In Focusเกาะติดคดีลอบสังหารพี่ชายต่างมารดาจอมเผด็จการ “คิม จอง อึน" ศึกสายเลือดหรือแค่เรื่องบังเอิญ?

ข่าวต่างประเทศ Wednesday February 22, 2017 13:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลายเป็นกระแสโจษจันกันไปทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง เมื่อพี่ชายต่างมารดาของ “คิม จอง อึน" ผู้นำเกาหลีเหนือถูกลอบสังหารในประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา สื่อต่างประเทศหลายสำนักตีข่าว “คิม จอง นัม" พี่ชายต่างมารดาของคิม จอง อึน ถูกฆาตกรรมในมาเลเซีย และได้รับการยืนยันจากรัฐบาลมาเลเซียในเวลาต่อมาว่า คิม จอง นัม ถูกวางยาพิษที่สนามบินกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย ส่งผลให้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีใต้จำเป็นต้องจัดการประชุมวาระฉุกเฉินทันทีในเช้าวันรุ่งขึ้น

เพียง 2 วันหลังจากที่เกิดเหตุ เกาหลีเหนือได้ขอให้มาเลเซียส่งร่างพี่ชายต่างมารดาของคิม จอง อึน กลับประเทศ แต่มาเลเซียกลับยืนกรานว่าจะยังไม่ส่งร่างผู้เสียชีวิตให้แก่ฝ่ายใดทั้งสิ้นจนกว่าจะได้รับดีเอ็นเอ (DNA) จากสมาชิกในครอบครัวของเขา ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ยังอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนและขยายผลการจับกุมผู้อยู่เบื้องหลัง หลังจากที่สามารถรวบตัวมือสังหารหญิงชาวเกาหลีเหนือ 2 ราย และผู้ต้องสงสัยชาวเกาหลีเหนืออีก 4 ราย

* จับตาความสัมพันธ์เกาหลีเหนือ-มาเลเซีย

นอกจากการลอบสังหารอย่างโหดเหี้ยมแล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจคือ ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ มาเลเซียและเกาหลีเหนือมีความสัมพันธ์ในทิศทางที่เป็นบวกต่อกันมาโดยตลอด แต่เหตุการณ์ล่าสุดนี้อาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต้องสั่นคลอน เนื่องจากมาเลเซียได้ยืนยันสิทธิการตัดสินใจเรื่องขั้นตอนต่างๆของคดี เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในอาณาเขตของมาเลเซีย แม้เกาหลีเหนือจะเรียกร้องให้ส่งร่างพี่ชายผู้นำเกาหลีเหนือกลับประเทศ แต่รัฐบาลมาเลเซียปฏิเสธจนกว่าจะมีการยืนยันอัตลักษณ์จากครอบครัวผู้เสียชีวิต

และเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา มาเลเซียได้เรียกประชุมเอกอัครราชทูตเกาหลีเหนือประจำมาเลเซียเพื่อสอบถามรายละเอียดและคำอธิบายสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเอกอัครราชทูตเผยว่า เกาหลีเหนือไม่เชื่อมั่นในกระบวนการสืบสวนของมาเลเซีย พร้อมกล่าวหาว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังการสอบสวน ขณะที่รมว.ต่างประเทศมาเลเซียก็ออกมาตอบโต้ข้อครหาดังกล่าวว่าไม่มีมูลความจริงและเรียกร้องให้เกาหลีเหนือเคารพกฎหมายมาเลเซีย ดังนั้น จึงเป็นที่น่าจับตาว่า ท่าทีและจุดยืนของมาเลเซียที่มีต่อเหตุการณ์นี้ จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศอย่างไร

* ไร้เงาสมาชิกครอบครัวรับศพ

มาเลเซียต้องการให้ครอบครัวหรือญาติผู้เสียชีวิตส่งมอบหลักฐานดีเอ็นเอ เพื่อยืนยันตัวตนและส่งร่างกลับประเทศ เนื่องจากสถานทูตเกาหลีเหนือไม่ได้ส่งเวชระเบียนหรือประวัติการทำทันตกรรมเพื่อช่วยสนับสนุนกระบวนการดังกล่าว แม้เหตุการณ์ลอบสังหารจะเกิดขึ้นเป็นเวลาราว 1 สัปดาห์แล้ว แต่ยังไม่มีความเคลื่อนไหวของครอบครัวผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม มีข่าวลือว่า “คิม ฮัน ซอล" ลูกชายคนโตของคิม จอง นัม ได้เดินทางเข้ามาในมาเลเซียเมื่อวานนี้เพื่อรับศพบิดา แต่ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลมาเลเซีย ส่งผลให้ทั่วโลกต่างเฝ้ารอการปรากฎตัวของคิม ฮัน ซอล วัย 22 ปี ผู้มีใจเปิดกว้างทางการเมืองและต่อต้านการปกครองแบบเผด็จการของผู้เป็นลุง เข้ามอบตัวอย่างดีเอ็นเอเพื่อให้กระบวนการพิสูจน์อัตลักษณ์มีความคืบหน้ามากกว่านี้

* ปมสังหารที่รอการเฉลย

แม้มูลเหตุจูงใจของฆาตกรยังไม่ถูกเปิดเผย แต่สื่อหลายสำนักได้พุ่งประเด็นไปที่ “ศึกสายเลือด" โดยระบุว่า การลอบสังหารครั้งนี้อาจเกี่ยวข้องกับปมขัดแย้งในตระกูลของผู้นำเกาหลีเหนือ เนื่องจากคิม จอง นัม วัย 45 ปี และคิม จอง อึน วัย 33 ปี ได้สะบั้นความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องลงตั้งแต่เมื่อครั้งพิธีศพ คิม จอง อิล อดีตผู้นำของประเทศ จากนั้น คิม จอง อึน ได้ขึ้นปกครองประเทศต่อจากผู้เป็นบิดา ขณะที่ คิม จอง นัม ย้ายออกจากเกาหลีเหนือไปอาศัยอยู่ต่างประเทศ พี่ชายต่างมารดามักมีความเห็นตรงข้ามและวิพากษ์วิจารณ์การปกครองแบบเผด็จการของน้องชายต่างมารดาอยู่เสมอ

นอกจากนั้น "ลี โชล หวู" หัวหน้าคณะกรรมการข่าวกรองในเกาหลีใต้ผู้ให้ความคุ้มครองคิม จอง นัม ขณะอาศัยอยู่ในประเทศ ได้กล่าวว่า คิม จอง อึน ได้ออกคำสั่งสังหารพี่ชายต่างมารดาตั้งแต่ที่เขาเริ่มดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศในปี 2554 กระทั่งคิม จอง นัม ต้องส่งจดหมายขอร้องให้น้องชายยกเลิกคำสั่งดังกล่าว แต่ทว่าคำร้องขอนั้นไม่เป็นผล เพราะถึงแม้เขาจะไร้อิทธิพลและไม่มีตำแหน่งใดๆทางการเมือง เขาก็หนีชะตากรรมเช่นนี้ไม่พ้นอยู่ดี

* ตระกูลคิมผู้ชี้ชะตา

เหตุการณ์ลอบสังหารคิม จอง นัม ไม่ใช่เหตุการณ์ที่สร้างความตกตะลึงให้กับทั่วโลกเป็นครั้งแรก เพราะในช่วง 6 ปีแห่งการดำรงตำแหน่ง ผู้นำเกาหลีเหนือมีส่วนพัวพันกับการปลิดชีวิตเจ้าหน้าที่และคนสำคัญระดับสูงของประเทศมาโดยตลอด

ด้วยการควบคุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จและการฝังรากความคิด “ตระกูลคิม" ว่าเป็นบุคคลที่ชี้นกเป็นนกชี้ไม้เป็นไม้และกุมชะตาชีวิตของคนในประเทศมาตั้งแต่ยุคการปกครองของ "คิม อิล ซุก" (ปู่ของคิม จอง อึน) หรือประมาณหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้นำเกาหลีเหนือสามารถส่งคนเข้าคุกหรือสั่งประหารชีวิตโดยที่ใครก็มิอาจขัดขืน ดังจะเห็นได้จากการนำเสนอข่าวการสังหารบุคคลในเกาหลีด้วยวิธีการที่โหดร้ายอย่างคาดไม่ถึง ซีเอ็นเอ็นเคยรายงานว่า คิม จอง อึน ได้สังหารผู้คนไปแล้วราว 340 รายนับตั้งแต่การรับตำแหน่งต่อจากบิดาในปี 2554 โดย 140 รายในจำนวนดังกล่าวเป็นเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของเกาหลีเหนือ

นักวิเคราะห์ด้านการป้องกันประเทศระดับอาวุโสประจำองค์กร RAND Corporation กล่าวว่า คิม จอง อึน ได้สังหารรมว.กลาโหมไปแล้ว 5 ราย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ บิดาของเขา คิม จอง อิล เปลี่ยนตัวรมว.กลาโหมไปเพียง 3 คนตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 17 ปี เนื่องจากการเสียชีวิตด้วยโรคชรา

นอกจากนี้ ในเดือนธ.ค. 2559 หน่วยข่าวกรองกาหลีใต้เปิดเผยว่า เกาหลีเหนือได้สั่งประหารชีวิต “จาง ซอง แต๊ก" ผู้มีศักดิ์เป็นลุงเขยของคิม จอง อึน ด้วยการยิงเป้า ในข้อหาทรยศต่อผู้นำ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก พร้อมกับประณามว่าวิธีการลงโทษนั้นไร้อารยะและไร้ซึ่งข้อยกเว้น แม้จาง ซอง แต๊ก จะเลี้ยงดูคิม จอง อึน มาตั้งแต่ยังแบเบาะก็ตาม

แม้ว่า จะยังไม่มีการเปิดเผยผลการชันสูตรและกระบวนการทางกฎหมายยังไม่ได้บทสรุป แต่หลายประเทศทั่วโลกต่างพุ่งสาเหตุเบื้องหลังการลอบสังหารคิม จอง นัมครั้งนี้ไปยังเกาหลีเหนือและประเด็นความขัดแย้งทางสายเลือดของ 2 พี่น้องต่างมารดา ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว “คดีลอบสังหารคิม จอง นัม" จะลงเอยอย่างไรและจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างมาเลเซีย-เกาหลีเหนือมากน้อยเพียงใด เราคงต้องติดตามกันต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ