In Focusผ่า"ดาวโจนส์" : ดัชนีชี้เป็นชี้ตายตลาดหุ้นทั่วโลก

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 27, 2018 11:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์นับเป็นดัชนีหุ้นที่นักลงทุนทั่วโลกคุ้นเคยกันมากที่สุด และมีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นทั่วโลก เนื่องจากหากวันใดดาวโจนส์ทรุด หรือพุ่งแรง ก็แทบจะทำให้ตลาดหุ้นอื่นๆร่วงลง หรือดีดตัวตามได้ ทำให้นักลงทุนจำนวนไม่น้อยต้องทำตัวเป็น"นักดูดาว(โจนส์)"ในตอนกลางคืน ขณะที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กยังทำการซื้อขาย เพื่อเตรียมวางแผนรับมือดัชนี SET ที่จะขึ้นหรือลงตามดาวโจนส์ในวันรุ่งขึ้น ซึ่งถ้าในคืนนั้น นักดูดาวเจอดาว(โจนส์)ตก ก็อาจจะทำให้นอนไม่หลับได้เหมือนกัน แต่ถ้าคืนนั้น ดาว(โจนส์)มาแรง ปรับตัวสดใส ก็คงจะทำให้นอนหลับฝันดี

ในเมื่อดาวโจนส์เป็นเรื่องใกล้ตัวนักลงทุนทุกคน แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า ดัชนีดาวโจนส์ที่ทรงอิทธิพลสามารถชี้เป็นชี้ตายต่อตลาดหุ้นทั่วโลก มาจากการคำนวณของหุ้นเพียง 30 บริษัทในสหรัฐเท่านั้น และเมื่อวานนี้ หุ้นของบริษัทเจเนอนัล อิเลคทริค (GE) ซึ่งเป็นหุ้นรุ่นบุกเบิกของดัชนีดาวโจนส์ โดยมีอายุในดาวโจนส์นานกว่า 100 ปี ก็ถึงคราวลาจากดัชนี และถูกแทนที่ด้วยหุ้นของบริษัทอีกแห่งหนึ่ง

นอกจากดัชนีดาวโจนส์แล้ว ดัชนี Standard & Poor's 500 หรือที่เรียกกันว่า ดัชนี S&P 500 ก็เป็นอีกดัชนีหนึ่งของตลาดหุ้นนิวยอร์ก โดยเป็นดัชนีที่มีความหลากหลาย และมีจำนวนหุ้นที่ใช้ในการคำนวณมากกว่าดัชนีดาวโจนส์ โดยดัชนี S&P 500 ประกอบด้วยหุ้นของบริษัทจำนวน 500 แห่งที่มีการซื้อขายมากที่สุดในสหรัฐ ซึ่งดัชนีดังกล่าวเป็นตัวแทนของหุ้นในตลาดวอลล์สตรีทคิดเป็นมูลค่าได้ถึง 80% และมีการถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าตลาด ซึ่งแตกต่างจากดัชนีดาวโจนส์ซึ่งถ่วงน้ำหนักด้วยราคาหุ้น

หุ้นที่ใช้ในการคำนวณดัชนี S&P 500 ได้แก่หุ้นกลุ่มพลังงาน, การเงิน, อุตสาหกรรม, เทคโนโลยีสารสนเทศ, ธุรกิจดูแลสุขภาพ และกลุ่มผลิตสินค้าเพื่อผู้บริโภค

ส่วนดัชนี Nasdaq Composite Index เป็นดัชนีที่คำนวณจากหุ้นกว่า 3,000 บริษัทที่มีการซื้อขายในตลาด Nasdaq โดยมีการถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าตลาด ขณะที่หุ้นส่วนใหญ่ในดัชนี Nasdaq เป็นหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี แต่ก็ยังมีบริษัทในกลุ่มการเงิน, อุตสาหกรรม, ประกัน และขนส่ง และหุ้นของบริษัทบางแห่งที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในสหรัฐ นอกจากนี้ ยังรวมถึงหุ้นประเภทเก็งกำไรที่มีมูลค่าตลาดไม่มาก

In Focus ในสัปดาห์นี้ ขอพาผู้อ่านมารู้จักความเป็นมาของดัชนีดาวโจนส์ และสาเหตุที่ GE ถูกถอดออกจากดัชนี รวมทั้งทิศทางในอนาคตของดาวโจนส์

*กำเนิดดาวโจนส์

ดัชนีดาวโจนส์ที่เราเรียกกันโดยทั่วไปนั้น มีชื่อเต็มว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average) หรือ DJIA โดยมีหุ้นที่ใช้ในการคำนวณเพียง 30 ตัว นอกจากนี้ ในกลุ่มดัชนีดาวโจนส์ยังมีอีก 2 ดัชนีคือ ดัชนีเฉลี่ยสาธารณูปโภคดาวโจนส์ (Dow Jones Utility Average) หรือ DJUA ซึ่งประกอบด้วยหุ้นจากบริษัทในธุรกิจสาธารณูโภค และดัชนีเฉลี่ยขนส่งดาวโจนส์ (Dow Jones Transportation Average) หรือ DJTA ซึ่งประกอบด้วยหุ้นจากบริษัทในธุรกิจรถไฟ, รถบรรทุก, เดินเรือ และการบิน

นายชาร์ลส์ ดาว ผู้ก่อตั้งบริษัทดาวโจนส์ แอนด์ คอมปะนี และเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล รวมทั้งนายเอ็ดเวิร์ด โจนส์ ซึ่งเป็นนักสถิติ เป็นผู้ที่ร่วมกันสร้างดัชนีดาวโจนส์

ในช่วงแรก นายดาวได้ออกแบบดัชนีหุ้นแรกสุดของเขาในปี 1885 ซึ่งขณะนั้นประกอบด้วยหุ้นของบริษัทเดินเรือไอน้ำ 1 แห่ง บริษัทในธุรกิจสื่อสาร 1 แห่ง และบริษัทในธุรกิจรางรถไฟ 9 แห่ง จุดประสงค์ของนายดาวในการสร้างดัชนีดังกล่าวขึ้นมาก็เพื่อติดตามความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐจากการสังเกตราคาหุ้นของบริษัทที่เป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจสหรัฐ ต่อมาในปี 1886 นายดาวได้ปรับดัชนีโดยให้ประกอบด้วยหุ้นของบริษัทในภาคอุตสาหกรรม 2 แห่ง และบริษัทในธุรกิจรางรถไฟ 10 แห่ง

ในวันที่ 26 พ.ค.1896 นายดาวแยกดัชนีดาวโจนส์ออกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม และกลุ่มการขนส่ง ซึ่งถือเป็นการก่อตั้งดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (DJIA) อย่างเป็นทางการในปีดังกล่าว และมีการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล โดยดัชนีดาวโจนส์ในขณะนั้นประกอบด้วยหุ้นของบริษัท 12 แห่งได้แก่ American Cotton Oil, American Sugar, American Tobacco, Chicago Gas, Distilling & Cattle Feeding, General Electric, Laclede Gas, National Lead, North American, Tennessee Coal and Iron, U.S. Leather และ U.S. Rubber

นายดาวได้เลือกหุ้นของ 12 บริษัทดังกล่าวอย่างระมัดระวัง เพื่อให้เป็นตัวแทนของภาคอุตสาหกรรมสำคัญในเศรษฐกิจสหรัฐในขณะนั้น

ส่วนดัชนีดาวโจนส์ที่ประกอบด้วยหุ้นของ 30 บริษัทได้เริ่มเปิดตัวในปี 1929 และหลังจากนั้น ดัชนีก็มีการเปลี่ยนแปลงหุ้นที่ใช้ในการคำนวณหลายครั้ง เพื่อให้ดัชนีสามารถสะท้อนถึงเศรษฐกิจสหรัฐในแต่ละยุคแต่ละสมัยได้อย่างแท้จริง

*เปิดโผหุ้น 30 ตัวในดาวโจนส์กุมทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลก

ปัจจุบัน หุ้น 30 บริษัทที่ใช้ในการคำนวณดัชนีดาวโจนส์ ได้แก่ American Express Co, Apple Inc, Boeing Co, Caterpillar Inc, Cisco Systems Inc, Chevron Corp, Coca-Cola Co, DowDuPont Inc, Exxon Mobil Corp, Goldman Sachs Group Inc, Home Depot Inc, International Business Machines Corp, Intel Corp, Johnson & Johnson, JPMorgan Chase & Co, McDonald's Corp, 3M Co, Merck & Co Inc, Microsoft Corp, Nike Inc, Pfizer Inc, Procter & Gamble Co, Travelers Companies Inc, UnitedHealth Group Inc, United Technologies Corp, Verizon Communications Inc, Visa Inc, Walgreens Boots Alliance, Walmart Inc และ Walt Disney Co ซึ่งความเคลื่อนไหวในแต่ละวันของหุ้นทั้ง 30 ตัวนี้ เป็นปัจจัยชี้นำต่อตลาดหุ้นทั่วโลกอย่างปฏิเสธไม่ได้

*ดาวโจนส์จิ๋วแต่แจ๋ว แทนภาพเศรษฐกิจสหรัฐในวงกว้าง

บางคนอาจจะไม่แน่ใจว่าหุ้นของบริษัทเพียง 30 แห่งจะสามารถเป็นตัวแทนของเศรษฐกิจสหรัฐได้ แต่ความจริงก็คือ หุ้น 30 บริษัทที่ใช้ในการคำนวณดัชนีดาวโจนส์เป็นหุ้นที่มีมูลค่าตลาดสูง และมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบความเคลื่อนไหวของดัชนีดาวโจนส์ และดัชนี Wilshire 5000 ซึ่งเป็นดัชนีที่ครอบคลุมหุ้นของบริษัทจดทะเบียนมากที่สุดในสหรัฐ พบว่าดัชนีทั้งสองมีความเคลื่อนไหวเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ถึงแม้จำนวนหุ้นที่ใช้คำนวณดัชนีทั้งสองมีความแตกต่างกันอย่างมาก

*การเปลี่ยนแปลงหุ้นในดัชนีดาวโจนส์

ดัชนีดาวโจนส์ได้เริ่มเปิดตัวในวันที่ 26 พ.ค.1896 และนับตั้งแต่นั้นมา ก็มีการเปลี่ยนแปลงหุ้นที่ใช้ในการคำนวณหลายครั้ง โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งแรกเกิดขึ้นหลังจากที่มีการเปิดตัวดัชนีเพียง 3 เดือน ขณะที่ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ โดยมีการนำหุ้นของบริษัทวอลกรีนส์ บู้ทส์ อัลลิอันซ์ ซึ่งเป็นเครือข่ายร้านขายยา มาแทนที่หุ้น GE

การเปลี่ยนแปลงดัชนีในแต่ละครั้งมีขึ้น เมื่อมีการพบว่าบางบริษัทกำลังประสบปัญหาทางการเงิน และเริ่มมีบทบาทที่ลดลงต่อเศรษฐกิจสหรัฐ เช่น การถอดบริษัทเอไอจีออกจากดัชนีดาวโจนส์ในปี 2008 หรือมีการปรับดัชนีเมื่อเศรษฐกิจในวงกว้างมีการเปลี่ยนแปลงกลุ่มธุรกิจที่มีบทบาทนำตลาด เช่น การถอดบริษัทถึง 4 แห่งออกจากดัชนีในปี 1997

*GE จากสูงสุดคืนสู่สามัญ

GE นับเป็นหุ้นกลุ่มแรกสุดที่ได้รับการคำนวณในดัชนีดาวโจนส์ เมื่อมีการก่อตั้งดัชนีในปี 1896 แต่หลังจากนั้น GE ก็ได้ถุกถอดออกจากดัชนีในปี 1898 ก่อนที่จะกลับเข้าไปใหม่ในปี 1899 แต่ก็ถูกถอดอีกครั้งในปี 1901 และกลับเข้าสู่ดัชนีในปี 1907 โดยได้อยู่ในดัชนีดาวโจนส์มากกว่า 100 ปี ก่อนที่จะถูกถอดออกเมื่อวานนี้ และแทนที่โดยบริษัทวอลกรีนส์ บู้ทส์ อัลลิอันซ์

ก่อนหน้านี้ GE เคยเป็นหนึ่งในบริษัทใหญ่ที่สุดในสหรัฐ โดยเป็นยักษ์ใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นเจ้าของสื่อใหญ่อย่าง NBC Universal และ GE Capital ซึ่งเป็นบริษัทการเงินขนาดใหญ่ แต่หลังจากนั้น GE ก็ต้องขายธุรกิจทั้ง 2 ออก เนื่องจากประสบภาวะขาดทุนอย่างหนักจากวิกฤตการเงินในปี 2008

นอกจากนี้ GE ยังได้ประกาศขายกิจการหลอดไฟ และธุรกิจสร้างทางรถไฟในเวลาต่อมา

GE ซึ่งมีพนักงานราว 300,000 คนทั่วโลก อยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างบริษัท ซึ่งทำให้มีการขายกิจการบางส่วนออกไป พร้อมกับปรับเปลี่ยนตัวผู้บริหาร ขณะที่ทำการปลดพนักงาน 12,000 คน และประกาศลดการจ่ายเงินปันผลถึง 50% ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความไม่เชื่อมั่นต่ออนาคตของบริษัท และได้เทขายหุ้น GE ออกมาอย่างหนัก จนทำให้ GE เป็นหุ้นที่ปรับตัวย่ำแย่ที่สุดในดัชนีดาวโจนส์นับตั้งแต่ต้นปีนี้ โดยราคาหุ้นทรุดตัวลง 26% ขณะที่มูลค่าตลาดลดลงมากกว่า 50% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา

บริษัท S&P Dow Jones Indices ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ S&P Global และเป็นผู้บริหารจัดการดัชนีดาวโจนส์ ระบุว่า การปรับเปลี่ยนหุ้นในการคำนวณดัชนีดาวโจนส์ครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อสะท้อนถึงการขยายตัวของธุรกิจดูแลรักษาสุขภาพ

นายเดวิด บลิทเซอร์ กรรมการผู้จัดการและประธานกรรมการของ S&P Dow Jones Indices กล่าวว่า "GE เป็นสมาชิกดั้งเดิมของดัชนีดาวโจนส์ในปี 1896 และได้เป็นสมาชิกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1907 อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่นั้นมา เศรษฐกิจสหรัฐมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยบริษัทผลิตสินค้าเพื่อผู้บริโภค บริษัทการเงิน บริษัทในธุรกิจดูแลรักษาสุขภาพ และบริษัทเทคโนโลยี ต่างก็ก้าวขึ้นมามีบทบาทมากขึ้นในทุกวันนี้ ขณะที่ความสำคัญของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเริ่มลดน้อยลง โดยวอลกรีนส์เป็นเครือข่ายร้านขายยาทั่วประเทศซึ่งจำหน่ายยาตามใบสั่งแพทย์ และยาที่ไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ รวมทั้งเสนอบริการเกี่ยวกับสุขภาพ และสินค้าทั่วไป การเพิ่มวอลกรีนส์ในดัชนีจะทำให้ดาวโจนส์เป็นตัวแทนของภาคธุรกิจดูแลสุขภาพ และผู้บริโภคของเศรษฐกิจสหรัฐได้ดีขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะทำให้ดัชนีดาวโจนส์เป็นมาตรวัดเศรษฐกิจ และตลาดหุ้นได้ดีขึ้น"

*เหตุใดไม่เอาหุ้นอัลฟาเบทมาเสียบแทน GE

หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไม S&P Dow Jones Indices จึงไม่นำหุ้นอัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล หรือหุ้นของอเมซอน ซึ่งมีมูลค่าตลาดใหญ่กว่าวอลกรีนส์หลายเท่า เข้ามาแทนที่ GE

คำตอบก็คือ เนื่องจากดัชนีดาวโจนส์เป็นดัชนีที่ถ่วงน้ำหนักด้วยราคาหุ้น ดังนั้น หากราคาหุ้นยิ่งสูง ก็จะยิ่งมีอิทธิพลต่อการปรับตัวของดัชนี ซึ่งถ้ามีการนำหุ้นอัลฟาเบท หรือหุ้นอเมซอนเข้ามาในดัชนีดาวโจนส์ ก็เหมือนกับการนำเอาช้างมานั่งเล่นกระดานหกกับน้องหมาพูดเดิ้ล ซึ่งจะทำให้ดัชนีดาวโจนส์เสียสมดุล โดยจะถูกถ่วงน้ำหนักมากเกินไปจากหุ้น 2 ตัวนี้ ซึ่งมีราคาหุ้นแต่ละตัวมากกว่า 1,000 ดอลลาร์.ถ้าพูดเป็นภาษาง่ายๆก็คือ ถ้าวันไหนหุ้น 2 ตัวนี้ปรับตัวขึ้น วันนั้นดัชนีดาวโจนส์ก็จะดีดตัวขึ้น ถ้าวันไหนหุ้น 2 ตัวนี้ร่วง ก็จะทำให้ดัชนีดิ่งลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ดี ขณะนี้หุ้นอัลฟาเบท และหุ้นอเมซอนถูกนำเข้าไปคำนวณดัชนี S&P 500 ซึ่งมีจำนวนหุ้นมากกว่าดาวโจนส์ คือมีถึง 500 ตัว และมีการถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าตลาดของหุ้น ไม่ใช่ราคาหุ้น ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องการเสียสมดุลแบบดัชนีดาวโจนส์

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ทางเดียวที่หุ้นอัลฟาเบท และหุ้นอเมซอนจะถูกนำเข้าคำนวณในดัชนีดาวโจนส์ได้ก็คือ หุ้นดังกล่าวจะต้องแตกพาร์ก่อนที่จะถูกนำเข้าดัชนี เพื่อทำให้ราคาลดลง และลดอิทธิพลต่อดัชนี แต่ฝ่ายบริหารของบริษัท และผู้ถือหุ้นคงจะไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจดังกล่าว

นายนิค โคลาส ผู้ก่อตั้งสถาบันวิจัยดาต้าเทรค กล่าวว่า การที่ดัชนีดาวโจนส์ไม่มีหุ้นโดดเด่นอย่างหุ้นอัลฟาเบท และหุ้นอเมซอน จะไม่เป็นสาเหตุทำให้ดาวโจนส์หลุดจากตำแหน่งการเป็นดัชนีหุ้นที่มีคนติดตามมากที่สุดทั่วโลก

"ดาวโจนส์จะยังคงได้รับความสนใจต่อไป เนื่องจากเป็นดัชนีหุ้นที่มีความเก่าแก่มากที่สุดของโลก และเป็นดัชนีที่นักลงทุนรายย่อยรู้จักกันมากที่สุด ดาวโจนส์จึงเป็นกลไกสื่อสารอันดับหนึ่งระหว่างเศรษฐกิจภาคการเงินและเศรษฐกิจที่แท้จริง" นายโคลาสกล่าว

"ทุกคนคิดว่าดาวโจนส์คือตลาดหุ้น และตลาดหุ้นคือดาวโจนส์ ซึ่งผมไม่คิดว่าความคิดนี้จะเปลี่ยนแปลงไปในเร็วๆนี้" เขากล่าว
.

*หุ้นออกจากดาวโจนส์ยังมีอนาคต

ถึงแม้หุ้น GE ได้ถูกถอดออกจากดัชนีดาวโจนส์ แต่อดีตที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า หุ้นที่ถูกปลดออกจากดาวโจนส์ไม่ได้กลายเป็นหุ้นที่หมดอนาคตเสมอไป โดยนักวิเคราะห์จากโกลด์แมน แซคส์ชี้ให้เห็นว่า หุ้นในอดีตที่ถูกถอดออกจากดัชนีดาวโจนส์สามารถดีดตัวขึ้นอย่างมาก หลังจากผ่านพ้นไปเป็นเวลาเพียง 12 เดือน โดยหุ้นอัลโคทะยานขึ้นถึง 96% หุ้นเอชพีพุ่งขึ้น 73% หุ้นเอทีแอนด์ทีดีดตัวขึ้น 15% และหุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกาบวกขึ้น 17%

*ประวัติศาสตร์ดาวโจนส์บ่งชี้ "ล้มเพื่อลุก"

ประวัติศาสตร์ 122 ปีของดัชนีดาวโจนส์บ่งชี้ความจริงข้อหนึ่งว่า ถึงแม้ดัชนีอาจจะเผชิญกับแรงเทขายจนทรุดตัวลงอย่างหนักหลายครั้ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ดัชนีดาวโจนส์ยังคงสามารถฟื้นตัวขึ้น และเดินหน้าต่อไป ขณะที่แนวโน้มในระยะยาวยังคงเป็นช่วงขาขึ้น

ดัชนีดาวโจนส์ปิดตลาดในวันที่ 12 ม.ค.1906 ที่ระดับ 100.25 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ดัชนีปิดตลาดเหนือระดับ 100 จุด

ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นหลังจากนั้นแตะระดับ 381.7 ในวันที่ 3 ก.ย.1929 แต่อีก 8 สัปดาห์ต่อมา ดาวโจนส์ดิ่งลงอย่างหนักในวันที่ 28-29 ต.ค.1929 สู่ระดับ 230 ซึ่งคิดเป็นการร่วงลงถึง 23.6% โดยการทรุดตัวดังกล่าวได้นำไปสู่การเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในสหรัฐ

มีสาเหตุมากมายที่ทำให้ดัชนีดาวโจนส์ทรุดตัวในปี 1929 ซึ่งได้แก่ การเก็งกำไรในตลาดหุ้น ซึ่งทำให้ราคาพุ่งขึ้นเหนือปัจจัยพื้นฐาน, ราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ รวมทั้งชาวสหรัฐในขณะนั้นราว 60% มีรายได้ไม่ถึง 2,000 ดอลลาร์ต่อปี

ต่อมา ในวันที่ 8 ก.ค.1932 ดัชนีดาวโจนส์แตะระดับต่ำสุดที่ระดับ 41.22 จุด ส่งผลให้มูลค่าตลาดหายไปถึง 89.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลา 2 ปีครึ่งก่อนหน้านี้ โดยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาในสหรัฐ ซึ่งทำให้มีคนตกงานมากถึง 12 ล้านคน บริษัท 20,000 แห่ง และธนาคารมากกว่า 1,600 แห่งประสบภาวะล้มละลาย ขณะที่เกษตรกร 1 ใน 20 คนต้องถูกขับไล่ออกจากที่ดินของตนเอง

แต่หลังจากผ่านพ้นภาวะยากลำบากดังกล่าว ดัชนีดาวโจนส์ก็ได้ดีดตัวขึ้นเหนือหลัก 1,000 จุดในวันที่ 14 พ.ย.1972 โดยแตะระดับ 1,003.16 และใช้เวลาอีก 15 ปีในการแตะหลัก 2,000 จุด โดยสามารถแตะ 2,002.25 ในวันที่ 8 ม.ค.1987

ปัจจัยที่หนุนดัชนีดาวโจนส์ขณะนั้น ได้แก่ ยอดขายรถยนต์ที่พุ่งเป็นประวัติการณ์, การแข็งค่าของดอลลาร์ และการที่ดัชนีดาวโจนส์ดีดตัวทำสถิติสูงสุดใหม่หลายครั้งซึ่งทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น และส่งผลให้มีนักลงทุนหน้าใหม่แห่กันเข้าตลาด และดันให้ดัชนีทะยานขึ้น

อย่างไรก็ดี ในวันที่ 19 ต.ค.1987 ซึ่งเรียกกันว่า วันแบล็คมันเดย์ ดัชนีดาวโจนส์ตกลงอย่างหนัก โดยทรุดตัวลง 508 จุด ทำสถิติปรับตัวลงมากที่สุดภายในวันเดียวนับตั้งแต่มีการก่อตั้งดัชนี ทำให้มูลค่าตลาดหายไปถึง 22.6% คิดเป็นวงเงิน 5 แสนล้านดอลลาร์

นักวิเคราะห์ระบุว่า สาเหตุของการไหลลงของดาวโจนส์ในวันแบล็คมันเดย์เกิดจากความตื่นตระหนกของนักลงทุนที่ว่า ค่า P/E (สัดส่วนราคาหุ้นต่อกำไร) ของหุ้นจำนวนมากได้พุ่งขึ้นสูงเกินไป จนทำให้เกิดแรงเทขายออกมา และเมื่อตลาดหุ้นดิ่งลง ก็ได้กระตุ้นให้เกิดการเทขายหุ้นระลอกใหม่ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ที่มีการตั้งคำสั่งไว้ล่วงหน้า ส่งผลให้มีการเทขายหุ้นล็อตใหญ่จากบริษัทโบรกเกอร์ และสถาบันการเงินขนาดใหญ่

ถึงแม้ดัชนีดาวโจนส์ทรุดตัวลงจากเหตุการณ์แบล็คมันเดย์ แต่ดัชนีก็ยังคงสามารถฟื้นตัวขึ้น จนทะลุระดับ 10,000 จุดในวันที่ 29 มี.ค.1999 แตะ 10,006.78 โดยได้อานิสงส์จากแรงซื้อในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มการเงิน

ต่อมา ในวันที่ 16 มี.ค.2000 ดัชนีดาวโจนส์ทำสถิติพุ่งขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ โดยทะยานขึ้น 499.19 จุด หรือปรับตัวขึ้นเกือบ 5% จากการดีดตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี และอินเทอร์เน็ต

อย่างไรก็ดี การที่หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีพุ่งขึ้นจนสูงกว่าตัวเลขกำไรสุทธิ ก็ได้เป็นสาเหตุทำให้เกิดปรากฎการณ์"ฟองสบู่ดอทคอม" และทำให้เกิดการเทขายหุ้นอย่างหนักในวันที่ 14 เม.ย.2000 ส่งผลให้ดาวโจนส์ร่วงลงมากเป็นประวัติการณ์ โดยดิ่งลง 617.78 จุด หรือ 5.66%

แม้เผชิญเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ดาวโจนส์ก็ยังคงปรับตัวขึ้นหลังจากนั้น โดยสามารถทะลุระดับ 11,000 จุดในเดือนต.ค.2006

*วิกฤตวอลล์สตรีทล่าสุด บททดสอบความอึดของดาวโจนส์

ดัชนีดาวโจนส์เคยทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เหนือระดับ 26,000 จุดในเดือนม.ค.ปีนี้ แต่ขณะนี้ได้ทรุดตัวลงอยู่บริเวณ 24,000 จุด ท่ามกลางปัจจัยลบล่าสุดจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าของสหรัฐ ซึ่งมีต้นเหตุจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งประกาศเรียกเก็บภาษีเหล็กและอลูมิเนียมจากชาติต่างๆ และเมื่อประเทศอื่นๆไม่พอใจ มีการขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐบ้าง ทรัมป์ก็เปิดก๊อกสองตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีสินค้านำเข้าล็อตใหม่ พร้อมขู่ว่าถ้าต่างชาติขึ้นภาษีต่อสินค้าสหรัฐอีก เขาก็จะเรียกเก็บภาษีล็อตใหม่อีก ขณะที่ล่าสุดทรัมป์เปิดศึกกับทุกประเทศในโลก ไม่เพียงต่อจีน หรือสหภาพยุโรป โดยขู่ว่าประเทศใดก็ตามที่สร้างกำแพงการค้า และเรียกเก็บภาษีต่อสินค้าสหรัฐ หากไม่ยกเลิกการกระทำดังกล่าว ก็จะต้องพบกับการตอบโต้จากสหรัฐ

*ดาวโจนส์ได้ยาดี หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ย หนุนฟันด์โฟลว์ไหลกลับหุ้นสหรัฐ

ถึงแม้ดัชนีดาวโจนส์ทรุดตัวลงในระยะนี้ จากความกังวลที่ว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้า อาจลุกลามออกไป จนกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก แต่นักวิเคราะห์ระบุว่า ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทยังคงได้แรงหนุนจากการที่กระแสเงินทุนไหลกลับสู่สหรัฐ หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในวันที่ 12-13 มิ.ย. หร้อมกับส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ โดยมากกว่าเดิมซึ่งส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 3 ครั้ง

แบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ เปิดเผยว่า สหรัฐนับเป็นภูมิภาคเดียวในโลกที่ได้รับกระแสเงินทุนไหลเข้าในสัปดาห์ที่แล้ว โดยพบว่ามีเงินทุน 5.1 พันล้านดอลลาร์ไหลเข้าสู่กองทุนหุ้นสหรัฐ ขณะที่เงินทุนจำนวนเดียวกันไหลออกจากกองทุนตลาดเกิดใหม่

นอกจากนี้ นักลงทุนยังได้ถอนเงินลงทุน 2.7 พันล้านดอลลาร์ออกจากกองทุนหุ้นยุโรป และ 1.9 พันล้านดอลลาร์ออกจากญี่ปุ่น

ทั้งนี้ นับเป็นสัปดาห์ที่ 7 ติดต่อกันซึ่งกองทุนหุ้นสหรัฐมีเงินทุนไหลเข้า

*ปัจจัยบวกเพียบหนุนเศรษฐกิจสหรัฐแกร่ง บ่งชี้ดาวโจนส์ยังคงมีอนาคต

ประวัติศาสตร์ 100 กว่าปีย่อมเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการผ่านร้อนผ่านหนาวของดัชนีดาวโจนส์ ทำให้ดาวโจนส์ได้รับการยอมรับในฐานะดัชนีหุ้นที่เก่าแก่ที่สุด, มีชื่อเสียงที่สุด และได้รับการอ้างอิงมากที่สุดในโลก

นักวิเคราะห์ยังคงมีความเชื่อมั่นต่อดัชนีดาวโจนส์ โดยมองว่าแนวโน้มในระยะยาวยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้น แม้ระหว่างทางอาจถูกรบกวนจากปัจจัยลบชั่วคราว เช่น การทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้า และการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ แต่หากผ่านพ้นปัญหาดังกล่าว ดาวโจนส์ก็จะฟื้นตัวขึ้นได้ เหมือนที่เคยทำไว้ในอดีต

ขณะเดียวกัน ปัจจัยบวกจากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ, อัตราการว่างงานต่ำ, การจ้างงานที่เกือบเต็มศักยภาพ, การเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายของผู้บริโภค และการลงทุนของภาคเอกชนที่ได้แรงหนุนจากการปรับลดอัตราภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รวมทั้งการเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาลสหรัฐในโครงการสาธารณูปโภคเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งทำให้มีกระแสเงินทุนไหลเข้ากองทุนหุ้นสหรัฐ จะยังคงเป็นแรงหนุนให้ดัชนีดาวโจนส์เดินหน้าขึ้นต่อไป และดีดตัวสู่ระดับ 26,000 จุดที่ทำไว้ในช่วงต้นปีนี้ในที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ