ถูกส่งทั้งหมด ซึ่งถือเป็นอัตราสูงสุดที่พบในช่วงไม่กี่ปีมานี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ