In Focusจับตาเจรจา NAFTA ฉบับใหม่ระหว่างสหรัฐกับแคนาดา หลังผ่านเส้นตายโดยไร้ข้อตกลง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday September 5, 2018 13:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ฉบับใหม่ระหว่างสหรัฐกับแคนาดา ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ และยังหลุดเส้นตายที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐได้วางไว้ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายยังมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันในบางประเด็น และจะเริ่มเจรจากันใหม่อีกครั้งในวันพุธที่ 5 ก.ย. นี้ โดยการเจรจารอบใหม่นี้ โดยสหรัฐวางแผนว่า จะเซ็นข้อตกลงใหม่ให้ได้ก่อนที่นายอังเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของเม็กซิโกที่จะเข้ามาทำหน้าที่ประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ และ In Focus สัปดาห์นี้ จะมุ่งเจาะประเด็นที่ทำให้การเจรจาครั้งสำคัญยังไม่สามารถปิดดีลได้

แก้ไขข้อตกลงผลิตภัณฑ์นม ผลประโยชน์ประเทศหรือผลประโยชน์การเมือง?

หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้สหรัฐกับแคนาดายังไม่สามารถบรรลุข้อตกลง NAFTA ได้เป็นเรื่องของผลิตภัณฑ์นม ซึ่งก่อนหน้านี้สหรัฐได้ถอนตัวออกจากข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) และเรียกร้องให้แคนาดาเพิ่มสัดส่วนการนำเข้าผลิตภัณฑ์นมโดยไม่เสียภาษีของสหรัฐ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ข้อเรียกร้องของสหรัฐเกิดขึ้นจากการถอนตัวออกจากข้อตกลง TPP ทั้งที่แคนาดาได้ให้สัดส่วนการนำเข้าผลิตภัณฑ์นมจากประเทศที่เป็นสมาชิกข้อตกลง TPP ที่ 3.25% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เป็นไปตามความต้องการในประเทศแคนาดา

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญหลายรายมองว่า การเรียกร้องให้แก้ไขข้อตกลงเรื่องผลิตภัณฑ์นมนี้เป็นเรื่องการเมืองมากกว่าผลประโยชน์ของประเทศ เนื่องจากฐานเสียงบางส่วนของทรัมป์อยู่ในรัฐวิสคอนซิน ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องผลิตภัณฑ์นมและชีส และตลาดผลิตภัณฑ์นมนั้นคิดเป็นมูลค่าแค่ประมาณ 0.12% ของมูลค่าการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ อีกทั้งมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์นมจากสหรัฐไปยังแคนาดานั้นมีมูลค่าประมาณ 4 เท่า ของที่แคนาดาส่งออกมายังสหรัฐ แต่ก็เช่นกันกับทางแคนาดา เนื่องจากเกษตรชาวแคนาดาส่วนใหญ่นั้นอาศัยอยู่ในรัฐออนทารีโอและควิเบค ซึ่งเป็นรัฐที่มีฐานเสียงสูงมาก และการแก้ไขข้อตกลงเพื่อให้สหรัฐสามารถนำเข้าผลิตภัณฑ์นมสู่แคนาดาโดยไม่ต้องเสียภาษีได้ในสัดส่วนที่สูงขึ้น จะเป็นการทำลายฐานเสียงส่วนนี้ไปด้วย อีกทั้งนายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดาได้กล่าวชัดเจนไว้แล้วว่าไม่มีความต้องการที่จะแก้ไขข้อตกลงนี้

Chapter 19 คุ้มค่าหรือไม่กับการแก้ไข?

บทบัญญัติที่ 19 หรือ Chapter 19 ในข้อตกลง NAFTA ฉบับใหม่ มีเป้าหมายที่จะป้องกันการทุ่มตลาด และมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (countervailing duty) คือ การยอมให้ประเทศที่มีปัญหาระหว่างกันจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและตัดสินปัญหาร่วมกัน ซึ่งนายทรูโด ได้แสดงเจตนาที่ชัดเจนว่าต้องการเก็บเงื่อนไขข้อนี้ไว้ ขณะที่สหรัฐต้องการให้ยกเลิก แต่ที่ผ่านมานั้นมีการใช้ Chapter 19 น้อยมาก ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ท้ายที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับว่า แคนาดาจะมองว่า การคงไว้ซึ่ง Chapter 19 นั้น คุ้มค่าหรือไม่กับการที่จะทำให้ข้อตกลงทั้งหมดล้มเหลว ส่วนสหรัฐเองก็ต้องตัดสินใจว่าจะยอมประนีประนอมกับข้อตกลงเรื่องนี้เพียงใด

Sunset Clause จะออกมาอย่างไรเมื่อท้ายที่สุดแล้วสหรัฐยอมถอย

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องข้อกำหนดระยะเวลาบังคับใช้ (Sunset clause) ที่ก่อนหน้านี้สหรัฐต้องการให้ข้อตกลงหมดอายุโดยอัตโนมัติเมื่อครบ 5 ปี ซึ่งในเรื่องนี้นางคริสเทีย ฟรีแลนด์ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศแคนาดา ออกโรงคัดค้านสหรัฐอย่างที่ถึงสุด ด้วยเหตุผลหลักคือ แคนาดามองว่า คุณค่าของข้อตกลงการค้านั้น ต้องการให้ภาคธุรกิจและแรงงานสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนและถาวรได้ การที่ข้อตกลงจะหมดอายุลงทุกๆ 5 ปีนั้น จะทำให้คุณค่าของข้อตกลงลดลงไปมาก" แต่สถานการณ์ล่าสุดในขณะนี้ สหรัฐได้ยอมที่จะขยายระยะเวลาในเรื่องกำหนดการบังคับใช้เป็น 16 ปีแล้ว ก่อนข้อตกลงจะหมดอายุ และจะมีการทบทวนใหม่ทุกๆ 6 ปี

ก่อนที่การเจรจาจะเปิดฉากขึ้นในวันนี้ หากย้อนดูไทม์ไลน์การเจรจาก็จะเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงเริ่มเกิดขึ้นเมื่อประมาณกลางปีที่แล้ว

  • 18 พ.ค. 2560 ภายหลังจากที่ได้มีการปรึกษาหารือกับคณะกรรมการของสภาคองเกรส นายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ ได้แจ้งกับสภาคองเกรสว่า ทรัมป์ต้องการเริ่มการเจรจาต่อรองกับแคนาดาและเม็กซิโกเกี่ยวกับ NAFTA อีกครั้ง โดยสหรัฐต้องการหาทางที่จะสนับสนุนการจ้างงานที่มีค่าแรงสูงขึ้นในประเทศ และทำให้เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวด้วยการเพิ่มโอกาสทางการค้าของสหรัฐกับแคนาดาและเม็กซิโก
  • 16-20 ส.ค. 2560 เริ่มการเจรจาข้อตกลง NAFTA ฉบับใหม่ครั้งแรก เป็นนำเสนอแนวคิดและหาทางออกร่วมกัน
  • 1-5 ก.ย. 2560 เริ่มการเจรจาข้อตกลง NAFTA ฉบับใหม่ครั้งที่สอง ที่เม็กซิโก มีการเปิดเผยว่ามีความคืบหน้าและจะพยายามให้จบภายในปีนี้
  • 23-27 ก.ย. 2560 เริ่มการเจรจาข้อตกลง NAFTA ฉบับใหม่ครั้งที่สาม ที่ประเทศแคนาดา นายไลท์ไฮเซอร์กล่าวว่ามีความคืบหน้าที่ดี แต่ยังเหลือเรื่องที่ต้องทำอีกมาก
  • 11-17 ต.ค. 2560 เริ่มการเจรจาข้อตกลง NAFTA ฉบับใหม่ครั้งที่สี่ ที่สหรัฐ โดยสหรัฐเรียกร้องให้มีการกำหนดระยะเวลาบังคับใช้ (sunset clause) เพื่อให้ข้อตกลงดังกล่าวหมดอายุอัตโนมัติทุก 5 ปี และต้องการให้เปลี่ยนกฎแหล่งที่มาของสินค้า (rules of origin) โดยต้องการให้ 85% ของมูลค่ารถต้องผลิตในประเทศที่อยู่ในข้อตกลงจากเดิมที่กำหนดไว้ 62.5%
  • 17-21 พ.ย. 2560 เริ่มการเจรจาข้อตกลง NAFTA ฉบับใหม่ครั้งที่ห้า ที่เม็กซิโก นายไลท์ไฮเซอร์กล่าวว่า ไม่มีความคืบหน้า และโทษว่าทางแคนาดาและเม็กซิโกไม่ได้จริงจังเรื่องการเจรจาข้อตกลงความร่วมมือที่เสมอภาคกัน
  • 23-28 ม.ค. 2561 เริ่มการเจรจาข้อตกลง NAFTA ฉบับใหม่ครั้งที่หก ที่แคนาดา นายไลท์ไฮเซอร์ เปิดเผยว่า การเจรจารอบนี้มีความคืบหน้า โดยทั้งสามประเทศได้เริ่มหารือในประเด็นหลักๆ อย่างไรก็ดี ขณะนี้การเจรจายังคงคืบหน้าช้าเกินไป
  • 26 ก.พ.-6 มี.ค. 2561 เริ่มการเจรจาข้อตกลง NAFTA ฉบับใหม่ครั้งที่เจ็ด ที่เม็กซิโก โดยปธน.ทรัมป์ได้กำหนดเส้นตายไว้ที่วันที่ 1 ก.ค. ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งประธานาธิบดีเม็กซิโก ขณะที่ทางผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าไม่น่าเป็นไปได้
  • 9-18 เม.ย. 2561 เริ่มการเจรจาข้อตกลง NAFTA ฉบับใหม่ครั้งที่แปด (อย่างไม่เป็นทางการ) ที่สหรัฐ ได้ข้อสรุปในบางหัวข้อ แต่หัวข้อใหญ่ๆ อย่างแหล่งที่มาของสินค้า (rules of origin) และเรื่องผลิตภัณฑ์นมจากแคนาดานั้นยังไม่ได้ข้อสรุป

จากนั้นได้มีการเจรจากันเรื่อยมา จนเมื่อปลายเดือนก.ค.ที่ผ่านมา สหรัฐได้ตัดสินใจเจรจาระดับทวิภาคีกับเม็กซิโก โดยมีแคนาดาจับตาดูผลการเจรจาอย่างใกล้ชิด และเมื่อวันที่ 28 ส.ค. ที่ผ่านมา ทรัมป์ก็ได้ประกาศว่า สหรัฐบรรลุข้อตกลงทวิภาคีกับเม็กซิโกเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะเป็นการปูทางไปสู่การปรับปรุง NAFTA

หลากมุมมองต่อสถานการณ์การเจรจา

ก่อนที่การเจรจาในวันนี้จะเปิดฉากขึ้น หลายฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรืออาจจะได้รับผลกระทบต่างก็ออกมาแสดงความคิดเห็นที่ต่างกันออกไป โดยนายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) กล่าวก่อนหน้านี้ว่า การพูดคุยกับแคนาดาในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นไปในทางสร้างสรรค์ ขณะที่กลุ่มธุรกิจในสหรัฐนั้น ชี้ว่า เป็นเรื่องสำคัญที่แคนาดาจะต้องเป็นส่วนหนึ่งในข้อตกลง

นายโธมัส เจ โดโนฮู ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของหอการค้าสหรัฐ มองว่า ข้อตกลงที่ไม่ใช่ข้อตกลงไตรภาคีจะไม่ได้รับการยินยอมจากสภาคองเกรสและอาจเสียแรงสนับสนุนจากภาคธุรกิจ

ทางด้านวุฒิสมาชิกของสหรัฐหลายรายได้แสดงความกังขาข้อตกลงฉบับใหม่นี้ โดยนายออร์ริน แฮทช์ ประธานคณะกรรมาธิการภาษีประจำวุฒิสภาสหรัฐ กล่าวว่า จะประเมินข้อเสนอที่มีศักยภาพอื่นๆ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อตกลงจะยังคงทำให้บริการและผลิตภัณฑ์ของสหรัฐเข้าถึงแคนาดาและเม็กซิโกได้มากขึ้น แต่ก็ยังสามารถปกป้องนวัตกรรมของสหรัฐไว้ได้

นายรอน ไวเดน วุฒิสมาชิกจากรัฐโอเรกอน กล่าวว่า เห็นได้ชัดว่า ทรัมป์สนใจกับการประกาศข้อตกลงก่อนหน้าการเลือกตั้งกลางเทอมมากกว่าที่จะพยายามหาข้อตกลงที่ดีที่สุดให้กับแรงงานชาวอเมริกัน

นายร็อบ พอร์ทแมน วุฒิสมาชิกจากรัฐโอไฮโอ กล่าวว่า ตนเองสนับสนุนให้มีการพิจารณาข้อตกลง NAFTA ฉบับใหม่อีกครั้ง แต่ต้องมั่นใจว่า ข้อตกลงจะต้องมีแคนาดา ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของรัฐ รวมอยู่ในข้อตกลงด้วย

ส่วนนายแพทริก เลฮาย วุฒิสมาชิกจากรัฐเวอร์มอนต์ กล่าวว่า ตัวเขาไม่สามารถสนับสนุนข้อตกลงการค้าที่จะมาแทน NAFTA โดยปราศจากแคนาดาซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของรัฐเวอร์มอนต์ได้

ด้านทรัมป์ได้ทวีตข้อความเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า "ไม่มีความจำเป็นทางการเมืองที่จะให้แคนาดาอยู่ในข้อตกลง NAFTA ฉบับใหม่ ซึ่งถ้าเราไม่สามารถทำข้อตกลงที่เป็นธรรมสำหรับสหรัฐ หลังจากที่ถูกเอาเปรียบมานานหลายสิบปี แคนาดาก็ต้องออกไป และสภาคองเกรสก็ไม่ควรเข้าแทรกแซงในการเจรจา มิฉะนั้น ผมจะยกเลิกข้อตกลง NAFTA โดยสิ้นเชิง ซึ่งจะเป็นเรื่องดีกว่าสำหรับเรา"

นี่คือสถานการณ์ล่าสุด ก่อนหน้าที่การเจรจาข้อตกลง NAFTA ครั้งใหม่ระหว่างสหรัฐกับแคนาดาจะเริ่มต้นอีกครั้งในวันนี้ ซึ่งเราก็คงได้แต่เฝ้าจับตาดูว่าผลการเจรจาจะออกมาเป็นเช่นไร จะสำเร็จหรือล้มเหลว จะมีฝ่ายใดได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ หรือเป็นข้อตกลงที่ได้ประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่ายอย่างที่ทั้งสามประเทศหวังไว้ อีกไม่นานคงได้รู้กัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ