In Focusจับตา Brexit วงใน-วงนอกมองอย่างไร? อังกฤษควรเดินหน้า Brexit ไปทิศทางใด?

ข่าวต่างประเทศ Wednesday January 23, 2019 17:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นับเป็นเวลายาวนานที่รัฐบาลอังกฤษได้ทำงานอย่างหนัก เพื่อถอดถอนอังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit) โดยนับตั้งแต่ที่มีการลงประชามติในวันที่ 23 มิ.ย. 2559 ซึ่งมีผลโหวตให้อังกฤษถอนตัว ทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องเดินหน้าเรื่องนี้นับตั้งแต่นั้นมา การดำเนินงานตามขั้นตอนต่างๆ ก็มีเรื่อยมาจนถึงวันนี้ ซึ่งโจทย์สำคัญล่าสุดก็คือ การผลักดันให้ร่างข้อตกลง Brexit ฉบับนี้ผ่านการอนุมัติในรัฐสภา ซึ่งผลการลงมติร่างข้อตกลง Brexit เมื่อวันที่ 16 ม.ค. ซึ่งรัฐสภาอังกฤษมีมติปฏิเสธร่างข้อตกลง Brexit ด้วยคะแนนเสียง 432 ต่อ 202 เสียง ทำให้รัฐบาลอังกฤษกลับมานั่งเก้าอี้ลำบากอีกครั้ง เพราะนอกจากจะต้องเจอกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมาแล้ว ยังต้องพยายามเจรจากับพรรคฝ่ายค้านเรื่องร่างข้อตกลง Brexit นอกจากนี้ยังต้องหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อพาอังกฤษออกจากทางตัน และต้องยื่นแผน Brexit ฉบับใหม่ต่อรัฐสภา

ณ เวลานี้ ยังไม่มีใครทราบว่า บทสรุปของ Brexit จะเป็นไปในทิศทางใด แต่ก็มีหลายฝ่ายได้ออกมาแสดงความคิดเห็นพร้อมให้ขอเสนอแนะต่างๆ ว่าอังกฤษควรดำเนินการเช่นไรต่อ In Focus สัปดาห์นี้ จึงขอนำความคิดเห็นของบุคคลสำคัญต่าง ๆ มารวบรวมเพื่อให้พิจารณาและร่วมลุ้นไปพร้อมกันว่า ท้ายที่สุดแล้ว สถานการณ์ Brexit จะไปต่อในทิศทางใด

*วงในเห็นพ้อง ควรเลี่ยง Brexit แบบไร้ข้อตกลง พร้อมเสนอเปิดลงประชามติรอบใหม่

คำว่า "วงใน" ในที่นี้หมายถึง ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองภายในของอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นสก็อตแลนด์ ไอร์แลนด์ และพรรคฝ่ายค้าน เนื่องจากช่วงลงประชามติในปี 2559 ผลประชามติของสก็อตแลนด์และไอร์แลนด์ชัดเจนว่า ต้องการให้อังกฤษเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อไป จึงไม่แปลกใจว่าเพราะเหตุใดสก็อตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือจึงมีไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับ Brexit มากนัก โดยนางนิโคลา สเตอร์เจียน นายกรัฐมนตรีสก็อตแลนด์เสนอให้มีการจัดลงประชามติ Brexit อีกรอบและมองว่าเป็นหนทางเดียวที่มีความน่าเชื่อถือ ในขณะที่นายลีโอ วาราดคาร์ นายกรัฐมนตรีไอร์แลนด์แสดงจุดยืนว่า ไม่ต้องการ Brexit แบบไร้ข้อตกลง โดยมองว่าเป็นเรื่องที่สร้างความลำบากใจอย่างแท้จริง หากอังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรป (EU) แบบไร้ข้อตกลงจะทำให้การกำหนดพรมแดนมีความเข้มงวดจากการตั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองและด่านตรวจศุลกากร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการค้าและความมั่นคงของไอร์แลนด์เหนือ อย่างไรก็ดี ไอร์แลนด์เหนือได้พยายามเตรียมพร้อมรับมือกับ Brexit แบบไร้ข้อตกลงไว้แล้ว

ส่วนพรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของอังกฤษ ได้เรียกร้องให้มีการจัดการลงประชามติครั้งใหม่เช่นกัน เนื่องจากมองว่า การถอนตัวจาก EU แบบไร้ข้อตกลงจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ และการลงประชามติรอบใหม่จะช่วยเลี่ยงปัญหาดังกล่าวได้ พร้อมกับเสนอให้อังกฤษขยายระยะเวลาการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปซึ่งมีกำหนดภายในวันที่ 29 มี.ค. นี้ นอกจากนี้ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เช่น นายโทนี่ แบลร์, นายกอร์ดอน บราวน์ และนายจอห์น เมเจอร์ ก็ได้สนับสนุนการลงประชามติครั้งใหม่ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ออกมาแสดงจุดยืนแล้วว่าจะไม่สนับสนุนให้อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีการทำข้อตกลง รวมทั้งไม่สนับสนุนการขยายเวลาการแยกตัวออกจาก EU จากกำหนดเดิมในวันที่ 29 มี.ค. 2562

*ความเห็นจากวงนอก: EU แนะอังกฤษอยู่ต่อ หรือทำประชามติรอบ 2 หรือถอนตัวแบบมีข้อตกลง ขณะเดียวกันก็เตรียมพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์

วงนอกที่จะกล่าวในที่นี้หมายถึง ผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการภายในของอังกฤษ โดยจะเน้นไปที่ความคิดเห็นและข้อเสนอของ EU และบรรดาประเทศสมาชิกซึ่งถือเป็นคู่เจรจาที่สำคัญของอังกฤษ หลังจากที่รัฐสภาอังกฤษมีมติคัดค้านร่างข้อตกลง Brexit ทำให้บุคคลสำคัญใน EU ต่างออกมาแสดงความผิดหวังภายหลังจากที่ทราบผลการลงคะแนน ซึ่งรวมถึงนายโดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรียุโรป ที่แสดงท่าทีผ่านทวิตเตอร์โดยมีใจความว่า หากข้อตกลงเป็นไปไม่ได้ และไม่มีใครต้องการการถอนตัวโดยปราศจากข้อตกลง จะมีผู้ใดกล้าพูดบ้างว่า หนทางแก้ไขเดียวที่เหลืออยู่คืออะไร? ข้อความดังกล่าวของนายทัสค์เหมือนเป็นการส่งสัญญาณว่า อังกฤษควรอยู่เป็นสมาชิกของ EU ต่อไป ส่วนนายฌอง-คล้อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปได้เรียกร้องให้อังกฤษออกมาชี้แจงความตั้งใจโดยเร็วที่สุดเนื่องจากเวลาใกล้จะหมดลงแล้ว

ด้านฝรั่งเศสมีนางนาตาลี ลัวโซ รัฐมนตรีกระทรวงยุโรปของฝรั่งเศส ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า การคว่ำร่างข้อตกลง Brexit ถือเป็นข่าวร้าย เพราะข้อตกลงดังกล่าวได้ผ่านการเจรจามาเป็นเวลาถึง 2 ปี และเป็นข้อตกลงเดียวที่เป็นไปได้และดีมาก นอกจากนี้ยังได้เสนอให้อังกฤษขยายกำหนดdkiถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ในขณะที่นายเอดูอาร์ด ฟิลิป นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส เปิดเผยว่า ฝรั่งเศสได้เตรียมรับมือหากเกิด Brexit แบบไร้ข้อตกลง ซึ่งรวมถึงการออกมาตรการทางกฎหมายเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อสิทธิของพลเมืองและภาคธุรกิจ

ส่วนนางแคททารีนา บาร์เลย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของเยอรมนีได้แสดงความผิดหวังต่อแผนแก้ปัญหาทางตัน Brexit ซึ่งนายกฯอังกฤษได้ขอให้ EU ยอมผ่อนปรนเรื่องชายแดนไอร์แลนด์ นอกจากนี้ยังได้เสนอให้อังกฤษจัดลงประชามติเป็นรอบที่ 2 โดยเชื่อว่าจะทำให้สถานการณ์คลี่คลาย ส่วนนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ได้แสดงความเสียใจต่อการที่รัฐสภาอังกฤษลงมติปฏิเสธร่างข้อตกลงการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ซึ่งเยอรมนีย่อมได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าว แต่รัฐบาลจะพยายามรับมือกับเรื่องนี้เพื่อให้เยอรมนีได้รับความเสียหายน้อยที่สุด และยืนยันว่าจะทำทุกอย่างเพื่อให้อังกฤษออกจาก EU แบบมีข้อตกลง

นายเซบาสเตียน คูร์ซ นายกรัฐมนตรีออสเตรียได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า อังกฤษควรแสดงความชัดเจนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและ EU ในอนาคตและจะต้องมีเป้าหมายในเรื่องนี้ และกล่าวด้วยว่า EU พร้อมให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่เพื่อหลีกเลี่ยงการถอนตัวแบบปราศจากข้อตกลง นอกจากนี้ยังยืนยันด้วยว่าจะไม่มีการเจรจาต่อรองอีกครั้งอย่างแน่นอน และมีคววามพร้อมรับมือกับผลกระทบจาก Brexit

*บทสรุปของ Brexit ยังคงต้องจับตา

ข้อมูลเบื้องต้นสะท้อนให้เห็นว่า ผู้นำหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองภายในอังกฤษ หรือแม้กระทั่งสมาชิก EU ต่างไม่เห็นด้วยกับการถอนตัวโดยปราศจากข้อตกลง รวมถึงนายกฯอังกฤษ สิ่งที่ต้องจับดูกันต่อไปก็คือ อังกฤษจะหาทางออกอย่างไร? และการเลี่ยง Brexit แบบปราศจากข้อตกลงยังเป็นเรื่องที่เป็นไปได้หรือไม่?

อย่างไรก็ดี สิ่งที่นางเทเรซา เมย์ ทำอยู่ในขณะนี้คือ การเสนอแผนสำรองร่าง Brexit ต่อรัฐสภา ซึ่งก่อนหน้านี้นายกฯ เมย์ ได้พยายามเกลี้ยกล่อมสมาชิกพรรค DUP จากไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และสมาชิกรัฐสภาในสังกัดพรรคอนุรักษ์นิยมให้สนับสนุนร่างข้อตกลง Brexit ด้วยการคลี่คลายประเด็นที่สร้างความกังวลในเรื่อง Backstop ที่มีเป้าหมายในการป้องกันเรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับนโยบายด้านการประกันอย่างเข้มงวดบริเวณชายแดนในไอร์แลนด์เหนือ ภายหลังจากที่พรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคแรงงานไม่เห็นด้วยกับร่างข้อตกลงของนางเมย์ ส่วนผลสรุปจะเป็นเช่นไรก็คงต้องจับตาดูต่อไปว่า การยื่นแผน Brexit ฉบับใหม่ต่อรัฐสภาโดยนายกฯ เมย์จะมีความคืบหน้าเช่นใด และผลการลงมติต่อแผนดังกล่าวจะเป็นเช่นไร ซึ่งทั่วโลกจะได้ทราบผลพร้อมกันในวันที่ 29 ม.ค. นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ