In Focusสหรัฐ-จีนกลับมาเล่นหมัดหนักอีกครั้ง แล้วใครจะอยู่หรือไปในมหาสงครามการค้าครั้งนี้

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 20, 2018 13:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นับตั้งแต่ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อต้นปีที่ผ่านมา คำว่า "สงครามการค้า" ก็ได้ปรากฏให้เห็นบนพื้นที่สื่อทั่วโลก เมื่อมองไปทางทิศเหนือและใต้ สหรัฐก็ดูเหมือนจะพร้อมทำสงครามการค้ากับแคนาดาและเม็กซิโก มองไปทางตะวันออก การค้าระหว่างสหรัฐกับสหภาพยุโรป (EU) ก็ดูไม่ค่อยสู้ดีสักเท่าไร และเมื่อข้ามน้ำข้ามทะเลไปทางตะวันตกแล้ว ก็มีสงครามการค้าครั้งใหญ่รอวันปะทุอยู่กับมหาอำนาจเบอร์ 2 ของโลกอย่างจีน

การค้าระหว่างสหรัฐกับจีนได้ยกระดับเป็นมหาสงครามการค้าแล้ว เพราะทั้งสหรัฐและจีนต่างเป็นมหาอำนาจระดับท็อป 2 ของโลก ซึ่งมีการนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างกันเป็นจำนวนมาก ประเด็นสงครามการค้าระหว่าง 2 ประเทศนี้ได้กลับมาอยู่ในกระแสอีกครั้ง โดยไม่กี่วันที่ผ่านมา ปธน.ทรัมป์ ได้ขู่ที่จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนรอบใหม่ในอัตรา 10% วงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์ พร้อมขู่ล่วงหน้าอีกว่า หากรัฐบาลจีนเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเพิ่มอีก เพื่อตอบโต้แผนเก็บภาษีนำเข้ารอบใหม่นี้ สหรัฐก็พร้อมเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนในวงเงินเพิ่มอีก 2 แสนล้านดอลลาร์ หลังก่อนหน้านั้น รัฐบาลสหรัฐได้มีการประกาศรายชื่อสินค้าจีนที่จะถูกเรียกเก็บภาษี วงเงินรวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

ด้านรัฐบาลจีนซึ่งเป็นมวยถูกคู่อย่างแท้จริงก็ได้โต้กลับอย่างไม่กลัวคำขู่ของสหรัฐว่า จีนพร้อมตอบโต้อย่างรุนแรง หากรัฐบาลสหรัฐเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มอีก 10% จริงตามที่ได้ขู่ไว้ โดยมาตรการตอบโต้ของจีนจะเป็นไปในทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ

  • "ภาษีนำเข้า" จุดกำเนิดสงครามการค้า

อีกคำหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นบ่อยไม่แพ้คำว่าสงครามการค้าคือ "ภาษีนำเข้า" ซึ่งนับได้ว่าเป็นจุดกำเนิดของมหาสงครามการค้าครั้งนี้ ภาษีนำเข้านั้นเป็นเครื่องมือทางการค้าประเภทหนึ่งที่ไม่ได้มีการใช้อย่างจริงจังมานานมากแล้ว แต่ในช่วงปีสองปีนี้ ปธน.ทรัมป์ได้ใช้เครื่องมือดังกล่าวจนทำให้การกำหนดภาษีนำเข้าเป็นสิ่งที่ประเทศอื่นๆกลับมาจับตา โดยการที่ 2 มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกออกมาขู่ที่จะขึ้นภาษีนำเข้าในวงเงินที่สูงและครอบคลุมสินค้าหลายประเภทเช่นนี้ ย่อมนำมาซึ่งสงครามการค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ย้อนกลับไปเมื่อวันศุกร์ที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา สหรัฐได้ออกตัวแรงด้วยการประกาศบัญชีรายการสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งจะถูกเรียกเก็บภาษี 25% เพื่อตอบโต้การที่จีนขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐ โดยสำนักงานตัวแทนการค้าสหรัฐ (USTR) แถลงว่า อัตราภาษีดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ต่อสินค้าจำนวน 1,100 รายการของจีน โดยสินค้าล็อตแรกจำนวน 818 รายการ มูลค่า 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ จะถูกเรียกเก็บภาษีในวันที่ 6 ก.ค. ขณะที่สินค้าล็อตที่ 2 กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา

ขณะที่จีนเองก็ไม่น้อยหน้า เพราะหลังจากนั้นไม่นานก็ได้ออกมาประกาศมาตรการตอบโต้ในลักษณะเดียวกัน รัฐบาลจีนได้เปิดเผยบัญชีรายการสินค้านำเข้าจากสหรัฐที่จะถูกเรียกเก็บภาษี 25% โดยจีนได้ตัดสินใจเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐจำนวน 659 รายการ โดยเรียกเก็บในอัตรา 25% คิดเป็นมูลค่ารวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์ อัตราภาษีดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้กับสินค้านำเข้าจากสหรัฐล็อตแรกจำนวน 545 รายการ คิดเป็นมูลค่า 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงสินค้าด้านการเกษตร ยานยนต์ และสินค้าทางทะเล มีผลตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค.นี้เป็นต้นไป ส่วนการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจำนวนที่เหลือนั้น จะมีการประกาศหลังจากนั้น

การออกมาโต้กลับของรัฐบาลจีนได้สร้างความไม่พอใจอย่างมากต่อปธน.ทรัมป์ ส่งผลให้ล่าสุดเมื่อวานนี้ ผู้นำสหรัฐได้ขู่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนรอบใหม่ในวงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังมีโอกาสเก็บภาษีนำเข้าในวงเงินเพิ่มอีก 2 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งหากสหรัฐมีการเรียกเก็บภาษีจริงแล้ว วงเงินทั้งหมดนี้เมื่อรวมกับของเดิมที่ประกาศไปแล้วก็จะอยู่ที่ 4.5 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 14.7 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็นประมาณ 90% ของสินค้าที่จีนส่งออกไปยังสหรัฐเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา

การกำหนดภาษีนำเข้ากับสินค้าต่างประเทศนั้นไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะครอบคลุมเพียงสินค้าไม่กี่ประเภทเท่านั้น แม้ชาติที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดอย่างสหรัฐกับแคนาดาก็มีประเด็นด้านภาษีนำเข้าเช่นกัน แต่ของสหรัฐกับแคนาดานั้นครอบคลุมสินค้าไม่กี่ชนิด เช่น ผลิตภัณฑ์นม ไม้เนื้ออ่อน หรือล่าสุดเหล็กและอลูมิเนียม ไม่ได้เรียกเก็บในวงเงินที่สูงหรือครอบคลุมสินค้าในวงกว้างอย่างที่ทำกับจีน โดยการที่สหรัฐเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนหมายความว่า ผู้บริโภคในสหรัฐต้องจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อซื้อสินค้าจีน ซึ่งอาจทำให้ชาวอเมริกันเลือกซื้อสินค้าจากประเทศอื่นแทน และกระทบต่อประเทศจีนในท้ายที่สุด

*ยังไม่กระทบกระเป๋าเงินของชาวอเมริกัน แต่อนาคตยังไม่แน่

แม้การที่สหรัฐได้ประกาศบัญชีรายการสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งจะถูกเรียกเก็บภาษี 25% นั้นน่าจะส่งผลให้ประชาชนทั่วไปต้องเสียเงินมากขึ้นเพื่อซื้อสินค้าจีน แต่เมื่อมองลึกลงไปในบัญชีรายการสินค้าแล้ว กระเป๋าเงินของครัวเรือนทั่วไปอาจไม่ได้รับผลกระทบมากเช่นนั้น โดยรายการสินค้าในบัญชีสินค้าที่จะถูกเรียกเก็บภาษีดังกล่าว ส่วนใหญ่แล้วเน้นไปที่สินค้าในภาคอุตสาหกรรมไฮเทค เช่น หุ่นยนต์ อากาศยาน และรถยนต์ ขณะที่สินค้าจีนอันเป็นที่แพร่หลายในสหรัฐ เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บางประเภท และเครื่องแต่งกาย ยังไม่อยู่ในบัญชีรายการสินค้านี้

อย่างไรก็ดี การที่ปธน.ทรัมป์ได้ขู่ที่จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนรอบใหม่ และได้ขอให้ผู้แทนการค้าสหรัฐตรวจสอบรายการสินค้าจีนที่ควรถูกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติมนั้น ได้ก่อให้เกิดความวิตกกังวลว่า สินค้าจีนที่แพร่หลายในสหรัฐอย่างโทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ เสื้อผ้า และสิ่งทอ อาจถูกเรียกเก็บภาษีไปด้วย โดยนักวิเคราะห์มองว่า โทรศัพท์มือถือและโทรทัศน์อาจถูกเพ่งเล็งมากกว่า เนื่องจากเป็นสินค้าที่อาศัยเทคโนโลยี และรัฐบาลสหรัฐให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีเป็นพิเศษ

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า หากสหรัฐประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนรอบใหม่ในวงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์ตามที่ได้ขู่ไว้แล้ว ทั้งบริษัทและผู้บริโภคของสหรัฐจะได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะการที่วงเงินจะเพิ่มขึ้นจาก 5 หมื่นล้านดอลลาร์เป็น 2.5 แสนล้านดอลลาร์ได้นั้น สหรัฐต้องเหวี่ยงแหกว้างขึ้น จนครอบคลุมสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป นอกจากนี้ บริษัทของสหรัฐหลายๆแห่ง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทคอมพิวเตอร์ รองเท้า หรือค้าปลีก ต่างมีบริษัทจีนเป็นซัพพลายเออร์ โดยการที่ปธน.ทรัมป์หวังให้จีนยอมอ่อนข้อให้ก่อนนั้นเป็นเรื่องที่อันตรายยิ่ง เพราะแนวโน้มที่ผู้บริโภคชาวสหรัฐจะเดือดร้อนนั้นมีมากกว่า และเมื่อมองให้กว้างขึ้นไปอีก บริษัทอีกหลายๆแห่งทั่วเอเชีย เช่นประเทศแถบอาเซียน ก็จะพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะเป็นซัพพลายเออร์ของบริษัทจีนอีกต่อหนึ่ง

*สหรัฐอาจดูได้เปรียบ แต่จะเอาชนะจีนได้ง่ายเพียงใด

ทั้งสหรัฐและจีนต่างประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของแต่ละฝ่ายกันไปมา แต่ในทางปฏิบัติแล้ว สหรัฐจำเป็นต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมายอีกมากกว่าจะเรียกเก็บได้จริง ไม่ว่าจะต้องมอบหมายให้คณะทำงานดำเนินการตรวจสอบหาเหตุผลรองรับการเรียกเก็บภาษีนำเข้า ไปจนถึงการเปิดรับฟังเสียงจากสาธารณะ ขณะที่ในฝั่งของจีนนั้นไม่ต้องผ่านกระบวนการซับซ้อนมากเนื่องด้วยระบอบการปกครองของจีนเอง อย่างไรก็ดี สหรัฐก็ปล่อยหมัดพอให้จีนเจ็บได้เช่นกัน เพราะสหรัฐมีรายการสินค้านำเข้าจากจีนรอพิจารณาให้เก็บภาษีมากกว่า เมื่อเทียบกับสินค้าที่จีนนำเข้าจากสหรัฐ โดยเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา จีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐเพียง 1.299 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ส่งออกไป 5.055 แสนล้านดอลลาร์

ถึงกระนั้นจีนไม่ใช่คู่แข่งที่เอาชนะได้ง่ายๆ เพราะแม้ดูเหมือนว่าจีนจะสู้ไม่ได้ในเรื่องของการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ แต่จีนยังมีมาตรการอื่นๆ ที่นอกเหนือจากภาษีนำเข้าที่น่าจะต่อกรกับสหรัฐได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ โดยนักวิเคราะห์มองว่า จีนอาจใช้อิทธิพลกดดันบริษัทของสหรัฐที่ดำเนินธุรกิจในจีน ไปจนถึงการจงใจกดค่าเงินหยวน ใช้อิทธิพลด้านการเมืองระหว่างประเทศ และไม้ตายที่หลายฝ่ายกังวล นั่นก็คือการเทขายบอนด์สหรัฐ เพราะจีนนับเป็นประเทศที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมากที่สุดในโลก หรือพูดอีกแง่หนึ่งก็คือ จีนเป็นประเทศเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ ซึ่งหากจีนขายพันธบัตรสหรัฐจริงๆแล้ว ผลกระทบที่เห็นชัดเจนที่สุดก็คือราคาพันธบัตรจะดิ่งลง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินจะพุ่งขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ส่งผลให้ภาคเอกชนและผู้บริโภคของสหรัฐมีต้นทุนแพงขึ้นในการกู้ยืม และจะฉุดให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวในที่สุด ทว่าไม้ตายเหล่านี้อาจทำให้จีนเจ็บตัวเองได้เช่นกัน เพราะหากจีนออกมากดดันบริษัทสหรัฐหรือกดค่าเงินหยวน ก็นับว่าเป็นการละเมิดระเบียบขององค์การการค้าโลก (WTO) หากจีนใช้อิทธิพลด้านการเมืองก็อาจขัดกับระเบียบของสหประชาชาติ (UN) และหากจีนเทขายพันธบัตรสหรัฐแล้ว จีนอาจขาดทุนเองจากการที่ต้องยอมขายในราคาขาดทุน

*สงครามที่อาจไม่มีผู้ชนะ

สุดท้ายแล้ว สงครามการค้าเป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นตรงกันว่ามีแต่จะบั่นทอนประเทศของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกอย่างสหรัฐและจีน เมื่อพิจารณาในแต่ละมุมแล้ว หากสหรัฐเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนจริง สหรัฐก็มีโอกาสกลายเป็นผู้แพ้ โดยธุรกิจและผู้บริโภคก็จะพลอยได้รับความเดือดร้อนไปด้วย เพราะสินค้าของจีนแทรกซึมเข้าห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐอย่างเต็มตัว ขณะที่จีนเองก็ไม่ใช่ว่าจะได้เปรียบเสียทั้งหมด เนื่องจากสหรัฐเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของจีน ดังนั้นการปะทะกับสหรัฐจึงไม่ใช่ความคิดที่ดีอย่างแน่นอน

การหันหน้าเจรจาจึงเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้น แต่จะมีฝ่ายไหนยอมกลับมาเจรจาอีกครั้งหลังจากที่เคยคว้าน้ำเหลว และยอมได้อย่างเสียอย่างเพื่อให้เดินหน้าต่อไปโดยเสียหายน้อยที่สุดได้หรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ