In Focusจีน - สหรัฐ - เยอรมนี กับการขับเคี่ยวสู่ผู้นำในอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า

ข่าวต่างประเทศ Wednesday January 17, 2018 17:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในช่วง 1-2 ปีมานี้ หลายประเทศต่างพากันออกมาประกาศว่า “นับตั้งแต่ปี 2573 เป็นต้นไป รถยนต์ที่วิ่งบนถนนในประเทศจะเหลือแค่รถยนต์ไฟฟ้า" ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวได้ทำให้ค่ายรถยนต์ทั่วโลกเริ่มปรับแผนธุรกิจเพื่อมุ่งสู่การผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (electric vehicles : EV) กันถ้วนหน้า

In Focus ในสัปดาห์นี้จึงหยิบยกเอาเรื่องราวของผู้นำในอุตสาหกรรม EV มานำเสนอ ซึ่งเมื่อพูดถึง “รถยนต์ไฟฟ้า" ชื่อของ “เทสลา" ย่อมผุดขึ้นมาเป็นชื่อแรกในความคิดของหลาย ๆ คน เพราะแม้จะเพิ่งก่อตั้งได้เพียงสิบกว่าปี แต่ชื่อชั้นของ Tesla Motors ก็ขึ้นเป็นอันดับ 1 ในแง่ของผู้นำด้านรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างรวดเร็ว

ยอดจองถล่มทลาย

เมื่อเดือนมี.ค. 2559 อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้ง Tesla Motors ทวีตถึงการจองรถยนต์พลังงานไฟฟ้า Tesla Model 3 จำนวน 253,000 คัน ใน 36 ชั่วโมงแรก และพุ่งขึ้นเป็น 325,000 คันในสัปดาห์แรก นับเป็นสินค้าที่มียอดจำหน่ายเปิดตัวมากสุดในโลก ซึ่งนอกจากการเปิดจองโดยให้วางเงินแค่ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมให้สัญญาใจว่าจะเพิ่มสถานีชาร์จกว่า 7,000 แห่งทั่วสหรัฐแล้ว สิ่งที่ทำให้ Tesla Model 3 สร้างปรากฏการณ์สะเทือนอุตสาหกรรมรถยนต์ได้มากขนาดนี้เห็นทีคงหนีไม่พ้นเรื่องของสมรรถนะ ความปลอดภัย ต้นทุนเชื้อเพลิงและการบำรุงรักษา รวมถึงการสร้างมลภาวะที่เป็นศูนย์ เช่นเดียวกับรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นอื่น ๆ ของบริษัท

ทั้งนี้ http://longtunman.com/367 อธิบายว่าเครื่องยนต์ของรถที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงนั้นมีประมาณ 200 ชิ้นส่วน แต่สำหรับรถไฟฟ้าแล้วมีเพียงแค่ 10 ชิ้นส่วนเท่านั้นเอง ส่งผลให้ต้นทุนการบำรุงรักษาถูกกว่า และเมื่อรถเบาลงก็สามารถวิ่งได้เร็วขึ้น นอกจากนี้อัตราการเร่งของรถไฟฟ้ายังได้เปรียบรถที่ใช้น้ำมันเพราะไม่มีเกียร์อีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อต้นปีที่แล้ว เทสลายังทำสิ่งที่เหนือความคาดหมายด้วยการสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยร่วมมือกับบริษัทพานาโซนิค ด้วยเงินลงทุนที่คาดว่าน่าจะเกิน 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ บนพื้นที่ถึง 1 ล้านตารางเมตร ซึ่งใช้พลังงานหมุนเวียน 100% จากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม

ปรากฏการณ์ดังกล่าวผลักดันให้คู่แข่งของเทสลาซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ชื่อดังสัญชาติเยอรมันอย่าง เดมเลอร์ บีเอ็มดับเบิลยู และ โฟล์กสวาเกน หันมาให้ความสำคัญในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง รวมถึงสร้างโรงงานแบตเตอรีเป็นของตัวเองด้วย

ปรับตัวได้ แต่(ยัง)ไปไม่ถึง

เมื่อพูดถึงการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าของเยอรมนี ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเยอรมนี รายงานเอาไว้ใน www.thaibizgermany.com เมื่อปลายปีที่แล้วว่า แม้เดมเลอร์ บีเอ็มดับเบิลยู และโฟล์กสวาเกน จะมีศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยี EV แต่ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโมเดลยานยนต์ หรือก้าวตามคู่แข่งอย่างเทสลาได้อย่างทันท่วงที

หากจะเปรียบเทียบระหว่างผู้ผลิตสัญชาติเยอรมันทั้ง 3 รายข้างต้น อาจกล่าวได้ว่า บีเอ็มดับเบิลยูดูจะมีความก้าวหน้าในเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุด นอกจากนี้ บริษัทยังวางแผนจ้างพนักงาน ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัยและพัฒนา รวมถึงวิศวกรอีกกว่า 2,500 ชีวิตภายในปีนี้ เพื่อพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ ซึ่งถือเป็นความต้องการแรงงานผู้เชี่ยวชาญเพิ่มขึ้นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของบริษัทเลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญจาก Nationale Plattform Elektromobilitat ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณะผู้ประสานงานด้านนโยบายส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานพาหนะไฟฟ้าที่สำคัญที่สุดของเยอรมนีเห็นว่า ในช่วงระยะ 10 ปีข้างหน้า ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดเยอรมนีจะยังเป็นรองรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ชนิดสันดาปภายใน ด้วยข้อจำกัดด้านราคา ระยะทางการขับเคลื่อน และการติดตั้งจุดชาร์จแบตเตอรี

เหตุผลข้างต้นนี้เองที่ทำให้อุปสงค์รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ อีกทั้งมาตรการกระตุ้นยอดขายที่ทางรัฐบาลประกาศออกมาเมื่อปี 2558 ว่าจะจ่ายเงินอุดหนุนประชาชนทุกคนที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าใหม่เป็นเงินจำนวน 4,000 ยูโร ก็ยังไม่สามารถทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นที่นิยมในหมู่ชาวเยอรมันได้

ยิ่งหากเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดต่างประเทศแล้ว อาจกล่าวได้ว่าเยอรมนียังเป็นตลาดรถยนต์ที่ผู้บริโภคเริ่มที่จะทำความรู้จักกับรถยนต์ไฟฟ้าและความนิยมซื้อรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร ดังจะเห็นได้จากยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ในสหรัฐ จีน หรือ ญี่ปุ่น ที่ต่างก็มียอดขายมากกว่า 200,000 คันในปี 2559 หรือแม้กระทั่งเมื่อเปรียบเทียบกับนอร์เวย์ซึ่งมีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้ารวมทั้งหมดกว่า 100,000 คันในปี 2559 ซึ่งมากกว่าเยอรมนีเกือบ 3 เท่า ทั้งที่มีประชากรน้อยกว่าเยอรมนีถึง 16 เท่า

ทั้งนี้ อาจเป็นผลจากการที่บริษัทในซิลิคอนวัลเลย์และในประเทศจีนเริ่มมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าไปก่อนหน้าผู้ผลิตเยอรมนี ที่ก่อนหน้านี้อาจละเลยศักยภาพของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า และยังคงมุ่งเน้นลงทุนไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องยนต์เบนซินหรือดีเซลเพียงอย่างเดียว

หัวเราะทีหลังดังกว่า

แม้จะเริ่มผลิตรถยนต์ออกสู่ตลาดโลกตามหลังประเทศในแถบตะวันตก แต่ในปี 2559 จีนสามารถโค่นสหรัฐขึ้นแท่นตลาดยานยนต์ไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกได้สำเร็จ จากการส่งเสริมของรัฐบาลจีนทั้งในแง่ของเงินอุดหนุนและการยกเว้นภาษี โดยข้อมูลล่าสุดจากสมาคมผู้ผลิตยานยนต์จีนแสดงให้เห็นว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศเดือนพ.ย. 2560 พุ่งขึ้น 80% เมื่อเทียบรายปีสู่ระดับ 119,000 คัน ขณะที่ยอดการผลิตและจำหน่ายในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2560 อยู่ที่ 639,000 และ 609,000 คันตามลำดับ โดยเพิ่มขึ้นถึง 49.7% และ 51.4% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

นอกจากนี้ บริษัทยานยนต์ชั้นนำของจีนอย่าง บีวายดี บีเอไอซี และ จีลี่ ต่างก็ติดทำเนียบแบรนด์ระดับโลกที่มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าสูงเป็นอันดับต้น ๆ ในปี 2559 ด้วยเช่นกัน ซึ่งหากสหรัฐมี “เทสลา" ก็ต้องบอกว่าจีนเองก็มี “บีวายดี" ที่ไม่น้อยหน้ากันเลยทีเดียว

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 2 - 5 เมษายน 2560 ให้ข้อมูลไว้ว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของจีนนั้นเริ่มมาตั้งแต่ปี 2533 โดยรัฐบาลจีนจัดสรรงบประมาณจำนวน 1.5 พันล้านดอลลาร์ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมทำการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แต่ปัญหาหลักในยุคแรก ๆ คือการขาดเทคโนโลยีและสถานีชาร์จไฟฟ้า ความสำเร็จในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าจีนที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดคงเป็นกรณีของ “BYD Auto" ซึ่งย่อมาจาก “Build Your Dream" อันมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองซี่อาน ก่อตั้งเมื่อปี 2538

เว็บไซต์ finnomena.com ระบุว่า ในช่วงก่อตั้งนั้น บีวายดีเริ่มจากธุรกิจการผลิตแบตเตอรีเพื่อลดการนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น จากนั้นประมาณปี 2543 บริษัทก็เริ่มเข้าสู่ธุรกิจผลิตและรับประกอบอุปกรณ์เกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ และในอีก 2 ปีต่อมา บีวายดีก็ได้เข้าเทคโอเวอร์ Tsinchuan Automobile Company เพื่อก้าวเข้าสู่ธุรกิจรถยนต์ และต่อยอดความเชี่ยวชาญในการผลิตแบตเตอรี่มาใช้ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

ในปี 2559 ที่เทสลามียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 70,000 คัน บีวายดีมียอดขายแตะ 120,000 คัน ครองส่วนแบ่งตลาดประมาณ 24% ซึ่งมากที่สุดในประเทศ ทว่าบีวายดีนั้นไม่ได้มีดีแค่รถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล แต่ยังผลิตรถเมล์ไฟฟ้าที่เรียกว่า e-BUS ส่งขายตามเมืองใหญ่ ๆ ในต่างประเทศมากมาย อาทิ ลอนดอน ซิดนีย์ บริสเบน และแอลเอ ที่ซึ่งบริษัทมีโรงงานผลิตอยู่ด้วย ซึ่งยอดขาย e-Bus ของบีวายดี คิดเป็นประมาณ 20% ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัท

ล่าสุด สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เซี่ยงไฮ้ ซัมซุง เซมิคอนดักเตอร์ ได้ซื้อหุ้นของบีวายดี จำนวน 52.3 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่า 3 พันล้านหยวน หรือประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยบีวายดีได้ออกมาแถลงว่าจะนำเงินลงทุนที่ได้รับจากซัมซุงมาใช้ในการขยายการผลิต วิจัย และพัฒนาแบตเตอรีซึ่งเป็นขุมพลังของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ