In Focusวิกฤติ "ชัตดาวน์" และ "กำแพงเจ้าปัญหา" เครื่องมือการเมืองที่ทำให้ชาวอเมริกันฝันร้ายอีกครั้ง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday January 16, 2019 15:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สถานการณ์ชัตดาวน์ หรือการปิดหน่วยงานของรัฐบาลชั่วคราวของสหรัฐ ได้ก้าวเข้าสู่วันที่ 26 แล้วในขณะนี้ โดยสาเหตุหลักมาจากการที่แกนนำพรรคโดแครตในสภาคองเกรสไม่ยอมอนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวที่พ่วงงบสร้างกำแพงมูลค่ากว่า 5 พันล้านดอลลาร์ตามที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เรียกร้อง ขณะที่ทรัมป์เองก็ยืนกรานที่จะไม่ลงนามบังคับใช้ร่างกฎหมายฉบับใดก็ตามที่ไม่พ่วงเอางบประมาณสร้างกำแพงเอาไว้ด้วย การค้ำยันทางการเมืองที่ต่างฝ่ายต่างก็ "ยอมหัก แต่ไม่ยอมงอ" เช่นนี้ ส่งผลให้พนักงานของรัฐบาลกว่า 8 แสนคนต้องหยุดพักงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง แม้ความเดือดร้อนและเสียงร้องทุกข์ของประชาชนตาดำๆเหล่านี้จะดังขึ้นไปถึงหอคอยงาช้างบนทำเนียบขาว และห้องทำงานใหญ่ของพรรคเดโมแครต แต่ก็ยังไม่มีวี่แววว่าทั้งสองฝ่ายจะยอมถอยกันคนละก้าว เพื่อเห็นแก่ปากท้องของประชาชนเหล่านี้

ย้อนไปเมื่อช่วงเช้าวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา เมื่อทรัมป์เปิดห้องทำงานรูปไข่ในทำเนียบขาวเพื่อชี้แจงให้ชาวอเมริกันรับรู้ถึงความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและสภาคองเกรสในประเด็นการสร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโก จนนำไปสู่การชัตดาวน์ที่ยืดเยื้อ การแถลงของทรัมป์ในวันนั้น สื่อยักษ์ใหญ่ของอเมริกาพร้อมใจกันให้เวลาในช่วงไพร์มไทม์เพื่อถ่ายทอดสดให้ประชาชนทั่วประเทศได้รับชม ซึ่งก็เป็นไปตามคาด เพราะทรัมป์ได้ใช้โอกาสนี้ "ละเลงภาพ" ความน่ากลัวของพื้นที่ชายแดนตอนใต้ที่ปราศจากกำแพง โดยคาดหวังว่าจะให้ชาวอเมริกันเป็นพยานถึงน่าสะพรึงกลัวและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนในชาติ หากเดโมแครตยังขัดขวางงบประมาณสร้างกำแพง

ใจความตอนหนึ่งของแถลงการณ์ทรัมป์ระบุว่า... "I am speaking to you because there is a growing humanitarian and security crisis at our southern border. Our southern border is a pipeline for vast quantities of illegal drugs, including meth, heroin, cocaine, and fentanyl. Every week, 300 of our citizens are killed by heroin alone, 90 percent of which floods across from our southern border. More Americans will die from drugs this year than were killed in the entire Vietnam War... How much more American blood must be shed before Congress does its job?"

หลังการแถลงของทรัมป์ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีเสร็จสิ้นลง นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ได้ตั้งโต๊ะแถลงตอบโต้อย่างทันควันร่วมกับนายชัค ชูเมอร์ ผู้นำเสียงข้างน้อยจากในวุฒิสภา โดยทั้งคู่ได้ปล่อยหมัดเด็ดที่พุ่งเสยคางงามๆของทรัมป์โดยตรงว่า ... "President Trump must stop holding the American people hostage, must stop manufacturing a crisis, must reopen the government, and...must separate the shutdown from the arguments over border security"

วิวาทะอันเผ็ดร้อนของมวยถูกคู่อย่างทรัมป์และเดโมแครต สะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้ทางการเมืองที่ต่างฝ่ายต่างก็ "ยอมหัก แต่ไม่ยอมงอ" แต่ถึงกระนั้น คำกล่าวโทษของนางเพโลซีก็ไม่ห่างจากความเป็นจริงมากนัก เพราะหลายฝ่ายมองว่า ทรัมป์กำลังใช้ประชาชนเป็นตัวประกัน โดยยอมให้ความเดือดร้อนของพนักงานรัฐบาลกว่า 8 แสนคนเป็นแรงขับเคลื่อนให้แกนนำเดโมแครตใจอ่อนจนยอมอนุมัติงบประมาณสร้างกำแพงกั้นชายแดนตามที่ตนเองได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี ...ส่วนคำกล่าวโทษของทรัมป์ที่ส่งตรงถึงแกนนำเดโมแครตก็มีความจริงอยู่ด้วยเช่นกัน โดยผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งมองว่า พรรคเดโมแครตที่กลับเข้ามาครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรอย่างเป็นทางการหลังจากชนะการเลือกตั้งกลางเทอมนั้น ต้องการ "ดับฝัน" ทางการเมืองของนักธุรกิจแมว 9 ชีวิตอย่างทรัมป์ โดยหมายจะให้การคว่ำงบประมาณสร้างกำแพงเป็นหมากสำคัญที่จะล้มกระดานแห่งความทะเยอทะยานของประธานาธิบดีฝีปากกล้าผู้นี้ ซึ่งหากมองในมุมนี้แล้ว ก็เท่ากับว่า แรงจูงใจของทั้งสองฝ่ายก็ไม่ได้ใสสะอาดดังที่ต่างฝ่ายก็กล่าวอ้าง

* ย้อนรอย "ชัตดาวน์" ..วิบากกรรมที่ชาวอเมริกันต้องฟันฝ่า

สหรัฐเผชิญวิกฤตชัตดาวน์มาแล้วมากกว่า 10 ครั้ง โดยครั้งแรกเกิดขึ้นปี 2523 ในยุคของอดีตประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ การชัตดาวน์ครั้งแรกเกิดขึ้นเพียง 1 วัน และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจประมาณ 700,000 ดอลลาร์ จากนั้นเหตุการณ์ชัตดาวน์ก็เกิดขึ้นเป็นระยะๆ แต่กินเวลาไม่นาน

จนกระทั่งในปี 2539 ซึ่งเป็นยุคของอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน เหตุการณ์ชัตดาวน์เกิดขึ้นเป็นเวลานานถึง 21 วัน มีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 400 ล้านดอลลาร์

ต่อมาในปี 2556 ชาวอเมริกันก็ถูกกรีดแผลที่รอยเดิมอีกครั้ง เมื่อหน่วยงานของรัฐถูกชัตดาวน์เป็นเวลา 16 วัน การชัตดาวน์ในปีนั้นได้สร้างความระส่ำระสายให้กับสหรัฐไม่น้อยไปกว่าปี 2539 เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจถูกผสมโรงด้วยวิกฤติการคลัง หรือ Fiscal Cliff ส่งผลให้พนักงานของรัฐบาลกว่า 7 แสนคนต้องถูกพักงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน ขณะที่พิพิธภัณฑ์และอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ รวมถึงอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ ต้องปิดให้บริการโดยไม่มีกำหนด ส่วนมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจในปีนั้นอยู่ที่ประมาณ 2.1 พันล้านดอลลาร์

ชนวนเหตุของการชัตดาวน์ในปี 2556 มาจากความขัดแย้งเรื่องกฎหมาย Patient Protection and Affordable Care Act หรือกฎหมายประกันสุขภาพที่มีชื่อเล่นว่า "โอบามาแคร์" ซึ่งพรรคเดโมแครตภูมิใจนำเสนอด้วยความแคร์ แต่รีพับลิกัน "ไม่แคร์" และขัดขวางอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู เพราะเชื่อว่ากฎหมายโอบามาแคร์เพิ่มภาระให้กับภาคประชาชนและภาคธุรกิจ...ดังนั้นการต่อสู้ทางการเมืองจึงเกิดขึ้นระหว่างสองพรรคใหญ่ในตำนาน และจบลงด้วยความเสียหายทางเศรษฐกิจ

กระทั่งเมื่อช่วงพ้นเที่ยงคืนวันศุกร์ที่ 21 ธ.ค. 2561 ตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับช่วงเที่ยงวันเสาร์ที่ 22 ธ.ค. 2561 ตามเวลาไทย ชาวอเมริกันต้องฝันร้ายอีกครั้ง เมื่อหน่วยงานของรัฐบาลถูกชัตดาวน์ เนื่องจากฝ่ายรัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์และแกนนำเดโมแครตในสภาคองเกรส ไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องงบประมาณสร้างกำแพง

* เปิดด้านมืดเดโมแครต VS รีพับลิกัน ต่างก็ใช้ "ชัตดาวน์" เป็นเครื่องมือต่อรองอำนาจ

คงไม่เกินไปนักหากจะพูดว่า ชัตดาวน์คือหมากตัวหนึ่งบนกระดานการเมืองที่พรรคเดโมแครตและรีพับลิกันต่างก็ใช้ในเกมสลับร่างสร้างอำนาจ โดยย้อนไปเมื่อปี 2556 เมื่อหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐถูกชัตดาวน์ในยุคของโอบามานั้น ร่างกฎหมายโอบาแคร์ได้ถูกใช้เป็นเครื่องต่อรองทางการเมือง โดยฝ่ายเดโมแครต ซึ่งครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาสมัยนั้น ต้องการให้กฎหมายงบประมาณบรรจุโอบามาแคร์ลงไปด้วย แต่พรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรในยุคนั้นไม่เห็นด้วย และเสนอให้เลื่อนการบังคับใช้โอบามาแคร์ออกไปอีกหนึ่งปี มิฉะนั้นจะไม่ผ่านร่างงบประมาณสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่างๆของรัฐบาลกลางสหรัฐ ด้วยเหตุนี้เองจึงนำมาสู่เหตุการณ์ชัตดาวน์ครั้งแรกในรอบ 17 ปีที่สร้างความปั่นป่วนให้กับสหรัฐ รวมไปถึงตลาดการเงินทั่วโลกในเวลานั้น

โอบามาแคร์ ถือเป็นหนึ่งในนโยบายเด่นของอดีตประธานาธิบดีโอบามาซึ่งต้องการขยายความคุ้มครองประสุขภาพให้ครอบคลุมชาวอเมริกันราว 15% หรือ 40-50 ล้านคน โดยกฎหมายกำหนดให้ชาวอเมริกันทุกคนต้องซื้อประกันสุขภาพ ส่วนผู้มีฐานะยากจนที่ไม่สามารถซื้อประกันดังกล่าวเองได้นั้น รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณอุดหนุนให้กรมธรรม์หรือเบี้ยประกันถูกลง นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดให้ผู้ประกอบการที่มีพนักงานหรือลูกจ้างทำงานเต็มเวลามากกว่า 50 คนจะต้องช่วยทำประกันสุขภาพให้ลูกจ้าง

แต่พรรครีพับลิกันในยุคนั้นออกโรงคัดค้านกฎหมายโอบามาแคร์ชนิดหัวชนฝา เนื่องจากเห็นว่าเป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชนและภาคเอกชน อีกทั้งทำให้งบประมาณด้านบริการสุขภาพสูงเกินความจำเป็น นอกจากนี้ พรรครีพับลิกันยังอ้างข้อมูลจากผลการสำรวจของภาคธุรกิจว่า ผู้ประกอบการขนาดเล็กว่าจะไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น แม้จะได้ส่วนลดทางภาษีจากการทำประกันให้ลูกจ้างก็ตาม

กระทั่งในปี 2561 เมื่อการเมืองอเมริกันเปลี่ยนขั้ว โดยพรรคเดโมแครตกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐหลังจากชนะการเลือกตั้งกลางเทอม และพรรครีพับลิกันมีเสียงส่วนใหญ่แค่ในวุฒิสภา ส่งผลให้การค้ำยันทางการเมืองกลับมาอีกครั้ง ทั้งเดโมแครตและรีพับลิกันต่างก็กลับมาใช้หมากตัวเดิม คือเอาแรงจูงใจของตนเองเป็นตัวตั้ง และใช้วิกฤติชัตดาวน์เป็นเครื่องมือในการโค่นเอาชนะฝ่ายตรงข้าม

เหตุการณ์ชัตดาวน์ครั้งล่าสุดซึ่งล่วงเข้าสู่วันที่ 26 และทำสถิติยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของสหรัฐนั้น มี "กำแพง" เป็นเดิมพัน เนื่องจากทรัมป์ตั้งความหวังเอาไว้สูงมากว่า กำแพงซึ่งมีความยาวถึง 2,000 ไมล์ หรือประมาณ 3,000 กิโลเมตรนี้ จะเป็นสิ่งตอบแทนคะแนนเสียงที่ "ชมรมคนรักทรัมป์" โหวตสนับสนุนให้ตนเองก้าวเข้าสู่ตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองของสหรัฐ แต่ฝันอันยิ่งใหญ่ของทรัมป์ก็สะดุดลงตั้งแต่ก้าวแรก โดยในช่วงกลางปี 2560 ซึ่งเป็นปีที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี สภาคองเกรสได้อนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวเพื่อหลีกเลี่ยงชัตดาวน์ แต่ไม่พ่วงงบประมาณสร้างกำแพงรวมอยู่ในนั้น ถึงกระนั้นก็ตาม ทรัมป์ไม่เคยละความพยายาม และเร่งผลักดันงบประมาณสร้างกำแพงมาจนถึงขณะนี้

ขณะที่พรรคเดโมแครตยังคงใจแข็ง และใช้วาทะกรรมทางการเมืองเข้าสกัดนโยบายขายฝันฉบับนี้ของทรัมป์ว่า การสร้างกำแพงนั้นขัดต่อศีลธรรมสากล และชาวอเมริกันสามารถอยู่อย่างปลอดภัยโดยไม่ต้องใช้กำแพงราคาสูง นอกจากนี้ เดโมแครตยังยืนกรานที่จะไม่ผ่านร่างกฎหมายงบประมาณที่พ่วงงบสร้างกำแพง แม้ทรัมป์ขู่ว่าจะประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่ออาศัยอำนาจประธานาธิบดีในการใช้งบสร้างกำแพงโดยไม่ต้องรอการอนุมัติจากสภาคองเกรสก็ตาม

* ประมวลผลกระทบจากชัตดาวน์ ... วิกฤติที่ "เจ็บ แต่ไม่จบ"

ภาวะชัตดาวน์กำลังแปรเปลี่ยนจากประเด็นทางการเมืองไปเป็นผลกระทบที่มีต่อหลายภาคในระบบเศรษฐกิจ ดังจะเห็นได้จากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เริ่มปรากฎให้เห็นชัดเจนออกมาเรื่อยๆ โดยล่าสุดคณะทำงานของทรัมป์คาดการณ์ว่า ความเสียหายที่เกิดจากชัตดาวน์จะมีมูลค่าสูงเป็น 2 เท่าจากที่คาดการณ์ในเบื้องต้น

ในช่วงแรก รัฐบาลคาดการณ์ว่า ภาวะชัตดาวน์จะทำให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ลดลง 0.1% ในทุกๆ 2 สัปดาห์ แต่ขณะนี้ รัฐบาลคาดว่า ภาวะชัตดาวน์จะทำให้ตัวเลข GDP ลดลง 0.1% ในทุกๆ 1 สัปดาห์ เนื่องจากในช่วงแรก รัฐบาลพิจารณาผลกระทบที่เกิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวน 800,000 รายที่จะไม่ได้รับเงินเดือน อันเนื่องจากภาวะชัตดาวน์ แต่ขณะนี้ รัฐบาลเชื่อว่าผลกระทบดังกล่าวจะทวีคูณ จากความเสียหายที่เกิดจากพนักงานเอกชนที่รัฐบาลจ้างงานตามสัญญาที่ต้องยุติการทำงาน รวมทั้งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของรัฐบาล และการดำเนินงานต่างๆที่ไม่สามารถเกิดขึ้นในช่วงชัตดาวน์

ขณะที่ศูนย์เพื่อความก้าวหน้าของอเมริกันซึ่งตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตันคาดว่า สหรัฐจะเผชิญกับความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 5 พันล้านดอลลาร์ในทุกๆ 2 สัปดาห์ที่ภาวะชัตดาวน์ดำเนินต่อไป หรือคิดเป็น 15 ล้านดอลลาร์ต่อชั่วโมง นอกจากนี้ วิกฤติชัตดาวน์ยังส่งผลให้บรรดาธุรกิจขนาดเล็ก, บริษัทต่างๆที่ยื่นคำร้องขอเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะเป็นครั้งแรก (IPO) รวมถึงผู้ผลิตและโรงกลั่นสุราที่กำลังรอใบอนุญาต, การดำเนินการด้านการนำเข้าสินค้า, การยื่นคำร้องขอยกเว้นภาษี, ยื่นจดจำนอง, ผู้ที่รอรับเงินอุดหนุนต่างๆ, การทำสัญญา และการชำระเงินค่าสินค้าและบริการ ซึ่งถูกเตรียมการไว้หมดแล้วนั้น ต่างก็ต้องล่าช้าออกไป นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวในการประชุมสมาคมเศรษฐกิจแห่งกรุงวอชิงตันว่า ภาวะชัตดาวน์ที่ยืดเยื้อออกไปยาวนานจะเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจของสหรัฐ และทำให้เฟดประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศยากขึ้น

ทางด้านนายเจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเจพีมอร์แกน เชส เตือนว่า เศรษฐกิจสหรัฐอาจขยายตัว 0% ในไตรมาสแรกของปีนี้ หากการชัตดาวน์ยังคงยืดเยื้อต่อไป โดยนายไดมอนเรียกร้องให้บรรดาผู้นำของสหรัฐทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ขณะที่รัฐบาล, ประชาชน และภาคธุรกิจต้องทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหา และสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของทุกคน

นอกจากนี้ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ยังออกรายงานเตือนว่า สหรัฐอาจถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือจากระดับ Aaa ในปีนี้ โดยระบุว่าปัญหาชัตดาวน์ อาจส่งผลกระทบต่อเพดานหนี้ของประเทศ

เจมส์ แมคคอร์แมค หัวหน้าฝ่ายจัดอันดับความน่าเชื่อถือของฟิทช์ กล่าวว่า "หากภาวะชัตดาวน์ยังคงดำเนินไปจนถึงวันที่ 1 มี.ค. และส่งผลให้เพดานหนี้กลายเป็นปัญหาในอีกหลายเดือนต่อมา ฟิทช์อาจจำเป็นต้องเริ่มคิดถึงกรอบนโยบายและการที่รัฐบาลอาจจะไม่สามารถผลักดันงบประมาณผ่านรัฐสภา โดยฟิทช์จะพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ว่าจะสอดคล้องกับอันดับเครดิตที่ Aaa หรือไม่

ชัตดาวน์ได้กลายเป็น "เม็ดทรายในรองเท้า" ที่ชาวอเมริกันต้องสวมใส่ จะย้อนกลับก็ไม่ได้ จะเดินต่อไปก็เจ็บ คงทำได้แต่เพียงรอคอยให้ทุกขั้วอำนาจทางการเมืองยอมถอยคนละก้าว เพื่อเคาะทรายเม็ดนี้ออกจากรองเท้า เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนเดินต่อไปได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ