In Focusจับตาเจรจาการค้าสหรัฐ-จีน ปูทางสู่การยุติสงครามการค้าได้หรือไม่?

ข่าวต่างประเทศ Wednesday February 13, 2019 16:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การเจรจาการค้าระหว่างคณะผู้แทนระดับสูงของสหรัฐและจีน 2 มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกเตรียมเปิดฉากขึ้นในสัปดาห์นี้ ท่ามกลางการจับตามองอย่างใกล้ชิดว่าความคืบหน้าที่เกิดขึ้นจะปูทางไปสู่การยุติสงครามการค้าที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนานได้หรือไม่ ในขณะที่สถานการณ์ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ทวีความร้อนแรงขึ้น จากกรณีที่กองทัพสหรัฐส่งเรือรบแล่นเข้าใกล้เกาะที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์ In Focus สัปดาห์นี้จึงเกาะติดความเคลื่อนไหวการเจรจาการค้าที่อาจจะส่งผลต่อการขีดเส้นตายการขึ้นภาษีนำเข้าซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ 1 มี.ค. นี้

"ทรัมป์" เล็งขยายเส้นตายหากเจรจาการค้าคืบ

เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วันก็จะถึงกำหนดเส้นตาย 1 มีนาคมที่รัฐบาลสหรัฐประกาศจะใช้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในอัตรา 25% จากเดิมซึ่งอยู่ที่ระดับ 10% ในขณะที่การเจรจาการค้ารอบใหม่ระหว่างคณะทำงานของสหรัฐและจีน ซึ่งเปิดฉากขึ้นนับตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สร้างความวิตกกังวลว่าการเจรจาการค้าจะประสบกับความล้มเหลวในช่วงที่เส้นตายใกล้เข้ามาทุกขณะหรือไม่ แต่ล่าสุดนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐ ออกมาระบุว่า สามารถขยายระยะเวลาเส้นตายการบรรลุข้อตกลงการค้ากับจีนออกไป หากการเจรจาการค้ามีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ

ทรัมป์ กล่าวว่า "หากเราเข้าใกล้การบรรลุข้อตกลงที่คิดว่าสามารถทำให้เกิดขึ้นจริงและสำเร็จได้ ตนอาจจะพิจารณาเลื่อนกำหนดเส้นตายออกไปก่อน" พร้อมย้ำว่า แต่โดยทั่วไปแล้วไม่ต้องการที่จะทำเช่นนั้นแต่อย่างใด

"ทรัมป์" ยังเปิดทางพบปะ "สี จิ้นผิง"

ขณะเดียวกันประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐส่งสัญญาณเชิงบวก หลังจากเจ้าหน้าที่ทำเนียบออกมาให้ข่าวว่า ทรัมป์ยังคงต้องการหารือกับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน ซึ่งถือเป็นข่าวดีที่จุดประกายความหวังของหลายฝ่ายที่ต้องการเห็นสงครามการค้าระหว่างสองชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกยุติลงในที่สุด

แม้ว่าก่อนหน้านี้ผู้นำสหรัฐกล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อเดือนมกราคมว่า มีแผนที่จะพบกับประธานาธิบดีสีของจีนในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ แต่กลับเปลี่ยนท่าทีด้วยการระบุว่า จะไม่มีการพบปะหารือใดๆเกิดขึ้นก่อนถึงเส้นตาย แต่ยังมีความเป็นไปได้ที่ผู้นำทั้งสองอาจจะพบกันในเดือนมีนาคมนี้ที่รีสอร์ท Mar-a-Lago ของทรัมป์ในรัฐฟลอริด้า อย่างไรก็ตาม ทรัมป์กล่าวว่า จะไม่มีการทำข้อตกลงใด ๆ จนกว่าจะได้หารือกับผู้นำจีน ซึ่งนับจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดวันและเวลาที่แน่ชัด

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังนางเคลลีแอน คอนเวย์ ที่ปรึกษาประจำทำเนียบขาวของสหรัฐเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการที่จะพบกับประธานาธิบดีสีในเร็ววัน เพื่อบรรลุข้อตกลงทางการค้าที่เป็นธรรมต่อชาวอเมริกัน แรงงานอเมริกันและผลประโยชน์ของสหรัฐ โดยคาดว่าประเด็นสำคัญที่สหรัฐจะยังคงพยายามกดดันจีน คือ การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทอเมริกัน และยกเลิกข้อกำหนดที่ให้บริษัทอเมริกันถ่ายโอนเทคโนโลยีให้กับบริษัทจีน หากต้องการเข้าไปลงทุนในประเทศ รวมถึงการควบคุมการให้เงินอุดหนุนของอุตสาหกรรม ส่วนประเด็นอื่นๆ ได้แก่ ความไม่สมดุลทางการค้า การจารกรรมไซเบอร์ การควบคุมสกุลเงิน การเข้าถึงตลาดและกลไกการบังคับใช้สำหรับข้อตกลงใด ๆ ที่ทำขึ้น

ล่าสุด คณะผู้แทนเจรจาจากทั้งสองประเทศกำลังประชุมกันที่กรุงปักกิ่ง โดยเจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรีช่วยเริ่มหารือกันตั้งแต่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเจรจาระดับสูงระยะเวลา 2 วัน ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันพฤหัสบดีนี้ ระหว่างนายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าของสหรัฐ, นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับนายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีของจีน

ผู้ใกล้ชิดประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า การเจรจาที่เกิดขึ้นในสัปดาห์นี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากจำเป็นต้องแสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าที่น่าเชื่อถือต่อทั้งประธานาธิบดีและตลาดการเงิน แต่ทั้งสองฝ่ายเพิ่งจะยังอยู่ในขั้นตอนของการร่างเอกสารร่วม และยังคงมีความเห็นต่างในประเด็นที่ว่าจะบังคับใช้ข้อตกลงอย่างไร ซึ่งเจ้าหน้าที่สหรัฐย้ำว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่ง ส่งผลให้มีความเป็นไปได้มากที่สุดว่าจะมีการขยายกำหนดเส้นตายจากเดิมในวันที่ 1 มีนาคมออกไป และรัฐบาลสหรัฐจะยังไม่ปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สู่อัตรา 25% ตามที่ทรัมป์เคยขู่เอาไว้

ทั้งนี้ การเจรจารอบล่าสุดในกรุงวอชิงตัน เมื่อช่วงปลายเดือนที่แล้ว ส่งผลให้จีนกลับมาสั่งซื้อถั่วเหลืองจากสหรัฐ ตามที่ให้คำมั่นเรื่องการนำเข้าสินค้าสหรัฐเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าคำสั่งซื้อเหล่านั้นจะเป็นผลดีกับเกษตรกรชาวอเมริกัน แต่การประชุมดังกล่าวกลับไม่ปรากฏความคืบหน้าในประเด็นเชิงโครงสร้างที่สร้างความแตกแยกให้กับทั้งสองประเทศ เช่น นโยบายอุตสาหกรรม, เงินอุดหนุนจากรัฐบาล, การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาหรือการบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี

แรงจูงใจด้านเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ในขณะที่จีนเผชิญภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวนั้น ส่งผลให้รัฐบาลจีนมีแรงจูงใจอย่างมากในการตอบสนองข้อเรียกร้องของสหรัฐ และยุติสงครามการค้าที่ยืดเยื้อ เห็นได้จากการผ่านกฎหมายอย่างรวดเร็วในหมวดห้ามการโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญาและการบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี แต่คำถามสำคัญที่ตามมา คือ ทางการจีนจะยินยอมประนีประนอมได้อีกมากเท่าใด เนื่องจากสหรัฐต้องการผลักดันให้เกิดแผนการจัดลำดับความสำคัญในการวิจัยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ซึ่งถือเป็นเรื่องยากที่จะโน้มน้าวจีนเกี่ยวกับนโยบายการครอบครองเทคโนโลยีขั้นสูงของประเทศ

นอกจากนี้ เมื่อใกล้ถึงกำหนดเส้นตายวันที่ 1 มีนาคม การพิจารณาและคาดคะเนถึงผลได้ผลเสียจะเพิ่มขึ้น ถือเป็นงานหนักสำหรับคณะผู้แทนเจรจาต่อรองในการเห็นพ้องต้องกันกับข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ตามที่ทรัมป์เรียกร้อง

อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ของจีนและปัจจุบันเป็นนักวิชาการอาวุโสประจำศูนย์ Center for China and Globalization ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยอิสระ เปิดเผยว่า "กุญแจสำคัญของการเจรจาอยู่ที่ว่าสหรัฐและจีนจะสามารถหาจุดร่วมระหว่างกันได้หรือไม่" และ "นับจนถึงขณะนี้ไม่สามารถระบุได้ว่าสหรัฐจะขยายกำหนดเวลาออกไปหรือไม่ แต่กระนั้น ก็ถือว่ายังเร็วเกินไปที่จะคาดการณ์ผลลัพธ์ใด ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น" ด้วย

ปมขัดแย้งทะเลจีนใต้กระทบการเจรจาหรือไม่?

การเจรจาการค้าครั้งนี้ยังเกิดขึ้นในช่วงเดียวกันกับที่สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ทวีความร้อนแรงขึ้น หลังจากที่เรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถี 2 ลำของกองทัพสหรัฐแล่นเข้าไปในระยะ 12 ไมล์ทะเลของแนวปะการังมิสชีฟ บริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ พื้นที่พิพาทเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำระหว่างจีนกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมากให้กับทางการจีน ซึ่งนางหัว ชุนหยิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า สหรัฐมุ่งมั่นที่จะยุยงปลุกปั่นปัญหาในบริเวณทะเลจีนใต้, สร้างความตึงเครียดและบ่อนทำลายสันติภาพ พร้อมเรียกร้องให้สหรัฐยุติการกระทำที่เป็นการยั่วยุ

สำหรับปฏิบัติการของกองทัพสหรัฐที่เกิดขึ้นถือเป็นความพยายามครั้งล่าสุด เพื่อตอบโต้ต่อกรณีที่สหรัฐมองว่าเป็นความเคลื่อนไหวของรัฐบาลจีนในการจำกัดเสรีภาพการเดินเรือในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทางการจีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่เกือบทั้งหมดของทะเลจีนใต้ รวมถึงกล่าวโจมตีสหรัฐและชาติพันธมิตรที่ปฏิบัติการทางเรือใกล้กับหมู่เกาะที่จีนยึดครอง

หลายประเทศได้ใช้มาตรการกดดันทางการค้าต่อจีน หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐระบุว่า จีนเร่งเสริมกำลังทหารในทะเลจีนใต้ด้วยการติดตั้งยุทโธปกรณ์บนเกาะเทียม แต่จีนแก้ต่างว่า การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางทหารจำเป็นต่อการป้องกันตนเองเท่านั้น

ต่อข้อซักถามที่ว่า กรณีนี้จะส่งผลกระทบต่อการเจรจาการค้าที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้หรือไม่ โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนกล่าวว่า การที่สหรัฐใช้กลอุบายลักษณะนี้มาแล้วด้วยกันหลายครั้ง เป็นการแสดงให้จีนเห็นอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลสหรัฐกำลังคิดอย่างไร แต่จีนยังคงเชื่อมั่นว่า การเจรจาทางการค้าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการลดความขัดแย้งระหว่างสองประเทศ ตลอดจนเป็นประโยชน์ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

เตือนตลาดการเงินอย่าตื่นตระหนก

ขณะที่นักวิเคราะห์อิสระรายหนึ่งกล่าวว่า ตลาดการเงินไม่ควรมีปฏิกริยาตื่นตระหนกจนเกินไป หากข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐและจีนไม่บรรลุผลสำเร็จ เนื่องจากยอดการส่งออกสินค้าของสหรัฐไปยังจีนคิดเป็นเพียง 7.2% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว พร้อมย้ำว่า สหรัฐเสียเวลาถึง 2 ปีในการเจรจาการค้าที่ไม่ก่อให้เกิดผลกับจีนโดยไม่จำเป็น เนื่องจากนับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีทรัมป์สาบานตนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 2560 พบว่า สหรัฐมียอดขาดดุลการค้ากับทั่วโลก 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในจำนวนนี้เป็นยอดขาดดุลการค้ากับจีนมูลค่า 7.6 แสนล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

แต่การที่สหรัฐพุ่งเป้ากดดันด้านการค้าจีนอย่างจริงจังในช่วงเวลาดังกล่าว ส่งผลทำให้สหรัฐขาดดุลการค้า ตลอดจนสูญเสียโอกาสในการทำข้อตกลงกับยุโรป, เม็กซิโก, แคนาดาและญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นตลาดสำคัญของอเมริกา และมีมูลค่าถึงเป็นสองในสามของการส่งออกของสหรัฐ ขณะเดียวกันการดำเนินนโยบายในปัจจุบัน ยิ่งจะส่งผลทำให้ยอดขาดดุลการค้าเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง สวนทางกับความมั่งคั่งของชาวอเมริกัน อัตราการจ้างงานและรายได้จากอุตสาหกรรมการนำเข้าที่ปรับตัวลดลง

นอกจากนี้ยังให้คำแนะนำว่า รัฐบาลสหรัฐควรปรับทิศทางนโยบายที่มีต่อจีนบนพื้นฐานหลักการใหม่ด้านการค้าที่เสรี, เป็นธรรมและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ผ่านการเจรจาที่สมเหตุสมผลในการพลิกโฉมกระแสการค้า การเงิน การลงทุนระหว่างสหรัฐและจีน

ด้านนายโจเซฟ ไซ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทอาลีบาบาให้ความเห็นว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างของช่องว่างทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนจะเกิดขึ้นอีกครั้งหากจีนเพิ่มการนำเข้า ตามแผนการระยะยาวที่ตั้งเป้านำเข้าสินค้าและบริการมูลค่า 40 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในช่วง 15 ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลทำให้การขาดดุลการค้าของจีนลดลง และแม้ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะบังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพื่อระงับการขาดดุลการค้า แต่ยอดเกินดุลการค้าของจีนสูงถึง 3.23 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 ถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา

ผู้บริหารระดับสูงของอาลีบาบากล่าวทิ้งท้ายว่า "เราเปิดกว้างอยู่เสมอ เพราะเราอยู่ในวงการธุรกิจ ดังนั้นเราจึงคาดหวังถึงสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการค้า เรายังคงมองในแง่ดีว่า การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนในครั้งนี้จะมีการลงมติกันในบางประเด็น"

สรุป

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของการเจรจาการค้าระหว่างคณะผู้แทนระดับสูงของสหรัฐและจีน ซึ่งกำลังจะเปิดฉากขึ้นในวันพฤหัสบดีนี้ว่าจะมีแนวโน้มไปในทิศทางใด เนื่องจากความคืบหน้าที่เกิดขึ้นจะเป็นข้อบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ในการเลื่อนกำหนดเส้นตายบรรลุข้อตกลงการค้าออกไป จากกำหนดเดิมในวันที่ 1 มีนาคม เพื่อชะลอการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สู่ระดับ 25% จากเดิมที่ระดับ 10% ซึ่งถือเป็นการระงับความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ