In Focusที่สุดแห่งปี 2559 กับ 3 ข่าวใหญ่แวดวงการเมืองฮอตฮิตติดเทรนด์โลก

ข่าวต่างประเทศ Wednesday December 28, 2016 13:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หากจะกล่าวว่าปี 2559 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปในอีกไม่กี่วัน เป็นปีที่เวทีการเมืองโลกเต็มไปด้วยสีสันจัดจ้าน ดุเด็ดเผ็ดมันส์ และร้อนแรงมากที่สุดปีหนึ่งก็คงไม่ผิดนัก คอลัมน์ In Focus สัปดาห์ส่งท้ายปีนี้ ขอคัด 3 ข่าวสุดปังแห่งปีมาเสิร์ฟคุณผู้อ่าน จะมีข่าวไหนกันบ้าง ตรงใจหรือไม่ มาเริ่มกันเลย...

อันดับ 1: “โดนัลด์ ทรัมป์" หักปากกาเซียน คว่ำ “ฮิลลารี คลินตัน" คว้าชัยเลือกตั้งสหรัฐ ผงาดบัลลังก์ทำเนียบขาว

เหตุการณ์ที่สุดของโลกในปี 2559 นี้อาจต้องเท้าความสักเล็กน้อยไปในช่วงเดือนมิ.ย. 2558 เมื่อนาย โดนัลด์ ทรัมป์ มหาเศรษฐีเจ้าพ่อวงการอสังหาริมทรัพย์ ลงจากป้อมปราการอย่างตึกทรัมป์ ทาวเวอร์ ในนิวยอร์ก ซิตี้ เพื่อมาประกาศก้องว่า เขาจะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เพื่อกอบกู้สหรัฐอเมริกาให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง!

จากตอนแรกที่ใครหลายคนคิดว่าเขาคงเป็นแค่ไม้ประดับที่มาสร้างสีสันให้การเลือกตั้งสหรัฐในรอบนี้ แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า ความเป็นคนโผงผาง ถึงลูกถึงคน ใช้คำพูดคำจาก้าวร้าวรุนแรง กลับไปโดนใจบรรดาฮาร์ดคอร์การเมืองหลายคน จนทำให้เขามีผู้สนับสนุนเพิ่มมากขึ้นๆ จนสามารถปราบคู่แข่งภายในพรรครีพับลิกันมาได้ถึง 12 คน

และแล้วหลังจากผ่านการขับเคี่ยวห้ำหั่น พร้อมเขี่ยผู้สมัครภายในพรรครีพับลิกันพ้นทางไปทีละคนๆ ทรัมป์ก็ได้มาเจอกับคู่ต่อสู้ในด่านสุดท้ายอย่างนางฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครต ที่ไม่ว่าใครต่อใครต่างก็มองว่าเหนือกว่าทรัมป์ทุกประตู ไม่ใช่แค่ตำแหน่งสวยๆ อย่างการเป็นอดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 เท่านั้น แต่เธอยังสั่งสมชื่อเสียงและประสบการณ์ในเวทีการเมืองมาอย่างยาวนาน จนไม่ต้องอาศัยชื่อหรือบารมีของสามีอย่างอดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน มาช่วยหนุนนำแต่อย่างใด

แม้ว่า จะไม่ได้มีเกียรติประวัติทางการเมืองเป็นหางว่าว แม้จะไม่ได้เจนสนามอย่างฮิลลารี และแม้จะเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำในการดีเบตทั้ง 3 ยก แต่ก็อย่าคิดว่าคนอย่างทรัมป์จะกลัว! ทรัมป์ได้ใช้ยุทธวิธีในแบบของตนเอง ทั้งการหาเสียงที่มุทะลุดุดันและทวีตข้อความแบบเรียกแขกและชวนตี ภายใต้แคมเปญหาเสียงที่ว่า ‘Make America Great Again’ (ทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง) จนทำให้ตัวเขานั้นสามารถกวาดฐานเสียง โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นแรงงานคนผิวขาวที่กลัวถูกชาวเอเชียผิวเหลืองเข้าไปแย่งงาน และหวาดภัยก่อการร้ายจากผู้อพยพมุสลิม ตลอดจนพลังเงียบอีกเป็นจำนวนมาก ที่ขอโบกมือลา พอกันทีกับการบริหารประเทศของพรรคเดโมแครตที่ยาวนานมาถึง 8 ปี

หลังจากที่ตามลุ้นตามเชียร์กันมานาน ในที่สุดวันที่ทุกคนรอคอยก็มาถึง เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ชาวอเมริกัน รวมถึงชาวโลก ก็ได้รู้กันซะทีว่าใครที่จะมารับไม้ต่อนั่งบัลลังก์ผู้นำทำเนียบขาวแทนประธานาธิบดี บารัค โอบามา ซึ่งกำลังจะครบวาระการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 รวม 8 ปี ผลที่ออกมานั้นสร้างเซอร์ไพรส์ ทำเอาโพลล์เกือบจะทุกสำนักหงายเงิบไปตามๆ กัน

ถึงแม้จะแพ้คะแนน Popular Vote ให้กับนางฮิลลารี ถึง 2.5 ล้านคะแนน แต่ทรัมป์ก็สามารถเอาชนะคะแนน Electoral Vote ไปได้ด้วยคะแนน 306 ต่อ 232 จากการคว้าชัยในรัฐที่ตั้งอยู่ใน “ย่านสนิมเกาะ" (Rust Belt) หรือเขตอุตสาหกรรมไปได้มากกว่า นายทรัมป์จึงสามารถนำพาพรรครีพับลิกันกลับมาผงาดในทำเนียบขาวอีกครั้ง หลังจากที่ตกอยู่ภายใต้การคุมบังเหียนของพรรคเดโมแครตมานานถึง 8 ปี

โดนัลด์ ทรัมป์ จะทำให้สหรัฐกลับมายิ่งใหญ่ หรือจะพ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ เพราะถูกถอดถอน (Impeachment) เนื่องจากผลประโยชน์ทับซ้อน ตามที่มีนักวิเคราะห์ฟันธงไว้ คงต้องให้เวลาและผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์ต่อไป

อันดับ 2: Brexit - เมื่ออังกฤษไม่ต้องการอยู่ใต้ร่มเงาของ EU อีกต่อไป

Brexit กลายเป็นหนึ่งในคำฮิตติดเทรนด์ประจำปี 2559 โดยเกิดจากการนำเอาคำว่า Britain มาผสมกับคำว่า exit เพื่อสื่อความหมายถึงการที่สหราชอาณาจักรจะถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป

สำหรับจุดเริ่มต้นของการทำประชามติครั้งประวัติศาสตร์นี้ มาจากคำสัญญิงสัญญาของนายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่ให้ไว้ในระหว่างการหาเสียงปีที่แล้วว่า เขาจะจัดการทำประชามติเพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะออกจากสหภาพยุโรปหรือไม่ หากเขาได้รับเลือกตั้งกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2

โดยตลอดระเวลานับตั้งแต่เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเมื่อกว่า 40 ปีมาแล้วนั้น แม้อังกฤษจะได้รับผลประโยชน์ แต่ถึงกระนั้นกระแสเรียกร้องให้มีการถอนตัวจากสหภาพยุโรปก็ได้ดังกระหึ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากบรรดาผู้ที่สนับสนุนการแยกตัวมองว่าอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ เคยเรืองอำนาจเป็นถึงเจ้าอาณานิคมโลก และมีอำนาจอธิปไตยอันยิ่งใหญ่เกรียงไกร เหตุใดจึงจะต้องมาทำตามกฎเกณฑ์ของสหภาพยุโรป แถมยังต้องมาจ่ายเงินปีละไม่ใช่น้อยๆ เพื่อสนับสนุนประเทศสมาชิกอื่นๆในยุโรป แทนที่จะนำเงินก้อนใหญ่ดังกล่าวมาพัฒนาประเทศ

การลงประชามติได้ถูกกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 23 มิ.ย. พร้อมกันทั่วสหราชอาณาจักร ซึงไม่ได้หมายถึงอังกฤษประเทศเดียว แต่ยังประกอบไปด้วยสกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ โดยหัวข้อในการทำประชามติคือ "สหราชอาณาจักรควรจะยังคงเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป หรือควรออกจากสหภาพยุโรป" โดยผู้ลงประชามติสามารถเลือกคำตอบได้ 1 คำตอบ ระหว่าง "ยังคงเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป" (Remain) หรือ "ออกจากสหภาพยุโรป" (Leave)

ก่อนหน้าการลงประชามติ บรรดาผู้สนับสนุนของแต่ละฝ่ายมีเวลาในการรณรงค์หาเสียงนาน 4 เดือน ซึ่งแต่ฝ่ายก็ทุ่มหาเสียงกันอย่างเอาเป็นเอาตาย และดุเดือดถึงขั้นเลือดตกยางออก เมื่อเกิดเหตุสะเทือนขวัญกับนางโจ ค็อกซ์ ส.ส.หญิงจากพรรคแรงงาน ที่ถูกคนร้ายบุกยิงและแทงจนเสียชีวิตในสัปดาห์ก่อนการลงประชามติ โดยเธอเป็นผู้สนับสนุนแคมเปญ "Remain"

การหาเสียงนั้นมุ่งเน้นไปที่ประเด็นผู้อพยพและอนาคตของเศรษฐกิจอังกฤษ โดยบรรดา Brexiteer หรือผู้สนับสนุนให้อังกฤษออกจาก EU ชี้ว่า อังกฤษจะดีกว่าเดิมหากปลดแอกจากกฎระเบียบข้อบังคับของ EU และการตัดสัมพันธ์กับ EU จะเป็นหนทางเดียวให้ประเทศสามารถมีอำนาจตัดสินใจอย่างเป็นอิสระ โดยเฉพาะในเรื่องของผู้อพยพที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของ EU ในทางกลับกัน ฝ่ายที่สนับสนุนให้อังกฤษอยู่ต่อ เตือนว่าหากอังกฤษเซย์กู๊ดบายจาก EU ก็อาจจะเป็นการปลุกปั่นคลื่นแห่งความไม่แน่นอนให้ถาโถมเข้าใส่เศรษฐกิจอังกฤษ โดยอาจถึงขั้นทำให้อังกฤษและประเทศอื่นๆ ในยุโรปต้องประสบภาวะถดถอยกันเลยทีเดียว

เมื่อวันชี้ชะตามาถึง ผลนับคะแนนหลังปิดคูหาไม่นาน ประกอบกับผลสำรวจความคิดเห็นในช่วงโค้งสุดท้าย ต่างก็บ่งชี้ว่า ฝั่ง “Remain" จะเป็นฝ่ายชนะ แต่เมื่อผลการนับคะแนนผ่านไปเรื่อยๆ ฝ่าย “Leave" กลับพลิกทำคะแนนแซง และเป็นฝ่ายชนะไปในที่สุด โดยในการลงประชามติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 มิ.ย. ผลปรากฏว่า ฝ่าย “Leave" สามารถเอาชนะฝ่าย “Remain" ไปได้ 52% ต่อ 48% โดยมีผู้ออกมาใช้สิทธิสูงถึง 71.8% หรือมากกว่า 30 ล้านคน

ผลการลงประชามติที่ออกมาแบบพลิกโผถือเป็นข่าวช็อกครั้งใหญ่ ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งเหว แดงเถือกกันไปตามๆกัน

ด้านนายเดวิด คาเมรอน ก็ต้องเซ่นสังเวยผลการลงประชามติ ด้วยการประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีดังที่ได้ลั่นวาจาไว้ในระหว่างการหาเสียง เปิดทางให้พรรคอนุรักษ์นิยมของเขาโหวตเลือกนางเทเรซ่า เมย์ ขึ้นมารับไม้ต่อแทน พร้อมส่งมอบภารกิจในการเจรจาพาอังกฤษออกจากอียูต่อไป

อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะทราบผลการลงประชามติกันไปแล้ว แต่ก็ยังคงต้องติดตามเรื่องนี้กันต่อ เพราะกระบวนการที่จะออกจากอียูนั้นไม่ใช่จะทำการได้ปุบปับ เนื่องด้วยขั้นตอนที่สลับซับซ้อน แถมยังถูกขัดขวางจากผู้ที่ยังคงยืนกรานสนับสนุนให้อังกฤษอยู่กับ EU ต่อไปอีกด้วย

สรุปว่ายังต้องตามเรื่องนี้กันไปยาวๆ...

อันดับ 3: “ปาร์ค กึน เฮ" เด้งเก้าอี้ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ หลังพัวพันข่าวฉาวเอื้อคนสนิทแทรกแซงกิจการรัฐ ชาวโสมนับล้านลุกฮือขับไล่

ปิดท้ายกับข่าวสุดช็อกทางฝั่งเอเชีย เมื่อ ปาร์ค กึน เฮ ประธานาธิบดีหญิงคนแรกแห่งแดนโสมขาว ตกเป็นข่าวอื้อฉาวปล่อยให้คนสนิทเข้าแทรกแซงการบริหารประเทศ ทำให้ตัวเธอต้องเผชิญมรสุมทางการเมืองครั้งใหญ่ กลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ไปทั่วโลก

ผู้นำหญิงวัย 64 ปี ไว้ใจปล่อยให้นางชเว ชุน ซิล เพื่อนสนิท เข้ามามีบทบาทในการดำเนินนโยบายต่างๆ ทั้งที่เธอไม่มีตำแหน่งใดๆ ในรัฐบาล ที่น่าตกใจคือ เธอผู้นี้อยู่เบื้องหลังการร่างสุนทรพจน์ของประธานาธิบดี มีส่วนในการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆของประเทศ อีกทั้งยังเข้าถึงเอกสารลับของทางการ จนมีผู้ขนานนามว่าเธอเป็นประธานาธิบดีเงา นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า นางชเว ชุน ซิล ได้ใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวกับ ปาร์ค กึน เฮ เรียกรับผลประโยชน์ และบีบให้บริษัทใหญ่ๆ บริจาคเงินจำนวนมหาศาลเข้ามูลนิธิไม่แสวงกำไรของตนเอง

แน่นอนว่าชาวเกาหลีใต้รับไม่ได้กับเรื่องดังกล่าว โดยประชาชนนับล้านคนจากทั่วประเทศได้ออกมาชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ในกรุงโซล เพื่อเรียกร้องกดดันให้ประธานาธิบดีปาร์คลาออกจากตำแหน่ง แม้ประธานาธิบดีปาร์คจะออกมาแถลงขอโทษประชาชนหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่อาจเรียกศรัทธาคืนมาจากประชาชนได้ จากที่เคยมีคะแนนนิยมพุ่งขึ้นไปสูงถึง 63% ในช่วงไม่กี่เดือนหลังเข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 11 ของเกาหลีใต้เมื่อปี 2556 แต่หลังเกิดข่าวฉาว คะแนนนิยมของเธอนั้นดิ่งสู่ก้นเหวที่ 4% จากการสำรวจของ Gallup Korea ทำให้เธอกลายเป็นประธานาธิบดีที่มีคะแนนนิยมต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์การทำผลสำรวจความคิดเห็นของประเทศ

ในเมื่อปาร์คดื้อแพ่งไม่ยอมลาออกซะที จึงทำให้ต้องมีการใช้กระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งในที่สุดรัฐสภาเกาหลีใต้ก็ได้มีมติดัวยคะแนนเสียง 234 ต่อ 56 เสียง เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ที่ผ่านมาให้ถอดถอน ปาร์ค กึน เฮ ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี และศาลรัฐธรรมนูญได้เริ่มกระบวนการตามกฎหมายว่าด้วยการถอดถอนประธานาธิบดี ซึ่งจะใช้เวลา 180 วัน ทั้งนี้ หากมติของรัฐสภาได้รับการรับรองจากศาลรัฐธรรมนูญ ปาร์ค กึน เฮ ก็จะพ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ

แต่ดูเหมือนว่าปาร์คยังหวังรอคำตัดสินสุดท้ายจากศาลรัฐธรรมนูญ เพราะก่อนหน้านี้เคยมีกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาพิจารณา 63 วัน ก่อนตัดสินคัดค้านมติของรัฐสภาที่ให้ถอดถอนประธานาธิบดีโนห์ มู-ฮยอนในปี 2547 ปาร์คคงหวังว่าจะมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นกับเธอบ้าง

จบลงไปแล้วกับ 3 ข่าวใหญ่สุดฮอตประจำปี 2559 มารอดูกันว่า ปีหน้าฟ้าใหม่จะมีข่าวอะไรเด็ดๆ โดนๆ มาให้เราได้ฮือฮากันอีก ขอให้ผู้อ่านทุกท่านโชคดี แล้วพบกันใหม่ในปีระกา 2560


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ