In Focus:นับถอยหลัง 31 ต.ค. "Brexit Day": ระเบิดเวลาลูกใหม่

ข่าวต่างประเทศ Wednesday August 28, 2019 10:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อังกฤษจัดการลงประชามติว่าด้วยการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2559 แต่นับตั้งแต่นั้นมาจนถึงวันนี้คิดเป็นเวลากว่า 3 ปี ชาวอังกฤษยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนในกรณี Brexit ขณะที่รัฐสภาคว่ำข้อตกลง Brexit ถึง 3 ครั้งในช่วงที่นางเทเรซา เมย์เป็นนายกรัฐมนตรี จนขณะนี้อังกฤษได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ชื่อบอริส จอห์นสัน ก็ไม่ได้ช่วยให้มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

ที่ผ่านมา นายจอห์นสันยืนยันว่า อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU) แม้ว่าจะไม่มีการทำข้อตกลงก็ตาม

In Focus สัปดาห์นี้จะวิเคราะห์ถึงผลกระทบในมิติต่างๆที่จะเกิดขึ้นกับอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก ในกรณีที่เกิด Brexit แบบไร้ข้อตกลง ในขณะที่เหลือเวลาอีกเพียง 64 วัน ก็จะถึงกำหนดเส้นตายในการแยกตัวของอังกฤษออกจาก EU ในวันที่ 31 ต.ค.

*เศรษฐกิจอังกฤษหดตัว

ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ประเมินว่า ในกรณีที่ย่ำแย่ที่สุด Brexit ที่ไร้ข้อตกลงจะทำให้เศรษฐกิจอังกฤษหดตัวถึง 5% ภายในเวลา 1 ปี ซึ่งถือว่ารุนแรงเทียบเท่ากับในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินทั่วโลก

ส่วนในระยะยาว คาดว่าเศรษฐกิจอังกฤษจะหดตัวลง 8% ภายในปี 2578 และผลกระทบจะรุนแรงมากขึ้น หากจำนวนชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้าอังกฤษลดลงอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ BoE ยังเตือนความเสี่ยงจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่เพิ่มขึ้น และนักลงทุนต่างชาติพากันเทขายสินทรัพย์ของอังกฤษ

*การค้าชะงักงัน

EU ประกาศว่า หากเกิดกรณี Brexit ที่ไม่มีการทำข้อตกลง EU ก็จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 2-3% ต่อสินค้านอกภาคเกษตรของอังกฤษ และหากเป็นสินค้าอื่น เช่น รถยนต์ และสินค้าในภาคเกษตร ก็จะถูกเรียกเก็บภาษีสูงกว่านี้ ขณะที่สิทธิประโยชน์ในการส่งออก-นำเข้าโดยปลอดภาษีใน EU จะสิ้นสุดลงทันทีที่อังกฤษแยกตัวจาก EU ส่งผลให้สินค้าของอังกฤษจะถูก EU เรียกเก็บภาษีเช่นเดียวกับสินค้าที่มาจากภูมิภาคอื่นๆของโลก

อย่างไรก็ดี นายจอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กล่าวว่า อังกฤษจะไม่ถูกเรียกเก็บภาษีดังกล่าว ภายใต้กฎระเบียบขององค์การการค้าโลก (WTO) แต่นายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการ BoE และนายเลียม ฟ็อกซ์ อดีตรัฐมนตรีการค้าของอังกฤษ รวมทั้งนายนายมิเชล บาร์นิเยร์ ตัวแทนเจรจา Brexit ของฝ่าย EU ยืนยันว่า การที่อังกฤษจะได้รับการยกเว้นจากการถูกเรียกเก็บภาษีดังกล่าวนั้น อังกฤษจำเป็นที่จะต้องทำข้อตกลงกับ EU เสียก่อน

ขณะเดียวกัน รัฐบาลอังกฤษเตรียมที่จะงดการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าหลายประเภทเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปีเพื่อช่วยลดการพุ่งขึ้นของราคาสินค้า และอัตราเงินเฟ้อที่จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวจะทำให้ภาคเอกชนของอังกฤษเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากคู่แข่งที่จะส่งสินค้าเข้ามาตีตลาดในอังกฤษ

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ผลิตของอังกฤษก็มีความวิตกเกี่ยวกับความคับคั่งที่จะเกิดขึ้นที่ด่านตรวจสินค้าตามชายแดนในกรณีที่อังกฤษแยกตัวจาก EU โดยไม่มีการทำข้อตกลง ซึ่งจะทำให้ใช้เวลานานขึ้นในการตรวจสอบเอกสารและสินค้า ซึ่งจะกระทบต่อกำหนดเวลาในการผลิตสินค้า

ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ระบุว่า ความล่าช้าที่เกิดขึ้นตามแนวชายแดนจะสร้างความเสียหายคิดเป็นเงิน 50,000 ปอนด์ (64,000 ดอลลาร์) ต่อทุกๆนาทีที่เสียไป

ส่วนผู้ที่สนับสนุน Brexit กล่าวว่า การใช้กล้อง และการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงจะช่วยแก้ปัญหาตามชายแดน และหากอังกฤษสามารถทำข้อตกลงการค้ากับประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐ อินเดีย และจีน ก็จะช่วยเอื้อประโยชน์ต่ออังกฤษ

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ระบุว่า ประโยชน์ที่จะได้รับจากข้อตกลงดังกล่าวจะมีไม่มากนัก และไม่สามารถชดเชยกับความเสียหายที่เกิดจากกรณี Brexit ที่ไม่มีการทำข้อตกลง

*ภาวะคอขวดที่ท่าเรือ,ชายแดน

เจ้าหน้าที่เตือนว่าจะเกิดความล่าช้า และคิวยาวที่ท่าเรือ และตามด่านตรวจที่ชายแดน ในกรณีที่เกิด Brexit แบบไม่มีข้อตกลง เนื่องจากรถขนส่งสินค้าจำเป็นที่จะต้องแสดงรายละเอียดสินค้าตามกฎระเบียบของศุลกากร ขณะที่เจ้าหน้าที่ EU จะต้องตรวจสอบสินค้า ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาคอขวดตามชายแดน

รัฐบาลอังกฤษเปิดเผยว่าจะมีการใช้เส้นทางมอเตอร์เวย์สำหรับเป็นที่จอดรถของขบวนรถบรรทุกในกรณีที่เกิดคิวยาว และวางแผนที่จะใช้สนามบินขนาดเล็กแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของอังกฤษเพื่อรับมือกับความล่าช้า และภาวะคับคั่งที่ท่าเรือต่างๆ

นักวิชาการของอิมพีเรียล คอลเลจเตือนว่า ทุกๆ 2 นาทีที่เสียไปที่ด่านตรวจรถยนต์ที่โดเวอร์ และโฟล์คสโตน จะทำให้เกิดคิวรถยาวถึง 29 ไมล์ (47 กิโลเมตร) บนถนนไฮเวย์

ทางด้านกลุ่มผู้ผลิต และค้าปลีกของอังกฤษได้พากันกักตุนสินค้า ก่อนถึงกำหนด Brexit เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความล่าช้าด้านโลจิสติกส์ที่จะส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้า จนทำให้ขณะนี้แทบไม่มีที่ว่างในคลังสินค้าในอังกฤษ

เทสโก้ ซึ่งเป็นผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดของอังกฤษ ระบุว่า การเกิด Brexit ที่ไม่มีการทำข้อตกลงในช่วงสิ้นเดือนต.ค. จะส่งผลกระทบที่เลวร้ายกว่าการแยกตัวของอังกฤษตามกำหนดเดิมในช่วงสิ้นเดือนมี.ค. เนื่องจากเดือนต.ค.เป็นช่วงที่เข้าใกล้เทศกาลคริสต์มาสที่ผู้บริโภคจะมีการจับจ่ายสินค้าจำนวนมาก รัฐบาลอังกฤษประกาศว่าจะใช้งบประมาณ 344 ล้านปอนด์ รวมทั้งเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่อีก 500 ราย เพื่อลดเวลา และคิวยาวตามด่านตรวจในท่าเรือ และตามชายแดน

*ปอนด์วูบ

BoE เตือนว่า ในกรณีที่ย่ำแย่ที่สุดของการเกิดภาวะ Brexit แบบไม่มีการทำข้อตกลง ปอนด์จะทรุดตัวลงถึง 25% เทียบดอลลาร์ ส่งผลให้ 1 ปอนด์มีค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์ จากปัจจุบัน 1 ปอนด์มีค่าเท่ากับ 1.2285 ดอลลาร์

ก่อนหน้านี้ ปอนด์ได้ดิ่งลงอย่างรุนแรงในวันที่ 23 มิ.ย.2559 ซึ่งเป็นวันที่อังกฤษลงประชามติแยกตัวออกจาก EU โดยปอนด์ร่วงลงจากระดับ 1.50 ดอลลาร์ สู่ระดับ 1.32 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 31 ปี และขณะนี้ปอนด์ได้ปรับตัวลงราว 15% นับตั้งแต่การลงประชามติดังกล่าว

*บริษัทจดทะเบียนถูกกระทบ

ถึงแม้การอ่อนค่าของปอนด์จะช่วยหนุนราคาหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ของอังกฤษที่มีการทำธุรกิจกับต่างประเทศ เช่น British American Tobacco และ GSK ขณะที่บริษัทจำนวนมากในดัชนี FTSE 100 มีรายได้ 70% มาจากต่างประเทศ แต่สำหรับกลุ่มบริษัทในดัชนี FTSE 250 ที่พึ่งพารายได้จากอุปสงค์ภายในประเทศ การอ่อนค่าของปอนด์จะเป็นปัจจัยลบต่อผลประกอบการบริษัท

*อาหารแพง

ชาวอังกฤษจะพบว่าอาหารในซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นสิ่งบ่งชี้แรกถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจาก Brexit ที่ไร้ข้อตกลง โดยในปัจจุบัน อาหารเกือบ 30% ในอังกฤษมาจาก EU และมีแนวโน้มว่าอาหารบางประเภท เช่น ผักสด และผลไม้ จะมีจำนวนลดน้อยลง และมีราคาแพงขึ้น ในกรณีที่เกิด Brexit แบบไร้ข้อตกลง

ทั้งนี้ ภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้น และความล่าช้าในการขนส่งจะทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น และหากปอนด์ดิ่งลง ก็จะยิ่งซ้ำเติมให้ราคาพุ่งขึ้น

ที่ผ่านมา ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งได้เตือนเกี่ยวกับการขาดแคลนสินค้าประเภทอาหาร และราคาที่สูงขึ้น โดยธนาคารกลางอังกฤษเตือนว่า ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ราคาสินค้าจะพุ่งขึ้นถึง 10%

ทางด้านรัฐบาลเปิดเผยว่า ลำพังปัจจัย Brexit แบบไร้ข้อตกลง อาจไม่ได้นำไปสู่การขาดแคลนอาหาร แต่พฤติกรรมของผู้บริโภคในการแห่ซื้อสินค้าเพื่อกักตุนด้วยความตื่นตระหนก จะทำให้ร้านค้าปลีกเกิดการขาดแคลนสินค้าและอาหาร

ซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งระบุว่าจะทำการเก็บสต็อกสำหรับอาหารบางประเภท แต่สำหรับอาหารสด และผลไม้ อาจไม่สามารถกักเก็บไว้ได้นาน

นอกจากนี้ การที่อังกฤษแยกตัวออกจาก EU ในช่วงสิ้นเดือนต.ค.ถือเป็นช่วงเวลาที่แย่ที่สุด เพราะคลังสินค้าจะเต็มไปด้วยสินค้าสำหรับการเตรียมขายในเทศกาล Black Friday และคริสต์มาส ทำให้เหลือพื้นที่จำกัดในการกักเก็บสินค้าสำหรับ Brexit

*ชีวิตเปลี่ยนเมื่อต้องเดินทางไปยุโรป

ชาวอังกฤษเดินทางออกนอกประเทศจำนวนหลายล้านคนในแต่ละปี โดยส่วนใหญ่เดินทางไปยุโรป

หากชาวอังกฤษต้องการเดินทางไปในประเทศในกลุ่ม EU หลังเกิด Brexit แบบไร้ข้อตกลง ก็จะต้องมีการเตรียมเอกสารที่ถูกต้อง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ชาวอังกฤษสามารถเดินทางไปยัง EU โดยใช้เพียงวีซ่าเชงเก้น

และหากชาวอังกฤษต้องการขับรถเข้าไปใน EU ก็จะต้องมีกรีนการ์ด ซึ่งระบุถึงการทำประกันอุบัติเหตุตามที่กำหนดไว้ และคนขับจะต้องมีใบขับขี่ระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ รัฐบาลยังเตือนเกี่ยวกับคิวยาวเหยียดในสถานีเซนต์ แพนคราส อินเตอร์เนชั่นแนลที่กรุงลอนดอน ซึ่งเป็นสถานีหลักสำหรับการขึ้นรถไฟยูโรสตาร์ เชื่อมระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศส

ขณะเดียวกัน รถบัสที่วิ่งระหว่างอังกฤษและบางประเทศที่ไม่เป็นสมาชิกของ EU เช่น สวิตเซอร์แลนด์ และอันดอร์รา ก็อาจระงับการให้บริการ

*ยาขาดแคลน

รัฐบาลเตือนว่าจะเกิดการขาดแคลนยา อันเนื่องจากความล่าช้าในกระบวนการนำเข้าจาก EU ที่ทำให้เกิดความคับคั่งที่ท่าเรือคาเลส์ และโดเวอร์ โดยอังกฤษต้องนำเข้ายา และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จำนวนมากถึง 75% จาก EU

อย่างไรก็ดี รัฐบาลประกาศทุ่มงบประมาณ 434 ล้านปอนด์ในการรับประกันว่าอังกฤษจะไม่ประสบภาวะขาดแคลนยา หลังจากการแยกตัวจาก EU

*ตลาดอสังหาริมทรัพย์ซบเซา

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ความไม่แน่นอนจากปัจจัย Brexit จะทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายชะลอการตัดสินใจซื้อขายบ้าน

ข้อมูลจาก Nationwide ระบุว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของราคาบ้านในอังกฤษอยู่ในระดับต่ำกว่า 1% ในช่วงครึ่งปีแรกนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนในกรณี Brexit

.         ธนาคารกลางอังกฤษเตือนว่าภาวะ Brexit ที่ไม่มีการทำข้อตกลงจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยราคาบ้านจะดิ่งลงถึง 30% เมื่อเทียบกับระดับก่อน Brexit

*มาตรการช่วยเหลือจากแบงก์ชาติ-รัฐบาลอังกฤษ

กระทรวงการคลังอังกฤษได้กันงบประมาณ 2.1 พันล้านปอนด์ไว้สำหรับการใช้จ่ายในมาตรการฉุกเฉินเพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในกรณีที่เกิด Brexit ที่ไม่มีการทำข้อตกลง

นอกจากนี้ รัฐบาลอังกฤษระบุว่าจะมีการปรับลดอัตราภาษีเพื่อช่วยเหลือประชาชนหากเกิดกรณีดังกล่าว แต่การปรับลดอัตราภาษีก็จะส่งผลกระทบต่องบประมาณประเทศ ทำให้รัฐบาลมีข้อจำกัดในการใช้จ่ายงบประมาณ

อย่างไรก็ดี ผู้ที่สนับสนุน Brexit กล่าวว่า การเกิดภาวะ Brexit แบบไม่มีการทำข้อตกลง จะช่วยให้อังกฤษมีสถานะการคลังที่ดีขึ้น เนื่องจากจะทำให้รัฐบาลไม่ต้องจ่ายเงินสมทบ EU จำนวนมากในแต่ละปี

ทางด้าน BoE ระบุว่า ทางธนาคารกลางจะทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ย หากเกิด Brexit แบบไม่มีการทำข้อตกลง เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ BoE ก็ได้เตือนถึงผลกระทบจากการทรุดตัวของปอนด์ ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้น

*จับตาทั่วโลกรับมือผลกระทบ Brexit ขณะนับถอยหลังอีกเพียง 2 เดือน

ขณะนี้เหลือเวลาอีกเพียงราว 2 เดือนที่ระเบิดเวลาลูกใหม่จะปะทุขึ้น นอกเหนือจากปัจจัยลบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน, การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น และเศรษฐกิจทั่วโลก ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะรัฐบาลไทยจำเป็นที่จะต้องเร่งหามาตรการรองรับปัจจัย Brexit ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ เพื่อรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ท่ามกลางภาวะผันผวนของเศรษฐกิจโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ