In Focusยุโรปผลัดใบภายใต้หญิงแกร่ง "คริสติน ลาการ์ด" ว่าที่ประธาน ECB และ "เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน" ว่าที่ประธาน EC

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 3, 2019 14:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สหภาพยุโรป (EU) กำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อสองหญิงเก่งอย่างนางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน รัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนี ได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมสุดยอด EU ให้ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) และนางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ทำหน้าที่ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ภายหลังจากที่มีการงัดข้อกันระหว่างเยอรมนีและฝรั่งเศส เรื่องการสรรหาและเสนอชื่อบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ประธานธนาคารกลางยุโรป และประธานคณะกรรมาธิการยุโรป

อย่างไรก็ดี การแต่งตั้งผู้นำระดับสูงชุดใหม่ที่จะเข้ามากุมบังเหียนยุโรปจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภายุโรป ซึ่งหากรัฐสภาให้การรับรองนางเลเยนเป็นประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ก็จะถือเป็นผู้หญิงคนแรกที่ก้าวขึ้นเป็นผู้นำองค์กรดังกล่าว ทำไมสองหญิงเก่ง จึงได้รับการเสนอชื่อให้รับหน้าที่สำคัญนี้ In Focus จะพาไปทำความรู้จักและเข้าถึงเบื้องหลังของเธอทั้งสอง

เส้นทางอาชีพของนักกฎหมายสู่วงการการเมืองและเศรษฐกิจระดับโลกของ "ลาการ์ด"

ปัจจุบัน คริสติน ลาการ์ด อายุ 63 ปี ก่อนหน้าที่จะเข้ามาทำหน้าที่ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เมื่อปี 2554 นั้น ลาการ์ดมีบทบาทและประสบการณ์มากมายในฐานะนักกฎหมายและนักการเมือง บทบาททางการเมืองของเธอก่อนที่จะได้รับการเสนอชื่อให้เข้ามาดูแล IMF นั้น คือ บทบาทของรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การเงิน และอุตสาหกรรมของฝรั่งเศส ช่วงปี 2550-2554 ในระหว่างที่เป็นรัฐมนตรี ลาการ์ดให้ความสำคัญกับการเปิดตลาดใหม่ๆ โดยมุ่งเน้นไปที่ภาคเทคโนโลยี

ก่อนหน้าที่จะมาทำหน้าที่ด้านเศรษฐกิจเธอรับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและประมง ปี 2550 ในสมัยรัฐบาลนายฟรองซัวส์ ฟิยอง นอกจากนี้ เธอยังเคยทำหน้าที่รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ในปี 2548-2550

ย้อนกลับไปก่อนที่ลาการ์ดจะเดินเข้าสู่วงการการเมือง เธอเป็นนักกฎหมายมาก่อนที่เบเกอร์ แอนด์ แมคเคนซี ในปี 2524 โดยดูแลเกี่ยวกับคดีใหญ่ๆด้านแรงงานและคดีที่เกี่ยวกับการต่อต้านการผูกขาด จนมาได้รับการเสนอชื่อให้เป็นพาร์ทเนอร์และผู้บริหารของบริษัทสาขาในยุโรปตะวันตก หลังจากนั้นจึงขึ้นมาทำหน้าที่คณะกรรมการบริหาร และได้รับการคัดเลือกให้เป็นประธานบริษัท ซึ่งถือเป็นประธานที่เป็นผู้หญิงคนแรก

เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2554 ลาการ์ดได้ประกาศชิงตำแหน่งผอ. IMF ต่อจากนายโดมินิค สเตราส์ คาห์น โดยเธอได้รับการสนับสนุนจากทั้งรัฐบาลอังกฤษ อินเดีย สหรัฐ บราซิล รัสเซีย จีน และเยอรมนี ให้ทำหน้าที่ดังกล่าว ในขณะที่นายออกัสติน คาร์สเทนส์ ผู้ว่าการธนาคารกลางเม็กซิโก ซึ่งเป็นคู่แข่งชิงตำแหน่งกับเธอ ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในแถบลาตินอเมริกา รวมทั้งสเปน แคนาดา และออสเตรเลีย

สำหรับชีวิตส่วนตัวของนางลาการ์ดนั้น เธอเกิดที่กรุงปารีสในครอบครัวของนักวิชาการ โดยเธอสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทด้านกฎหมาย ลาการ์ดมีลูกชาย 2 คน และหย่ากับสามี คู่ชีวิตของเธอในปัจจุบันเป็นนักธุรกิจ

บทบาทใหม่ของนางลาการ์ดในฐานะประธาน ECB จะเป็นการดูแลนโยบายด้านการเงินและสกุลเงินยูโรต่อจากนายมาริโอ ดรากี ภารกิจหลักที่รอนางลาการ์ดอยู่คือ การฟื้นเศรษฐกิจยูโรโซน

ล่าสุด คณะกรรมการบริหารของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกแถลงการณ์ว่า นายเดวิด ลิปตัน ผู้ช่วยผู้อำนวยการ IMF จะรักษาการตำแหน่งผู้อำนวยการ ภายหลังจากที่นางลาการ์ด ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางยุโรป แต่ไม่ได้มีการระบุในรายละเอียดเกี่ยวกับการสรรหาบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ผอ. IMF คนใหม่

"เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน" รัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนี

นางเลเยน ปัจจุบัน อายุ 60 ปี เธอเกิดและเติบโตมาในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม สำเร็จการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ และหันมาศึกษาต่อด้านเวชศาสตร์ หลังจากนั้นจึงทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยแพทย์ และจบแพทย์ศาสตร์บัณฑิต มีบุตรด้วยกัน 7 คน เธอเข้าสู่วงการการเมืองด้วยการเข้าเป็นสมาชิกพรรคคริสเตียนเดโมเครติคยูเนียนหรือซีดียูเมื่อปี 2533 โดยได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกรัฐสภาของแคว้นแซกโซนี ก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งในปี 2548 นางเลเยนได้รับการวางตัวจากนางอังเกลา แมร์เคิล ให้ดูแลเรื่องสวัสดิการสังคมและครอบครัวในคณะรัฐมนตรีเงา และก้าวสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีฝ่ายกิจการครอบครัวและเยาวชนได้ในที่สุดในยุครัฐบาลแมร์เคิลเมื่อปี 2548 หลังจากนั้น เลเยนก็ได้ทำหน้าที่รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและกิจการสังคมในช่วงปี 2548 - 2552

ต่อมานางเลเยนได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมในปี 2556 นับเป็นรมว.กลาโหมที่เป็นผู้หญิงคนแรกของเยอรมนีจนถึงปัจจุบัน

สำหรับบทบาทใหม่ของนางเลเยนหากได้รับการรับรองก็จะเป็นเรื่องการของการนำเสนอกฎหมายใหม่ๆของสหภาพยุโรป กำหนดนโยบาย งบประมาณ และการจัดการเจรจาต่อรองด้านการค้ากับประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป

จับกระแสเสียงวิจารณ์ว่าที่ผู้นำชุดใหม่ของยุโรป

นายโดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรียุโรป เผยก่อนที่จะมีการประชุมรัฐสภายุโรปนัดแรกนั้น ทุกฝ่ายเห็นพ้องเรื่องรายชื่อผู้บริหารที่ได้มีการนำเสนอทั้งหมดแล้ว โดยเยอรมนีไม่ได้เสนอชื่อนางเลเยน ด้วยเหตุผลเรื่องพรรคร่วมรัฐบาล แต่นางอังเกลา แมร์เคิล นายกฯเยอรมนีนั้นให้การสนับสนุนนางเลเยนอยู่แล้ว

ในขณะที่ประธานาธิบดีเอ็มมานูแอล มาครอง แห่งฝรั่งเศสนั้น มองว่า รายชื่อที่ได้มีการเสนอมานั้นถือเป็นผลพวงจากความเข้าใจอันดีเป็นอย่างยิ่งระหว่างฝรั่งเศสและเยอรมนี นางฟอน เดอร์ เลเยน ถือเป็นแคนดิเดตที่ดีมากและยังเป็นตัวเลือกที่ดีมากสำหรับการเป็นผู้นำคณะกรรมาธิการยุโรป ขณะที่ความสามารถและศักยภาพต่างๆของนางลาการ์ด

นายลีโอ วาราดคาร์ นายกรัฐมนตรีไอร์แลนด์ มองว่า การเสนอชื่อสุภาพสตรีทั้ง 2 รายให้ทำหน้าที่ที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งนี้ถือเป็นการส่งสาส์นที่ทรงพลังว่า EU นั้น ก้าวไปสู่ความเท่าเทียมทางเพศ

บรรณาธิการบีบีซีประจำทวีปยุโรปมองว่า หากนางเลเยนได้รับการรับรองให้ทำหน้าที่ประธาน EC คนใหม่ กลุ่ม EU จะยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ นางเลเยนนั้นจงรักภักดีต่อนางแมร์เคิล และยังเป็นสมาชิกพรรคคริสเตียนเดโมเครติคยูเนียนตัวจริงเสียงจริง กรณีการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ถือเป็นสถานการณ์ที่ชี้ให้เห็นว่า แม้ว่า คณะกรรมาธิการยุโรปจะเป็นผู้เจรจากับสหราชอาณาจักร แต่ท้ายที่สุดแล้ว ผู้นำประเทศสมาชิกของ EU ต่างหากที่เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจอย่างแท้จริงว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

นอกจากกรณีของ Brexit แล้ว ยังจะเห็นได้จากการเสนอชื่อและสรรหาผู้บริหารชุดใหม่ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในการดูแลยุโรป ที่ก่อนหน้านี้ 2 ประเทศมหาอำนาจในยุโรปอย่างฝรั่งเศสและเยอรมนีเองก็ไม่สามารถเกลี้ยกล่อมให้ประเทศสมาชิกยินยอมเพื่อเลือกบุคคลที่ทั้ง 2 ประเทศคัดเลือกมาให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆได้

เมื่อพูดถึง 2 ตำแหน่งสำคัญในช่วงยุโรปผลัดใบแล้ว คงต้องกล่าวถึงตำแหน่งสำคัญอีก 3 ตำแหน่งที่จะมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่เช่นกัน ได้แก่ นายชาร์ลส์ มิเชล นายกรัฐมนตรีเบลเยียม ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะมนตรียุโรป นายโจเซฟ บอร์เรล รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสเปน วัย 72 ปีที่ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ประธานนโยบายต่างประเทศของ EU ซึ่งก่อนหน้านี้ บอร์เรลเคยรั้งตำแหน่งประธานรัฐสภายุโรปมาแล้วเมื่อปี 2547- 2550 อีกตำแหน่งได้แก่ ประธานรัฐสภายุโรป ซึ่งจะมีการลงมติคัดเลือกกันในวันนี้ ( 3 ก.ค.) โดยมีตัวเก็ง 2 ราย ได้แก่ นายแมนเฟรด เวเบอร์ นักกฎหมายของสหภาพยุโรปชาวเยอรมัน และนายเซอร์ไก สตานิเชฟ นักสังคมนิยมชาวบัลแกเรีย

การสรรหาและคัดเลือกผู้บริหารชุดใหม่ของสหภาพยุโรปครั้งล่าสุดนี้ สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจและบทบาทของประเทศสมาชิกในฝั่งยุโรปตะวันตกที่แคนดิเดตของตนเองได้รับการยอมรับและเตรียมขึ้นดำรงตำแหน่ง จะเหลือก็เพียงตำแหน่งประธานรัฐสภายุโรปที่ต้องมาดูกันอีกทีว่า ท้ายที่สุดแล้วตัวเก็งจากฝั่งยุโรปตะวันออกหรือตะวันตกจะได้รับชัยชนะ

"After all, Europe is a woman" คำกล่าวติดมุกของ โดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรียุโรป ซึ่งกล่าวกับผู้สื่อข่าวภายหลังการประชุมที่ลากยาวถึง 3 วันจนได้ชื่อผู้บริหารชุดใหม่ในที่สุดนี้ นอกจากจะอ้างอิงถึงตำนานเทพเจ้าของกรีกเกี่ยวกับเจ้าหญิง Europa ซึ่งเป็นที่มาของชื่อทวีปยุโรปแล้ว คงจะชี้ให้เห็นถึงบทบาทของผู้นำหญิงด้วยนั่นเอง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ