In Focusส่องท่าทีสหรัฐ การเลือกเยือน "ซาอุดิอาระเบีย" เป็นประเทศแรกของ "ทรัมป์" บอกอะไรได้บ้าง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 24, 2017 15:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สถานการณ์ที่สามารถครองพื้นที่สื่อได้เป็นเวลาหลายวันตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ คงหนีไม่พ้นการเยือนซาอุดิอาระเบียของนายโดนัลด์ ทรัมป์ประธานาธิบดีสหรัฐ In Focus วันนี้จึงขอกลับมาให้ความสำคัญกับความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญครั้งใหม่ของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐคนปัจจุบัน ซึ่งไม่ว่าจะทำอะไรก็กลายเป็นที่พูดถึงอยู่เสมอ แต่ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ นับว่ามีความสำคัญมากพอที่สื่อต่าง ๆ ไม่อาจเพิกเฉยได้ เนื่องจากเป็นครั้งแรกนายโดนัลด์ ทรัมป์ได้เดินทางเยือนต่างประเทศในฐานะประธานาธิบดี ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่หลาย ๆ ฝ่ายมองว่า เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงท่าทีของนโยบายต่างประเทศสหรัฐ โดยจุดหมายปลายทางแรกที่โดนัลด์ ทรัมป์เลือกที่จะไปเยือนก็คือ ดินแดนแห่งสองมัสยิดศักดิ์สิทธิ์ “ประเทศซาอุดิอาระเบีย" โดยประธานาธิบดีทรัมป์ พร้อมด้วยนางเมลาเนีย ทรัมป์ สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง นางอิวังกา ทรัมป์ ผู้เป็นบุตรสาว นายจาเร็ด คุชเนอร์ บุตรเขย และคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐ ได้เริ่มออกเดินทางไปยังซาอุดิอาระเบียตามกำหนดการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งทางฝ่ายซาอุดิอาระเบียนำโดยกษัตริย์ซัลมาน บิน อับดูลาซิส ก็ช่วยดำเนินการส่งคำเชิญไปยังบรรดาผู้นำประเทศอาหรับและอิสลามทั้งหมด 17 ประเทศให้มาเข้าร่วมประชุมสุดยอดร่วมกับผู้นำสหรัฐในกรุงริยาดห์ครั้งนี้ด้วย หลายฝ่ายคาดว่า ในระหว่างการเยือนซาอุดิอาระเบียครั้งนี้ ทรัมป์จะทำการลงนามในข้อตกลงหลายฉบับร่วมกับผู้นำซาอุดิอาระเบีย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคง และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองประเทศ

*ประเทศแรก สำคัญไฉน?

ไม่ว่าใครจะเป็นผู้นำประเทศไหน การเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรกในฐานะผู้ของประเทศย่อมได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ฉะนั้น ความเคลื่อนไหวของประเทศมหาอำนาจของโลกอย่างสหรัฐย่อมถูกจับตามองโดยคนทั่วโลกอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะในหลาย ๆ ครั้ง การเดินทางเยือนประเทศใดเป็นประเทศแรก สามารถเป็นปัจจัยที่สะท้อนให้เห็นว่า ผู้นำสหรัฐแต่ละคน หรือรัฐบาลแต่ละชุด ให้ความสำคัญกับประเทศใดเป็นพิเศษ ซึ่งโดยปกติแล้วผู้นำสหรัฐคนก่อน ๆ เช่น นายบิล คลินตัน นายจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช และนายบารัค โอบามา ได้เลือกที่จะเดินทางเยือนประเทศเพื่อนบ้านของสหรัฐก่อน โดยนายคลินตันเลือกเยือนแคนาดาเป็นประเทศแรก ส่วนนายบุชเลือกที่จะเยือนเม็กซิโกเป็นประเทศแรก ในขณะที่นายโอบามาเลือกที่จะเดินทางเยือนแคนาดาเป็นประเทศแรกในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐ แต่สำหรับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ไม่เหมือนใคร ได้ตัดสินใจนั่งเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวัน ทะยานขึ้นสู่น่านฟ้า ข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังหนึ่งในประเทศอิสลามที่มีอิทธิพลมากที่สุดแห่งดินแดนทะเลทรายอาหรับ ซึ่งก็คือซาอุดิอาระเบีย

การเยือนครั้งแรกนี้จึงมีประเด็นสำคัญในแง่ที่ว่า นายทรัมป์ได้ให้ความสำคัญกับประเทศมุสลิม และมองว่าปัญหาอันเนื่องมาจากกลุ่มหัวรุนแรงถือเป็นปัญหาสำคัญที่สหรัฐจะต้องร่วมมือกับประเทศมุสลิมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ อาจเป็นการช่วยเสริมภาพลักษณ์ใหม่ให้กับนายโดนัลด์ ทรัมป์ด้วยว่า เป็นผู้นำที่สามารถสร้างความสัมพันธ์อันดี หรือสามารถช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและประเทศมุสลิมได้ หลังจากที่นายทรัมป์มักจะถูกสื่อหลายสำนักโจมตีอย่างต่อเนื่องว่า เป็นผู้นำที่มีลักษณะการพูดจาแบบขวานผ่าซาก หุนหันพลันแล่น คาดเดายาก หรือแม้กระทั่งเหยียดเชื้อชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ล้วนจะนำมาซึ่งความขัดแย้งในระดับนานาชาติ นอกจากนี้ จากการเดินทางเยือนนายโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้เราเริ่มมองเห็นอะไรมากขึ้นแล้วว่า แม้ความเคลื่อนไหวของเขาจะแตกต่างจากประธานาธิบดีคนอื่น ๆ แต่ประธานาธิบดีคนใหม่รายนี้ยังคงเน้นไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เพราะข้อตกลงซื้อขายอาวุธกับรัฐบาลซาอุดิอาระเบียที่ได้ทำการลงนามเสร็จสิ้นไปแล้วนั้น มีมูลค่าสูงถึง 1.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ประเด็นไม่ใช่เพียงแค่จำนวนเม็ดเงิน แต่ประธานาธิบดีสหรัฐได้กล่าวไว้ด้วยว่า ซาอุดิอาระเบียจะเข้ามาลงทุนในสหรัฐโดยมีมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์ ซึ่งนั่นหมายถึงอัตราการจ้างงานที่จะเพิ่มขึ้นสมใจประชาชนที่เทคะแนนโหวตให้ทรัมป์ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

*ทรัมป์ และโอบามา ผู้ตกเป็นประเด็นเปรียบเทียบระหว่าง ผู้นำในอดีตและปัจจุบันของสหรัฐ

แน่นอนว่าตลอดระยะเวลามากกว่า 100 วันแห่งการเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ความเคลื่อนไหวของประธานาธิบดีป้ายแดงจะต้องถูกยกไปเปรียบเทียบกับประธานาธิบดีคนเก่าอย่างนายบารัค โอบามาอยู่เสมอ การเยือนซาอุดิอาระเบียครั้งนี้ก็เช่นกัน นายโดนัลด์ ทรัมป์ได้ตกเป็นประเด็นให้บรรดาสื่อหัวต่าง ๆ นำผลงานและความเคลื่อนไหวของเขาไปเปรียบเทียบกับอดีตประธานาธิบดีโอบามา โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าด้วยยอดขายอาวุธ

สำหรับนายบารัค โอบามานั้น หากนับจนถึงเดือนกันยายนปี 2559 หรือคิดเป็นระยะเวลากว่า 8 ปีของการเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ นายโอบามาได้ทำการเสนอค้าอาวุธให้กับซาอุดิอาระเบียมีมูลค่ารวมกว่า 1.15 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในระยะเวลาดังกล่าว ก็มีการยกเลิกสัญญาเกิดขึ้น หลังจากที่ซาอุดิอาระเบียได้ใช้อาวุธโจมตีเยเมนซึ่งกำลังเผชิญกับภาวะสงครามกลางเมือง สหรัฐมองว่าความเคลื่อนไหวครั้งนี้จะทำให้อัตราการเสียชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์สูงขึ้น ซึ่งประเด็นดังกล่าวถือเป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นสิทธิมนุษยชนซึ่งรัฐบาลของนายโอบามาค่อนข้างให้ความสำคัญ

ต่อมา เมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ได้เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐต่อจากนายโอบามา และได้เดินทางเยือนซาอุดิอาระเบียอย่างเป็นทางการ นายทรัมป์ได้ทำข้อตกลงซื้อขายอาวุธทันทีด้วยมูลค่ากว่า 1.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นถึงแผนนโยบายต่างประเทศของสหรัฐที่เปลี่ยนไปด้วยว่า ขณะนี้สหรัฐคงต้องการที่จะสร้างความสัมพันธ์อันดีกับซาอุดิอาระเบียอีกครั้ง หลังจากที่เกิดความบาดหมางขึ้นในสมัยของอดีตประธานาธิบดีโอบามา โดยนายทรัมป์ต้องการร่วมมือกับซาอุดิอาระเบียในการต่อสู้กับกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) พร้อมทั้งยังมีท่าทีต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนที่เบาลงกว่ารัฐบาลชุดก่อน อย่างไรก็ดี โจทย์เก่า ๆ ก็ถูกนำกลับมาย้อนตั้งเป็นคำถามอีกครั้งว่า ต่อจากนี้ไป นายทรัมป์จะทำอย่างไรต่อไปกับความเคลื่อนไหวของซาอุดิอาระเบีย และอาจจะต้องจับตาดูต่อไปว่า การซื้อขายอาวุธครั้งนี้จะส่งผลกระทบใด ๆ ต่อสถานการณ์ในเยเมนอีกหรือไม่ และถ้าหากมีความตึงเครียดเกิดขึ้นในเยเมนอีกครั้ง สหรัฐจะรับมือกับสถานการณ์ทั้งในด้านความมั่นคง และสิทธิมนุษยชนต่อไปอย่างไร

*ทรัมป์ เยือน ซาอุฯ นิมิตหมายอันดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ?

การเยือนครั้งนี้ส่งผลให้ผู้ที่ติดตามสถานการณ์หลายรายมองว่า เป็นการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและซาอุดิอาระเบีย รวมไปถึงการคลี่คลายความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและประเทศมุสลิมด้วย เพราะไม่เพียงแค่สหรัฐจะเข้าไปเกี่ยวพันกับซาอุดิอาระเบียมากขึ้นในเชิงของเศรษฐกิจ อันจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันระหว่างสองประเทศ และในเชิงความมั่นคงซึ่งเกี่ยวกับการซื้อขายอาวุธให้กันแล้ว นายทรัมป์ยังถือโอกาสนี้ในการชี้แจงให้บรรดาประเทศมุสลิมได้เข้าใจว่า ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของสหรัฐไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกีดกันทางศาสนา พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมมือกันต่อต้านลัทธิหัวรุนแรงที่ยังคงเป็นภัยคุกคามสำหรับหลาย ๆ ประเทศ

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนมองว่า ความเคลื่อนไหวครั้งนี้อาจจะไม่ได้ช่วยการันตีสันติภาพหรือเป็นการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว เนื่องจากแต่ละประเทศย่อมแสวงหาผลประโยชน์ของชาติให้มาก่อน ดังที่ภาษิตหนึ่งที่อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ นายวินสตัน เชอร์ชิล เคยยกมากล่าวว่า “เราไม่มีคำว่ามิตรแท้ที่ยั่งยืน หรือศัตรูที่ถาวร มีเพียงผลประโยชน์เท่านั้นที่เป็นนิรันดร์" อีกทั้งการตีความหรือการนิยามคำว่า “ผลประโยชน์แห่งชาติ" ของแต่ละประเทศนั้นก็แตกต่างกันออกไป และสามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นก็คือ บางประเทศอาจมองว่าผลประโยชน์ด้านความมั่นคงมีความสำคัญกว่าผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ ในขณะที่บางประเทศอาจคิดกลับกัน ยิ่งถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลก็จะทำให้ประเด็นนี้ซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก นอกจากนี้ยังไม่รวมถึงผลกระทบที่เกิดกับประเทศอื่น ๆ เช่น อิหร่าน คู่แข่งสำคัญของซาอุดิอาระเบีย และเยเมนที่พลอยได้รับผลกระทบจากการปราบกลุ่มกบฏฮูตีของซาอุดิอาระเบียซึ่งใช้อาวุธที่ซื้อมาจากสหรัฐ ซึ่งมักจะทำให้พลเรือนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ดังนั้นการเกี่ยวพันหรือการสานสัมพันธ์กันครั้งนี้จึงมีความท้าทายใหม่ ๆ ตามมาด้วย และยังคงไม่สามารถทำให้ทุกฝ่ายสบายใจ หรือมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันได้ในระยะยาว

ทั้งหมดนี้ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจที่ได้มาจากการติดตามสถานการณ์การเยือนซาอุดิอาระเบียของผู้นำของประเทศที่มีอิทธิพลสูงสุดของโลก ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นภารกิจที่ซาอุดิอาระเบียแล้ว นายทรัมป์ได้เดินทางต่อไปยังอิสราเอล ก่อนที่จะเดินทางเข้าร่วมการประชุมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียมในวันพฤหัสบดีนี้ และจะเดินทางต่อไปยังอิตาลีเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอด G7 ที่เมืองซิซิลี ในวันที่ 26-27 พฤษภาคม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ