In Focusปริศนาชะตากรรม "จามาล คาช็อกกี" ปมเดือดสหรัฐ-ซาอุฯที่รอวันคลี่คลาย

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 17, 2018 14:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การหายตัวไปอย่างลึกลับของ "จามาล คาช็อกกี" ผู้สื่อข่าวชาวซาอุดีอาระเบียของหนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนระอุที่ไม่เพียงแต่บั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียและสหรัฐเท่านั้น แต่ยังสั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนและตลาดการเงินทั่วโลกในเวลานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเมินจากท่าทีที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐที่พยายามกดดันให้ทางการซาอุฯชี้แจงกรณีการหายตัวไปอย่างลึกลับของนักข่าวผู้นี้ จนถึงขนาดลั่นวาจาตามประสาคนแรงแห่งยุคว่า สหรัฐจะใช้มาตรการลงโทษซาอุฯอย่างหนักหากพบว่ามีส่วนรู้เห็นในเรื่องนี้ ขณะที่ทางฝั่งซาอุฯก็สวนกลับมาทันควันว่า พร้อมจะตอบโต้สหรัฐด้วยมาตรการที่รุนแรงกว่า เห็นทีว่าเรื่องนี้อาจกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่กัดกร่อนสถานการณ์การเมืองโลกให้เปราะบางมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ภาพจากกล้อง CCTV ที่บริเวณหน้าสถานกงสุลซาอุดีอาระเบียในกรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี ปรากฎให้เห็นว่า คาช็อกกีในชุดเสื้อสูทสีดำเดินเข้าไปในสถานกงสุลเมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา แต่กลับไม่มีภาพที่แสดงให้เห็นว่าเขาเดินออกจากสถานกงสุลดังกล่าวจนถึงขณะนี้ ซึ่งสร้างความกังวลให้กับครอบครัวและเพื่อนร่วมงาน พร้อมกับทิ้งปริศนาคาใจให้คนทั้งโลกต้องขบคิด และตั้งคำถามว่า คาช็อกกีหายไปไหน? และใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง?

หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายชาติพันธมิตรของทั้งฝั่งสหรัฐและซาอุดีอาระเบีย ต่างก็วิตกกังวลว่า การหายตัวไปของคาช็อกกีอาจไม่ใช่แค่เรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ผลกระทบครั้งนี้อาจสร้างแรงกระเพื่อมไปทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธุรกิจที่ซาอุดีอาระเบียเข้าไปลงทุน หรือแม้แต่ราคาน้ำมัน และผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตถ้าหากซาอุดีอาระเบียถูกคว่ำบาตรจากทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐ

  • เปิดประวัติที่ไม่ธรรมดาของจามาล คาช็อกกี และปมขัดแย้งมกุฎราชกุมารแห่งซาอุฯ

จามาล คาช็อกกี วัย 60 ปี เกิดเมื่อปี 2501 ที่เมืองมาดีนา ประเทศซาอุดีอาระเบีย ตระกูลของคาช็อกกีรับใช้ราชวงศ์ซาอุฯมายาวนาน โดยคุณปู่ของเขา มูฮัมหมัด คาช็อกกี ถวายการรับใช้กษัตริย์อับดุลลาซิส อัล-ซาอุด ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย นอกจากนี้ จามาล คาช็อกกี ยังมีญาติสนิทเป็นคนดังระดับโลก โดยเขาเป็นหลานแท้ๆของ อัดนัน คาช็อกกี นักค้าอาวุธชื่อดังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีอื้อฉาว "อิหร่าน-คอนทรา" และเป็นลูกพี่ลูกน้องกับ โดดี อัล-ฟาเอ็ด คนรักของเจ้าหญิงไดอาน่าผู้ล่วงลับ

คาช็อกกีเดินทางไปศึกษาด้านบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยอินเดียนาในสหรัฐ ก่อนที่จะเดินทางกลับมาซาอุดีอาระเบีย เขาเริ่มทำงานเป็นผู้สื่อข่าวกับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น Saudi Gazette และร่วมงานกับสื่อหลายสำนักของอาหรับ ซึ่งรวมถึง Al Sharq Al Awsat, Al Majalla และ Al Muslimoon ในจุดนี้เอง ทำให้เขามีโอกาสรายงานข่าวการรุกรานอัฟกานิสถานของสหภาพโซเวียต และเริ่มติดตามความเคลื่อนไหวของ โอซามา บิน ลาเดน ผู้นำเครือข่ายก่อการร้ายอัล-กออิดะห์ ความกล้าบ้าบิ่นของคาช็อกกีทำให้เขาสามารถเข้าไปนั่งสัมภาษณ์พูดคุยกับ บิน ลาเดน แบบตัวต่อตัวมาแล้วหลายครั้ง นอกจากนี้ เขายังเคยรายงานข่าวใหญ่ๆในภูมิภาคอีกมากมาย รวมถึงข่าวสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่ 1 ที่ประเทศคูเวต

ในช่วงปี 2533 - 2542 คาช็อกกีนั่งตำแหน่งรองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ อาหรับ นิวส์ ฉบับภาษาอังกฤษ ก่อนที่จะเข้าไปเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์อัล-วาตัน ซึ่งเป็นสื่อยักษ์ใหญ่ของซาอุดีอาระเบียในปี 2546 ... ต่อมาได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในโลกอาหรับ หรือ "อาหรับสปริง" (Arab Spring) ในปี 2554 ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คาช็อกกีแตกหักกับรัฐบาลซาอุฯ ปรากฏการณ์อาหรับสปริงได้สั่นสะเทือนขั้วอำนาจเก่า และทำให้เกิดการลุกฮือเคลื่อนไหวของกลุ่มมุสลิม ตามด้วยการปราบปรามผู้ที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในหลายประเทศอาหรับ ในช่วงเวลานั้นเอง คาช็อกกีเลือกที่จะยืนข้างกลุ่มมุสลิมฝ่ายต่อต้านในอียิปต์และซีเรีย นอกจากนี้ เขายังเริ่มวิพากษ์วิจารณ์จุดยืนของรัฐบาลซาอุฯ อีกทั้งปกป้องกลุ่มมุสลิมสายกลางที่รัฐบาลซาอุฯมองว่าเป็นภัย

ความขัดแย้งในครั้งนั้นทำให้คาช็อกกีเริ่มกังวลในชะตากรรมของตัวเอง จึงตัดสินใจหลบไปอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาในช่วงฤดูร้อนของปี 2560 และร่วมงานกับหนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ การอยู่ภายใต้สื่อทรงอิทธิพลของสหรัฐเช่นนี้ ทำให้คาช็อกกีมีความกล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลซาอุฯอีกครั้ง โดยคำวิจารณ์มักพุ่งเป้าไปยังเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาล มกุฎราชกุมารแห่งซาอุฯ ผู้เคยสร้างผลงานบรรลือโลกด้วยการกวาดล้างบุคคลสำคัญทั้งในราชวงศ์และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสั่งออกหมายจับเจ้าชายอัลวาลีด บิน ทาลาล หนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในซาอุฯ และเป็นผู้ถือหุ้นรายสำคัญในบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างแอปเปิล ทวิตเตอร์ ไทม์วอร์เนอร์ และ ทเวนตี้ เฟิร์สท์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ และยังสั่งจับกุมเจ้าชายมีเต็บ บิน อับดุลลาห์ ผู้ซึ่งเคยได้รับการพิจารณาให้เป็นผู้สืบราชวงศ์อีกพระองค์หนึ่ง เนื่องจากเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลาห์ กษัตริย์องค์ก่อนหน้า ซึ่งเป็นพระเชษฐาของกษัตริย์องค์ปัจจุบัน

แม้ทางการซาอุฯได้ส่งสัญญาณถึงความไม่พอใจในปลายปากกาคาช็อกกีหลายต่อหลายครั้ง แต่เขาก็ไม่หยุดยั้งที่จะขุดคุ้ยและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของประเทศบ้านเกิด แม้ในช่วงไม่กี่วันก่อนที่เขาจะหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยในสถานกงสุลซาอุฯก็ตาม

  • เปิดไทม์ไลน์การหายตัวอย่างลึกลับของจามาล คาช็อกกี

จามาล คาช็อกกี เคยแต่งงานกับหญิงชาวซาอุฯและได้หย่าร้างกันในเวลาต่อมา จากนั้นเขาพบรักครั้งใหม่กับฮาทิเช เชนกิซ หญิงชาวตุรกีวัย 36 ปี จนถึงขั้นตกลงที่จะแต่งงานกัน การตัดสินใจแต่งงานทำให้คาช็อกกีต้องดำเนินการทางเอกสารให้ถูกต้อง เพราะตามกฎหมายตุรกี ผู้ชายที่จะแต่งงานต้องมีเอกสารพิสูจน์ว่าไม่มีภรรยาอยู่ก่อน คาช็อกกีซึ่งเคยแต่งงานและหย่าร้างแล้วนั้น จึงต้องติดต่อไปยังสถานเอกอัครราชทูตซาอุฯในกรุงวอชิงตัน ซึ่งคำตอบที่ได้รับ คือ ให้ติดต่อสถานกงสุลซาอุฯในนครอิสตันบูล และนั่นคือสาเหตุที่ทำให้คาช็อกกีเดินทางไปยังสถานกงสุลซาอุฯในนครอิสตันบูล 2 ครั้ง

28 ก.ย. คาช็อกกีเดินทางไปยังสถานกงสุลซาอุฯในอิสตันบูลเป็นครั้งแรก เพื่อติดต่อขอรับเอกสารยืนยันสถานะของตนเองก่อนที่จะเข้าประตูวิวาห์กับคนรักใหม่ การเดินทางไปในครั้งนั้น คาช็อกกีได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี และได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าสถานกงสุลว่า ขอเวลาในการเตรียมเอกสารให้ และนัดหมายให้คาช็อกกีเดินทางมารับในเวลา 13.00 น.ของวันที่ 2 ต.ค.

2 ต.ค. คาช็อกกีเดินทางไปยังสถานกงสุลตามนัดหมาย โดยก่อนเวลานัดประมาณ 15 นาที คาช็อกกีเดินทางไปกับคนรักคือเชนกิซ แต่ได้ขอให้เชนกิซรออยู่ด้านนอก และตัวเขาเดินเข้าไปในสถานกุงสุลเพียงลำพัง คาช็อกกีใช้เวลาในสถานกุงสุลนานกว่า 10 ชั่วโมงจนเชนกิซเริ่มรับรู้ถึงความผิดปกติ จึงตัดสินใจโทรแจ้งตำรวจ และในวันรุ่งขึ้นคือ 3 ต.ค. เธอก็กลับมารอคาช็อกกีที่บริเวณนอกสถานกงสุลอีกครั้ง ด้วยความเป็นห่วงต่อความปลอดภัยของคนรัก

  • เปิดกล้อง CCTV, แกะรอยคลิปเสียงจากแอปเปิลวอทช์ สืบหาการหายตัวอย่างปริศนาของคาช็อกกี

เชนกิซ คนรักของคาช็อกกีได้ติดต่อขอดูภาพจากกล้อง CCTV ของสถานกงสุลซาอุฯในอิสตันบูล ซึ่งก็ปรากฎให้เห็นว่า คาช็อกกีในชุดเสื้อสูทสีดำเดินเข้าไปในสถานกงสุลก่อนเวลา 13.00 น.ของวันที่ 2 ต.ค. แต่กลับไม่มีภาพที่แสดงให้เห็นว่าเขาเดินออกจากสถานกงสุลดังกล่าวจนถึงขณะนี้

สื่อต่างประเทศรายงานว่า รัฐบาลตุรกีได้เปิดหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความจริง ด้วยการเผยแพร่ภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด เพื่อปะติดปะต่อเหตุการณ์ โดยย้อนกลับไปในช่วงเช้ามืดของวันที่ 2 ต.ค. ก่อนที่คาช็อกกีจะเดินทางไปรับเอกสารที่สถานกงสุลในช่วงบ่าย ภาพจากกล้องแสดงให้เห็นว่า มีเครื่องบินแบบ "กัลฟ์สตรีม" 2 ลำ พร้อมชายชาวซาอุฯ 15 คน ร่อนลงจอดที่สนามบินอตาเติร์ก ในนครอิสตันบูล

ขณะที่คลิปวิดีโอที่เผยแพร่โดยสถานีโทรทัศน์ ทีอาร์ที เวิลด์ แสดงให้เห็นว่า กลุ่มชายชาวซาอุฯเหล่านี้เดินทางถึงสนามบินและเช็คอินเข้าพักในโรงแรม วีนแดม และโมเวนพิค ในเมืองอิสตันบูล ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากสถานกงสุลซาอุฯ นอกจากนี้ คลิปวิดีโออีกจุดหนึ่งแสดงให้เห็นภาพรถตู้ขนาดใหญ่เดินทางเข้าไปยังบ้านพักของกงสุลใหญ่ หลังจากที่คาช็อกกีเดินเข้าไปในสถานกงสุลเพียงแค่ 2 ชั่วโมง และชายชาวซาอุฯทั้งหมดนี้ ก็เดินทางออกจากตุรกีในคืนวันนั้น

ทางด้านหนังสือพิมพ์ซาบาห์ สื่อที่สนับสนุนรัฐบาลตุรกีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของตุรกีได้รับคลิปเสียงของคาช็อกกี จากไอโฟนและบัญชีไอคลาวด์ของคาช็อกกีที่เชื่อมต่อกับแอปเปิลวอทช์ ซึ่งเป็นนาฬิกาอัจฉริยะที่คาช็อกกีสวมใส่เข้าไปในอาคารสถานกงสุล ซึ่งคลิปเสียงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า คาช็อกกีถูกทารุณกรรมและถูกฆาตกรรมอย่างโหดเหี้ยม โดยก่อนที่คาช็อกกีจะเดินเข้าไปในอาคารสถานกงสุลนั้น เขาได้ฝากไอโฟนไว้กับคนรักที่ยืนรออยู่ด้านนอก สิ่งที่บันทึกไว้ในแอปเปิลวอทช์จึงเชื่อมต่อมายังไอโฟน และไอคลาวด์

ขณะที่สื่อบางสำนักของตุรกีเปิดโปงว่า เจ้าหน้าที่ของซาอุฯใช้ความพยายามอย่างยิ่งที่จะลบข้อมูลเทปบันทึกเสียงดังกล่าว แต่ไม่สามารถสุ่มเดาหมายเลขพินของเครื่องแอปเปิลวอทช์ได้ จึงทำให้หลักฐานที่คาช็อกกีถูกทารุณกรรมภายในสถานกงสุลยังไม่ปรากฏออกมา

  • "ทรัมป์" ออกโรงบี้ซาอุฯคายความจริง ขณะภาคธุรกิจพร้อมใจบอยคอตงานประชุม "Davos in the Desert" ที่กรุงริยาด

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แทบจะเป็นผู้นำคนแรกของโลกที่ออกมากดดันให้รัฐบาลซาอุฯให้เปิดเผยความจริงเกี่ยวกับการหายตัวไปอย่างลึกลับของคาช็อกกี ทั้งนี้ก็เพราะว่า แม้คาช็อกกีไม่ได้ถือสัญชาติอเมริกัน แต่ก็ถือกรีนการ์ดในฐานะบุคคลที่มีคุณสมบัติที่จะอยู่อาศัยในสหรัฐได้อย่างถาวร โดยทรัมป์ประกาศกร้าวกลางรายการ "60 นาที" ทางสถานีโทรทัศน์ซีบีเอสว่า สหรัฐจะใช้มาตรการลงโทษสถานหนัก หากผลการสืบสวนพบว่าซาอุฯมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้ไม่ว่าจะทางใดก็ตาม

ทรัมป์ได้ต่อสายตรงถึงสมเด็จพระราชาธิบดี ซัลมาน บิน อับดุลลาซิซ อัล ซาอุด แห่งซาอุดีอาระเบีย และพูดคุยกันเป็นเวลา 20 นาที ก่อนที่จะได้รับคำตอบว่า กษัตริย์ซัลมานได้ปฏิเสธอย่างหนักแน่นว่าไม่มีส่วนรู้เห็นใดๆกับเรื่องนี้ แต่ความพยายามของทรัมป์ไม่หยุดเพียงแค่นั้น เขาได้ส่งนายไมค์ ปอมเปโอ รมว.ต่างประเทศสหรัฐ ให้เดินทางไปเข้าเฝ้ากษัตริย์ซัลมานด้วยตนเอง และสิ่งที่นายปอมเปโอได้รับกลับมาก็คือ กษัตริย์ซัลมานยินดีสนับสนุนการสอบสวนอย่างโปร่งใสต่อการเสียชีวิตของคาช็อกกี

ในระหว่างที่นายปอมเปโออยู่ที่ซาอุฯนั้น ทรัมป์ได้ถือโอกาสต่อสายตรงเพื่อพูดคุยกับเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุฯด้วยตนเอง ซึ่งก็ได้คำตอบแบบเดียวกันว่า มกุฎราชกุมารแห่งซาอุฯได้ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนรู้เห็นกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสถานกงสุลซาอุฯในอิสตันบูล การหายสาบสูญของคาช็อกกีได้สร้างแรงกระเพื่อมไปยังแวดวงการเมืองและธุรกิจทั่วโลก โดยมีรายงานว่า ผู้บริหารของเจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม), เจพีมอร์แกน เชส, ฟอร์ด มอเตอร์ และกูเกิล เป็นกลุ่มผู้บริหารรายล่าสุดที่ได้ตัดสินใจยกเลิกเข้าร่วมการประชุม "Future Investment Initiative (FII) Summit" หรือที่เรียกว่า "Davos in the Desert" ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 23-25 ต.ค. ที่กรุงริยาด

ทางด้านนายสตีเวน มนูชิน รมว.คลังสหรัฐ กำลังพิจารณาว่าจะเข้าร่วมประชุมดังกล่าวที่กรุงริยาดหรือไม่ และจะให้คำตอบในวันที่ 19 ต.ค.นี้ ขณะที่นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เลื่อนการเดินทางเยือนตะวันออกกลาง พร้อมกับจับตาการคลี่คลายคดีการหายตัวอย่างลึกลับของคาช็อกกี ทางด้านนายสเตฟาน ดูจาร์ริค โฆษกเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN) ก็ประกาศจับตาความเคลื่อนไหวของคดีนี้ และรอคอยการคลี่คลายปมปริศนาการหายตัวอย่างลึกลับของคาช็อกกีเช่นกัน

-- สื่อต่างประเทศฟันธง คาช็อกกี เสียชีวิตแล้วจากการฆาตกรรม

แม้ผลการสืบสวนคลี่คลายคดีและการเข้าตรวจค้นพื้นที่ในสถานกงสุลซาอุฯในกรุงอิสตันบูลยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ในช่วง 2-3 วันมานี้ สื่อหลายสำนัก ซึ่งรวมถึง Middle East Eyes ฟันธงกันอย่างมั่นอกมั่นใจว่า คาช็อกกีน่าจะเสียชีวิตแล้วด้วยน้ำมือของทีมสังหารที่ถูกส่งมาฆ่าปิดปาก และเชื่อว่า "คำสั่งตายข้ามชาติ" ครั้งนี้น่าจะมาจากฝั่งซาอุฯ ซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของคาช็อกกีเอง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดในเวลานี้คือการรอดูข้อมูลและหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ แม้แต่สื่อต้นสังกัดของคาช็อกกีเองก็รอคอยผลการพิสูจน์หลักฐานในเรื่องนี้เช่นกัน โดยวอชิงตัน โพสต์ เพียงแค่แสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ ด้วยการปล่อยพื้นที่ว่างในคอลัมน์ประจำของคาช็อกกี ในหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 4 ต.ค. ว่า.... Editor’s note : Jamal Khashoggi is a Saudi journalist and author, and a columnist for Washington Post Global Opinions. Khashoggi’s words should appear in the space above, but he has not been heard from since he entered a Saudi consulate in Istanbul for a routine consular matter on Tuesday afternoon.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ